‘กำแพงสูง’ ‘โซ่ตรวน’ และ ‘การจองจำ’ คือแนวคิดการควบคุมที่ราชทัณฑ์ไทยใช้กับผู้กระทำผิดเพื่อปรับพฤติกรรมให้เข็ดหลาบไม่กระทำผิดซ้ำและกลับเข้าไปใช้ชีวิตในสังคมปกติได้
อย่างไรก็ตามจากสถิติพบอัตราการทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังมีสูงถึงร้อยละ 20 ทำให้คุกทั่วประเทศเริ่มล้นและแออัด จากผู้ต้องขังที่ได้รับโทษกว่า 3 แสนคนในปัจจุบัน ทำให้มีคำถามว่า การจองจำช่วยปรับพฤติกรรมได้จริงหรือไม่
“คุกที่ไม่มีกำแพง” “ การจองจำที่ปราศโซ่ตรวน” รวมถึงการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คือ โอกาสมากกว่าในการปรับพฤติกรรมหรือไม่
แม้ในหลายประเทศ เช่น นอร์เวย์ ออสเตรเลีย เริ่มปรับวิธีคิดเปลี่ยนการลงโทษนักโทษ เป็นการปรับทัศนคติและให้โอกาส โดยการเปลี่ยนเรือนจำให้มีสภาพไม่แตกต่างจากบ้านที่สามารถใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ เพียงแต่ต้องจำกัดบริเวณ
แต่สำหรับในประเทศไทย แม้ สมศักดิ์ เกียรติดานุสรณ์ ผู้บัญชาการเรือนจำเรือนจำกลางเพชรบุรี จะยอมรับว่าการควบคุมหรือการใส่โซ่ตรวนไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของการปรับพฤติกรรมของผู้กระทำผิด แต่ยังจำเป็นที่ต้องมี คุกที่มีกำแพงแน่นหนากับนักโทษบางประเภท
“คุกมีหลายระดับ ประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีคุกที่มีความมั่นคงสูงเช่นคุกบางขวางสำหรับนักโทษบางประเภท เช่นเดียวกับการใส่โซ่ตรวนก็จำเป็นกับนักโทษบางประเภทเช่นกัน”
โอกาสก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่ต้องยอมรับเช่นกันว่าค่านิยมของสังคมไทยยังให้โอกาสกับผู้ที่เคยรับโทษไม่มากนัก ซึ่งในเรื่องนี้ สมศักดิ์ บอกว่า ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ขาด โอกาสเมื่อพ้นโทษออกไปแล้วสังคมให้โอกาสน้อยจนต้องทำผิดซ้ำและกลับมารับโทษใหม่
“ทราบมั้ยครับว่า ผมเคยทำหนังสือไปถึงบริษัทเอกชนหลายแห่งเพื่อให้รับนักโทษที่ผ่านการคัดเลือกเป็นนักโทษชั้นดีหลังพ้นโทษไปทำงาน แต่ไม่มีแม้แต่บริษัทเดียวที่ตอบรับกลับมา คำตอบที่ผมได้คือ ขอบคุญ มีพนักงานเพียงพอแล้ว”
สังคมที่มีโอกาสน้อยนิดกับคนที่ทำผิดพลาด ทำให้กำแพงคุกสำหรับนักโทษบางคน ดูจะน่ากลัวน้อยกว่า การออกสู่สังคมภายนอก
นักโทษชาย เน็ต อายุ 24 ปี ซึ่งถูกศาลตัดสินใจจำคุก 13 ปี 4 เดือน ด้วยข้อหาค้าอาวุธสงคราม เหลือเวลาอีกเพียง 1 ปีก็จะพ้นโทษ เขา บอกว่ากลัวว่าเมื่อพ้นโทษออกไปแล้วสังคมจะไม่ยอมรับ แม้จะสัญญากับตัวเองว่า จะไม่ทำผิดซ้ำเพื่อรับโทษอีกก็ตาม
เช่นเดียวกับ นักโทษชาย น็อต อายุ 21 ปี ต้องโทษด้วยคดีจำหน่ายยาบ้าครอบครอง 40 เม็ด ศาลตัดสิจจำคุก 2 ปี6 เดือน จำคุกมาแล้ว 1 ปี 3 เดือน และในวันที่ 21 กันยายน 2561 จะพ้นโทษแล้วเช่นกัน
