นางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมาออกมาพูดถึงกรณีที่ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์สถูกจำคุกเป็นครั้งแรก ระหว่างการเดินทางไปร่วมการประชุม World Economic Forum ที่เวียดนาม โดยเธอระบุว่า กรณีนี้ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นเสรีภาพในการแสดงออกแต่อย่างใด
นางซูจีระบุว่า การดำเนินคดีกับผู้สื่อข่าวทั้งสองคนเป็นไปตามหลักนิติธรรม พร้อมระบุว่า คนที่วิจารณ์เรื่องนี้ไม่ได้อ่านคำตัดสินจริงๆ ว่า "พวกเขาไม่ได้ถูกจำคุกเพราะเป็นผู้สื่อข่าว พวกเขาถูกจำคุก เพราะศาลตัดสินว่าพวกเขาทำผิดรัฐบัญญัติว่าด้วยเรื่องข้อมูลลับของทางการ" นางซูจียังกล่าวว่า ทั้งคู่ก็ยังมีสิทธิทุกประการในการอุทธรณ์คดีและพิสูจน์ว่าทำไมคำตัดสินของศาลชั้นต้นจึงผิด
นอกจากนี้ นางซูจียอมรับว่า รัฐบาลเมียนมาของเธอมีทางรับมือกับวิกฤตในรัฐยะไข่ด้วยความเข้าใจได้ดีกว่านี้ แต่รัฐบาลเชื่อว่าการจะมีความมั่นคงและเสถียรภาพได้นั้น รัฐบาลต้องให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย ไม่สามารถเลือกได้ว่าใครควรได้รับการปกป้องด้วยหลักนิติธรรม
ด้านนายฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า นางซูจีพูดผิดทั้งหมด เธอไม่เข้าใจว่า "นิติธรรม" ที่แท้จริงหมายถึง การเคารพหลักฐานที่นำไปแสดงในชั้นศาล หลักปฏิบัติต่างๆ เกิดจากการตีความและบังคับใช้กฎหมายอย่างเหมาะสม และระบบยุติธรรมที่เป็นอิสระจากรัฐบาลหรือฝ่ายความมั่นคง เมื่อวัดด้วยเกณฑ์ทั้งหมดนี้ การดำเนินคดีของผู้สื่อข่าวรอยเตอร์สจึงถือว่าสอบตกเกณฑ์
พวกเขาไม่ได้ถูกจำคุกเพราะเป็นผู้สื่อข่าว พวกเขาถูกจำคุก เพราะศาลตัดสินว่าพวกเขาทำผิดรัฐบัญญัติว่าด้วยเรื่องข้อมูลลับของทางการ
เสรีภาพสื่อในการทำข่าวการปราบชาวโรฮิงญา
นายวาโลนและนายจอซออู ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์สถูกศาลเมียนมาตัดสินจำคุก 7 ปี ในข้อหาละเมิดข้อมูลลับของรัฐ ระหว่างที่พวกเขากำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับการปราบปรามชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ โดยผู้สื่อข่าวทั้งสองคนระบุว่า เจ้าหน้าที่จัดฉากด้วยการนัดพวกเขาไปรับเอกสารเกี่ยวกับการสังหารหมู่ที่หมู่บ้านอินดิน และเมื่อเดินออกมาจากที่นัดพบ ตำรวจก็จับกุมพวกเขาทันที
นับตั้งแต่เดือนส.ค.ปี 2017 ที่กองกำลังกู้ชาติโรฮิงญาอาระกันโจมตีตำรวจ และจุดชนวนให้กองทัพเมียนมาปฏิบัติการปราบปรามชาวโรฮิงญาอย่างไม่เลือกหน้า ก็มีชาวโรฮิงญาลี้ภัยออกจากรัฐยะไข่ของเมียนมาไปอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยค็อกซ์บาซาร์ของบังกลาเทศมากกว่า 700,000 คน จนล่าสุด ทีมค้นหาความจริงของสหประชาชาติได้เขียนรายงานเรียกร้องให้มีการดำเนินคดีนายพลเมียนมา 6 คน รวมถึงพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่ายน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา ในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมสงคราม
จาก 'ไอคอนด้านสันติภาพ' สู่ 'ผู้นำที่เพิกเฉยต่อความรุนแรง'
ช่วงที่ผ่านมา นางซูจีถูกนานาชาติวิพากษ์อย่างหนักว่าเพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ รวมถึงการดำเนินคดีผู้สื่อข่าวรอยเตอร์สทั้งสองคนด้วย โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) เพิ่งกล่าวหาว่า เมียนมามุ่งโจมตีผู้ส่ือข่าว
นางซูจี เคยถูกรัฐบาลทหารเมียนมากักบริเวณภายในบ้านยาวนานเกือบ 15 ปี โดยระหว่างนั้น เธอก็ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพจากการยืดหยัดต่อสู้เพื่อหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน แต่เมื่อเธอได้รับการปล่อยตัว และพรรคเอ็นแอลดีของเธอชนะการเลือกตั้งในปี 2016 เธอกลับถูกนานาชาติประณามที่ไม่แสดงความพยายามในการยุติความรุนแรงภายในประเทศ อีกทั้งยังออกมาแก้ต่างให้กับกองทัพเมียนมาอีกด้วย จนทำให้เธอถูกริบรางวัลคืนหลายรางวัลแล้ว
อย่างไรก็ตาม ความนิยมของนางซูจีภายในประเทศก็ยังสูงมาก เนื่องจากชาวเมียนมาส่วนใหญ่มองว่า ชาวโรฮิงญาไม่ใช่พลเมืองเมียนมา อีกทั้งยังไม่เรียกคนเหล่านี้ว่า "โรฮิงญา" แต่จะเรียกว่า "เบงกาลี" เพราะพวกเขามองว่าชาวโรฮิงญาเป็นผู้ลี้ภัยชาวบังกลาเทศ
ที่มา : BBC, The Guardian