ไม่พบผลการค้นหา
การก่อตัวของเทคโนโลยีการเงิน หรือ ฟินเทค ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังเป็นความท้าทายของทั้งผู้ประกอบกิจการธนาคารแบบเดิมๆ รวมไปถึงธนาคารกลางของแต่ละประเทศ เพื่อจะก้าวให้ทันกับเทคโนโลยีและการรุกคืบของกิจการอี-คอมเมิร์ซที่เฟื่องฟู บทความจากฟินเทคนิวส์ สื่อในสิงคโปร์เล่าเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ

ดูเหมือนการพัฒนาใหม่ๆ ของเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ ฟินเทค ในเอเชีย แทบทั้งหมดพุ่งเป้าไปที่ 'ระบบชำระเงิน' ที่ไม่ซ้ำซ้อน ในช่วงเวลาเดียวกับที่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ หรือ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กำลังรุ่งเรือง

ตามรายงานจาก ฟินเทคนิวส์ ระบุไว้ว่า ในเวลานี้ กระแสเหล่านั้นดูเหมือนจะหวนกลับมาอีกครั้ง เพราะรัฐบาลในหลายประเทศให้ความสนใจกับแนวคิดสร้างระบบชำระเงินของภาครัฐ โดยยังไม่ต้องพูดถึงสถาบันการเงินที่กระโดดเข้าร่วมวงพัฒนานวัตกรรมการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากชาวเอเชียเกือบร้อยละ 75 ใช้สมาร์ทโฟน ซึ่งนำไปสู่การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์

ขณะที่ สถาบันและองค์กรทางการเงินก็ถูกดึงดูดเข้าสู่เทคโนโลยีนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บเงินขององค์กรและลดจำนวนแรงงานไปในตัว

ผู้ที่ก้าวเข้าสู่วงการนี้แรกๆ ที่ประสบความสำเร็จตอนนี้กำลังมีความสุขกับช่วงเวลาที่ดีในการเติบโตและขยายกิจการของพวกเขา

วีแชตเพย์-นักท่องเที่ยว-ท่องเที่ยว-จีน

หลายๆ ประเทศในเอเชียที่ยืนอยู่บนพื้นฐานการใช้ชีวิตด้วยเงินสดเป็นหลักเติบโตได้ดีในธุรกิจการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ วีแชทและอาลีเพย์ เติบโตขึ้นมาครอบครองจีนได้ เพราะประชาชนจำนวนมากไม่ได้อยู่ในระบบธนาคาร และยินดีจะบอกลาระบบเงินสดที่ชักช้าและโผเข้าสู่โอบกอดของสังคมไร้เงินสดอย่างเต็มตัว

ขณะที่ สิงคโปร์พยายามไล่กวดจีนให้ทัน ทั้งในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ หรือ OBOR และด้วยระบบนิเวศฟินเทคที่ใหญ่และแข็งแรงมากพอในสิงคโปร์

ส่วนบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส ประเทศไทย หรือ พีดับเบิลยูซี หนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชีที่ใหญ่ที่สุดในโลกยืนยันถึงการเติบโตของตลาดนี้ ซึ่งคล้ายกับตลาดหลายแห่งในเอเชีย ที่เน้นการพัฒนาการชำระเงินเป็นกุญแจสำคัญ โดยการชำระเงินผ่านช่องทางสังคมออนไลน์ เทคโนโลยีเอ็นเอฟซี บลูทูธพลังงานต่ำ และบล็อกเชน ซึ่งทำให้ตอนนี้มีการชำระเงินหลายช่องทางให้ผู้บริโภคเลือกใช้ แต่ก็มีความท้าทายในความไม่แน่นอนของตลาด

ผู้เล่นที่หน้าจับตามอง

หากพูดถึงธุรกิจการชำระเงินในเอเชีย จะไม่พูดถึง 'แกร็บ' คงไม่ได้ เพราะเป็นการเดินตามลอยจีนที่อยากจะสร้างสุดยอดแอปพลิเคชั่นที่รวบรวมการให้บริการทั้งการส่งอาหาร การซื้อสินค้าออนไลน์ การปั่นจักรยานร่วมกัน และอื่นๆ อีกมากมายเพื่อผลักดันการใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์อย่าง 'แกร็บเพย์'