สิ่งที่เขากลัวคือเมื่อพ้นโทษจากเรือนจำแล้วต้องกลับเข้ามาอีกครั้ง เนื่องจากเพื่อนของเขาหลายคนเมื่อออกไปสู่โลกภายนอกแล้วยังอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบเดิมๆ ส่วนใหญ่กระทำผิดซ้ำและกลับมารับโทษใหม่
“ผมกลัว เพราะบางทีอารมณ์แต่ละช่วงไม่เหมือนกัน ถ้าเครียดหรือต้องการอะไรสักอย่าง อาจเลี้ยวไปทางนั้นได้อีก ถ้าเพื่อนชักนำ ผมไม่มั่นใจ เพราะถ้าสังคมไม่ยอมรับผมก็ไปทำอะไรไม่ได้เหมือนกัน แต่ถ้าสังคมให้โอกาสผมจะทำความดีต่อไปได้” นักโทษชายเน็ตบอก
เมื่อสังคมไทยยังไม่ให้โอกาสผู้ต้องขังที่พ้นโทษกลับไปมีชีวิตได้ปกติ เรือนจำจึงต้องสร้างโอกาสให้เขาพึ่งพาตัวเองและเห็นคุณค่าของตัวเองเพื่อสร้างอาชีพและลุกขึ้นมาแก้ไขความผิดพลาดจนสามารถใช้ชีวิตปกติร่วมกับสังคมได้
สมศักดิ์ บอกว่า แม้แนวคิดเรื่องการจองจำและการควบคุม จะเป็นแนวทางหลักของกรมราชทัณฑ์ แต่การให้โอกาส และการสร้างคุณค่าในตัวเองก็คืออีกความพยายามที่เป็นโจทย์ใหญ่และท้าทายเหมือนกัน
ที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์ มีนโยบายปรับเรือนจำเปิด หรือเรือนจำชั่วคราว ให้มีสภาพแวดล้อมน่าอยู่เพื่อให้โอกาสผู้ต้องขังปรับสภาพก่อนไปใช้ชีวิตปกติ
แม้ทั่วประเทศจะมีเรือนจำที่เป็นรีสอร์ทไม่มากนัก แต่เรือนจำชั่วคราวเขากลิ้ง ที่มีพื้นที่ขนาด 600 ไร่ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ถือเป็นอีกเรือนจำหนึ่งที่ยึดถือแนวทางดังกล่าว ด้วยการปรับเรือนนอนและอาคารต่างๆให้เป็นบ้านดิน สภาพแวดล้อมร่มรื่นสวยงามไม่ต่างจากรีสอร์ทที่มีไว้เพื่อพักผ่อน
เรือนจำเขากลิ้งมีผู้ต้องขังชายทั้งหมด 150 คน โดยทั้งหมดต้องผ่านการเรียนรู้ในทุกฐานต่างๆประกอบด้วย กิจกรรมปศุสัตว์ ที่เลี้ยงแพะ เลี้ยงแกะ เลี้ยงหมู เลี้ยงกบคอนโด เลี้ยงไก่ กิจกรรมด้านการเกษตกรรมปลูกผัก ปลอดสารพิษ ปลูกข้าว
ฐานด้านการบริการ ที่ฝึกวิชาชีพชงกาแฟ บริการล้างรถ แกะไม้ ฝึกงานบริการต้อนรับคณะที่เข้ามาดูงานภายในเรือนจำ
ส่วนฐานที่สำคัญและถือเป็นหัวใจของเรือนจำชั่วคราวเขากลิ้งคือ การสร้างบ้านดิน ที่ผู้ต้องขังจะต้องผ่านการเรียนรู้การทำบ้านดินทุกขั้นตอน จนสามารถนำไปประกอบอาชีพได้
ทั้งนี้ในแต่ละวันผู้ต้องขังจะจัดเวรเพื่อเรียนรู้ไปในฐานต่างๆจนกว่าจะครบ โดยแต่ละฐานจะมีเจ้าหน้าที่ประจำซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 7-8 คน
นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังปรับตัวเพื่อกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ โดยออกแบบให้การเยี่ยมของญาติไม่แตกต่างจากท่องเที่ยวรีสอร์ท พักผ่อน มีลานเพื่อปิกนิคนำอาหารมารับประทานร่วมกัน