รวมทั้ง 'โกเจ็ก' ธุรกิจสตาร์ทอัพเกี่ยวกับการรับส่งผู้โดยสารที่ระดุมทุนในระดับ 'ยูนิคอน' หรือกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้ามาจับธุรกิจการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน ด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ 'โกเจ็ก' เข้าซื้อบริษัทสตาร์ทอัพเกี่ยวกับการเงิน 3 แห่ง ได้แก่ บริษัทคาร์ทูกู หรือ Kartuku ซึ่งดูแลการชำระเงินออฟไลน์, บริษัทมิดทรานส์ ที่มีชื่อเสียงด้านการชำระเงินออนไลน์ และ บริษัทมาปาน หรือ Mapan เครือข่ายการกู้เงิน-ฝากเงิน อีกทั้ง 'โกเจ็ก' ยังเป็นเจ้าของและดำเนินธุรกิจกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์อย่าง 'โกเพย์' ด้วย

ขณะที่ ยักษ์ใหญ่จากจีนก็ให้ความสนใจในการขยายขอบเขตการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ แม้ยังเป็นการมองแค่เพียงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น ด้วยจัดตั้งบริษัทแอนท์ ไฟแนนซ์เชียล ด้วยทุนกว่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาห์สหรัฐ เพื่อขยายธุรกิจไปทั่วโลก แต่แผนการตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมุ่งเน้นให้บริการนักท่องเที่ยวชาวจีน

ความก้าวหน้าในรัฐบาลต่างๆ

สิงคโปร์และมาเลเซียคือสองประเทศที่ยืนอยู่บนระยะที่ต่างกันในวงโคจรที่คล้ายๆ กัน และต่างกำลังเผชิญกับความยากลำบากเพื่อทำให้ผู้คนเห็นพ้องในเรื่องการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบกับการรูดบัตรเครดิต เพราะจำนวนผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าของธนาคารนั้นมีจำนวนมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน

โดยชาวสิงคโปร์นิยมใช้จ่ายผ่านระบบเน็ท (Nets system) ซึ่งเพิ่งเปิดระบบใหม่ในการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด ส่วนช่องทางอื่นๆ ที่ชาวสิงคโปร์เลือกใช้ก็จะเป็น เพย์นาว (PayNow) และ แดช (Dash)

ฝั่งอินโดนีเซีย ระบบชำระเงินเพิ่งจะเริ่มไต่ระดับสูงขึ้น แต่ก็มีการพัฒนาต่างๆ ที่น่าสนใจอย่างการเติบโตของตัวเลขกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่รัฐบาลใช้คำว่าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ 'อินสตาเพย์' ( InstaPay) ที่อนุญาตให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ เอสเอ็มอี สามารถรับการจ่ายเงินจาก WhatsApp และ Line ได้ แทนที่จะใช้บัตรเครดิตที่เป็นการจ่ายเงินที่ยุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายสูงผ่านบัตรเครดิต

อินสตาเพย์มีให้บริการที่ฟิลิปปินส์เช่นกัน แต่บริการนี้ถูกดำเนินการภายใต้ธนาคารกลางซึ่งเปิดตัวในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โดยเป็นการให้บริการโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่มุ่งเป้าไปที่การทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างธนาคารให้สะดวกและง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ในปี 2560 ตัวเลขของธนาคารที่เข้าร่วมแพลตฟอร์มนี้ยังมีจำกัดอยู่

ในฟิลิปปินส์ บริษัททางการเงินยังต้องต่อสู้หาที่ยืนให้ตัวเองอยู่ แต่ก็มีบางบริษัทที่มีศักยภาพสูง เช่น จีแคช เพย์มายา และวีซ่าซึ่งเป็นที่รู้จักดีอยู่แล้ว

ส่วนเวียดนาม กำลังสัมผัสถึงคลื่นอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งมีการรายงานบ่อยครั้งว่านำไปสู่การลักทรัพย์ของคนจัดส่งสินค้า ส่งผลให้ผู้บริโภคเลือกที่ใช้การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบที่ปลอดภัยมากกว่า โดยแอปพลิเคชันแชทอย่าง 'ซาโล' ซึ่งก็คือ 'ซาโลเพย์' เป็นอีกช่องทางที่ผู้บริโภคเลือกใช้

ขณะที่ ผู้เล่นรุ่นบุกเบิกอย่าง 'โมโม' ก็สนใจที่จะขยายการให้บริการเช่นกัน แม้แต่บริษัทน้ำมันของรัฐบาลเวียดนามก็เข้าร่วมกระแสนี้ด้วยการเปิดบริการการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