ส่วนคู่สามีภรรยาที่ต้องการพักค้างคืน เรือนจำเปิดให้จองบ้านดินมาพักอาศัยร่วมกันได้วันละ2 คู่ โดยภายในบ้านดินจัดเตรียมทุกอย่างเหมือนอยู่บ้านตัวเองทั้งทีวี ตู้เย็น
“เรือนจำชั่วคราวเขากลิ้ง จ.เพชรบุรี ไม่กำแพง เรือนนอนผู้ต้องขังก็เป็น บ้านดิน ทำให้ผู้ต้องขังที่มาอยู่ที่นี้มีความสุข ไม่เคยมีนักโทษหนีการจับกุม แม้ว่าจะมีโอกาสสูงมากเพราะไม่มีรั้วเลย” สมศักดิ์ บอก
นอกจากไม่เคยเกิดเหตุนักโทษหนีการจับกุมแล้วเรือนจำชั่วคราวเขากลิ้ง จ.เพชรบุรี ยังมีอัตราการทำผิดซ้ำกลับมารับโทษใหม่ต่ำคือร้อยละ 4 ซึ่งถือเป็นค่าเฉลี่ยที่น้อยมาก
สำหรับคุณสมบัติ ผู้ต้องขังที่จะเข้ามาอยู่ในเรือนจำชั่วคราวเขากลิ้ง ธรรมนูญ นพคุณ หัวหน้าเรือนจำชั่วคราวเขากลิ้ง บอกว่า ต้องผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการเรือนจำอย่างเข้มงวด โดยต้องมีคุณสมบัติคือ 1. ต้องโทษครั้งแรก 2. เป็นนักโทษชั้นดีขึ้นไป 3.ติดคุกมาแล้ว1ใน 4 และ 4 เหลือเวลาจำคุกไม่ถึง 5 ปี
ธรรมนูญบอกว่า การดูแลเรือนจำเปิด เจ้าหน้าที่ต้องใช้ใจในการควบคุม โดยต้องเป็นเพื่อนที่ผู้ต้องขังสามารถปรึกษาหารือได้ตลอดเวลา เช่นเวลาผู้ต้องขังโดนภรรยาทิ้งต้องเข้าไปปลอบ
“ต้องใช้ใจในการดูแล เพราะว่าปัญหาของผู้ต้องขังมีมากมาย ในแต่ละวัน เช่นเวลาที่เขาเศร้าที่สุดต้องรู้ทันทีคือช่วงเวลาที่ภรรยาทิ้งต้องบอกให้ผู้ต้องขังคนอื่นๆช่วยกันสอดส่อง”
การที่เป็นเรือนจำเปิดไม่มีรั้ว ไม่มีกำแพง ทำให้การควบคุมคือการพูดคุยกันมากกว่าปกติ นอกจากนี้ในแต่ละวันจะต้องมีการเรียกรวมแถวเพื่อตรวจชื่อกันทุก2 ชั่วโมงเพื่อป้องกันการหลบหนี
เรือนจำเปิดสำหรับนักโทษชายอย่าง เน็ต คือโอกาสที่ทำให้พวกเขาได้รู้จักตัวเอง เพราะเขาได้ประจำฐานบริการจุดงานไม้ และเป็นวิทยากรแนะนำนักท่องเที่ยวที่เข้ามาชมเรือนจำ
" ได้ รู้จักงานไม้ ซึ่งตอนอยู่ข้างนอกไม่เคยเจอเลย ตอนนี้ แกะสลัก ฉะลุไม้ ปั้นดิน แรกๆไม่ชอบแต่พออยู่กับมันแล้วเพลินดี คิดว่าหลังจากพ้นโทษไปแล้วจะไปทำงานไม้ คงไม่กลับไปขายอาวุธอีก"
เช่นเดียวกับ นักโทษชาย น็อต ที่ประจำจุดบริการชงกาแฟขายให้กับผู้มาเยือน บอกว่า ชอบเรือนจำเปิดเพราะปลอดโปร่ง มีโอกาสได้พูดคุยกับคนภายนอก นอกจากนี้แม่ยังสามารถมาเยี่ยมได้ทุกสัปดาห์แล้วยังได้เรียนรู้วิธีการชงกาแฟ
เขาบอกว่า ถ้ามีต้นทุนตั้งตัวได้จะเอาความรู้ชงกาแฟไปเปิดร้านดู ลูกค้าที่มาชม ว่าฝีมือไปเปิดร้านได้เลย
แม้เรือนจำไทยยังคงยึดการลงโทษเป็นแนวทางหลัก แต่อย่างน้อยก็มีเรือนจำที่มีวัตถุประสงค์ที่มิใช่การลงโทษผู้กระทำผิด แต่ต้องการ “เปลี่ยน” พฤติกรรมและมุมมองพวกเขาให้สามารถกลับไปเป็นพลเมืองดีของสังคมได้