อาเซียน.jpg

รัฐบาลแต่ละประเทศกำลังทำอะไรอยู่

รัฐบาลหลายประเทศทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเล็งเป้าที่จะเปลี่ยนถ่ายให้ประเทศเดินไปสู่การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์เต็มตัว ซึ่งก็มาจากการที่ธุรกรรมทางการเงินแบบดิจิตอลเป็นเรื่องที่ง่ายต่อการตรวจสอบและควบคุม ยังไม่ต้องพูดถึงว่ามันสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขนาดไหน

ความน่าสนใจนี้นำไปสู่การเปิดระบบการชำระเงินที่เป็นของภาครัฐมากขึ้น เช่น อินสตาเพย์ ของอินโดนีเซีย

ส่วนธนาคารกลางสิงคโปร์ (The Monetary Authority of Singapore) ล่าสุดออกเปิดตัวโครงข่ายคิวอาร์โคด หรือ เอสจีคิวอาร์ ซึ่งสามารถใช้ได้กับผู้ให้บริการด้านการชำระเงินถึง 27 ราย ด้วยหวังว่าจะสามารถรวบรวมเหล่าผู้ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศได้ทั้งหมด

พร้อมกันนี้ ยังเปิดช่องทางการชำระเงินระหว่างธนาคารซึ่งจะอนุญาตให้ทั้งสถาบันทางการเงินและองค์กรเกี่ยวกับการเงินสามารถเข้าถึงระบบธุรกรรมที่รวดเร็วและปลอดภัยของประเทศ หรือ ระบบฟาสต์ ได้ง่ายขึ้น เพื่อให้เกิดการเติบโตในระบบนิเวศแบบไร้เงินสด

ส่วนมาเลเซียมองถึงการใช้ คิวอาร์โค้ด ผ่านเครือข่ายการถ่ายโอนเครดิตที่ร่วมมือกัน หรือ ไอซีทีเอฟ โดยระบบนี้เป็นการเอาแนวคิดของสิงคโปร์ที่กล่าวมาแล้ว เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการแข่งขันทางธุรกิจที่สมบูรณ์ ขณะเดียวกันยังสร้างรหัสคิวอาร์โคดที่ใช้ได้ร่วมกัน

อีกหนึ่งในจุดที่น่าสนใจของแผนนี้คือฐานการชำระเงินแบบเวลาจริง ซึ่งมุ่งเป้าที่จะเชื่อมโยงไปยังผู้ใช้งานรายบุคคล เช่น เบอร์โทรศัพท์หรือเลขประจำตัวประชาชนเพื่อการจ่ายเงินและใช้กับระบบคิวอาร์โคดที่ได้กล่าวมา

ความร่วมมือกันระหว่างประเทศ

รัฐบาลอินโดนีเซียมีนโยบายสนับสนุนให้ประชากรหันมาสนับสนุนสังคมไร้เงินสดและแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลพูดจริงทำจริงด้วยการพัฒนาช่องทางการชำระเงินแห่งชาติ หรือ เอ็นพีจี

เมื่อเดือนธันวาคมปี 2560 เป็นระยะแรกของโครงการนั้น รัฐบาลอินโดนีเซียมุ่งเน้นไปที่โครงสร้างพื้นฐานโดยเป็นการร่วมมือระหว่างธนาคารต่างๆ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในธุรกรรมทางการเงินระหว่างธนาคารและลดค่าใช้จ่ายของผู้ใช้ทางด่วน ขณะที่เดือนมีนาคม 2561 ซึ่งอยู่ในช่วงกลางของระยะที่สอง ธนาคารกลางออกมากล่าวว่าเป็นช่วงที่มุ่งเน้นไปยังการลดค่าใช้จ่ายในธุรกรรมทางการเงินต่างธนาคารสำหรับผู้ให้กู้ด้วยการทำให้ระบบลื่นไหลได้มากขึ้น

ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ได้ริเริ่มโครงการการถ่ายโอนเงินทุนระหว่างประเทศ ซึ่งร่วมมือกับกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อหวังช่วยให้คนงานต่างด้าวสามารถทำธุรกรรมทางการเงินโดยมีค่าใช้จ่ายน้อยลง ขณะเดียวกัน กัมพูชากับไทยร่วมมือกันผลักดันให้เกิดระบบการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด ในปี 2562

WT_คิวอาร์โค้ด1.jpg

การเชื่อมโยงของสถาบันทางการเงิน

ความพยายามอย่างมากจากเหล่าธนาคารกลางและรัฐบาลส่งผลกระทบในแง่บวกแก่เหล่าสถาบันการเงิน โดยสถาบันการเงินที่ค่อนข้างดั้งเดิม ก็จะมีวิธีเลือกใช้ในการเดินให้ทันกับโลก เช่น กรณีประเทศไทยและสิงคโปร์เปิดให้มีการทำธุรกรรมทางการเงินเรียลไทม์ ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับสถาบันการเงินเหล่านี้ในการแข่งขันกันเองมากกว่าการใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ที่ไม่ได้จัดตั้งเป็นบริษัทอย่างเป็นรูปธรรมมากนัก ขณะเดียวกัน รัฐบาลหลายๆ ประเทศก็มุ่งเป้าที่จะลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมทางการเงินลง เพื่อหวังช่วยสถาบันทางการเงินให้สามารถเดินไปข้างหน้าต่อได้อย่างในมาเลเซีย

โดยเหตุผลหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลหลายๆ แห่งผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงกันอย่างหนัก ก็ด้วยเหตุผลหนึ่งที่ขัดขวางความฝันสร้างสังคมไร้เงินสดคือ ค่าธรรมเนียมที่สูงและระบบที่ล่าช้า และโครงสร้างพื้นฐานแบบเดิมเป็นส่วนที่ขัดขวางการเกิดขึ้นของฟินเทคและการนำเทคโนโลยีมาใช้

อย่างไรก็ตาม บทความดังกล่าวชี้ว่า ปัญหาด้านความเชื่อมั่นก็มียังอยู่ โดยประเทศที่เคยชินกับการใช้เงินสดดูจะไม่พยายามปรับระบบมาใช้การจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ด้วยเกรงว่าจะสูญเสียเงินจากการโจรกรรมข้อมูลและการฉ้อโกง ไม่ต้องพูดถึงว่ายังมีคนที่ไม่แม้แต่จะเข้าสู่ระบบธนาคารเพื่อเลี่ยงไม่ให้เกิดการตรวจสอบทรัพย์สิน หรือบางรายที่มีรายได้ไม่เพียงพอที่จะเห็นความสำคัญของการชำระเงินผ่านทางโทรศัพท์

โดยเฉพาะประเทศที่ยืนอยู่บนการใช้บัตรเครดิตเป็นหลัก ก็ไม่ได้มองว่าการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์จะให้ประโยชน์ได้มากกว่าเมื่อเทียบกับผลประโยชน์จากการได้เงินคืนหรือส่วนลด ในกรณีนี้ ผู้ให้บริการการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้จัดมอบรางวัลหรือส่วนลดสำหรับผู้ที่ใช้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเป็นการเชิญชวนให้มีการใช้บริการมากขึ้น

โทรศัพท์-ชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์-อีเพย์เมนต์-e wallet

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาหลายอย่างเกี่ยวกับระบบกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e wallet ซึ่งกระทบหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ ฟิลิปปินส์ ถึงแม้ว่าเราจะมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงแต่การมีตัวเลือกที่มากเกินไปก็เป็นการขัดขวางไม่ให้ผู้บริโภคหันมาใช้บริการได้เช่นกัน คล้ายคลึงกับกรณีของจีนที่สามารถมองเห็นถึงการควบรวมกันในสนามการชำระเงินต่างๆ มากมาย ดังนั้นท้ายที่สุดแล้วก็จะเหลือแค่ผู้เล่นใหญ่ๆสองถึงสามคนในแต่ละภูมิภาค แต่ก็ต้องรอจนถึงตอนนั้นกว่าที่ประเทศจะได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงจากการแข่งขันอย่างเข้มข้นของนวัตกรรมการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์

เส้นทางการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นกำลังเดินอยู่บนเส้นทางที่น่าตื่นเต้นสู่การไปสู่สังคมไร้เงินสดและการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ และนี่เป็นเรื่องน่าสนใจที่จะสังเกตการณ์ว่าระบบนิเวศนี้จะเคลื่อนตัวไปในทิศทางใด เป็นไปได้ไหมว่าจะมีการร่วมมือระหว่างประเทศมากขึ้นในภูมิภาคนี้ เช่น ประเทศไทยและกัมพูชา

ตอนนี้หลายฝ่ายกำลังใจจดจ่อกับส่ิงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรด้อยโอกาสสูง แต่ก็เป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรใช้งานสมาร์ทโฟนสูง และมีจำนวนประชากรสูงด้วย เช่น ในปี 2559 อินโดนีเซียมีประชากร 261.1 ล้านคน และฟิลิปปินส์มีประชากร 103.3 ล้านคน เป็นต้น