ไม่พบผลการค้นหา
ปฏิกิริยาโต้กลับหลังศาลฎีกามีคำสั่งไม่รื้อฟื้นคดีของนางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร หรือ “ครูจอมทรัพย์” ในคดีขับรถชนคนตาย เมื่อปี 2548 จากผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะตำรวจ เป็นไปอย่าหนักหน่วงและรุนแรง จนว่ากันว่าอาจทำให้ครูวัย 55 ปี ต้องกลับไปติดคุกรอบสอง

สองสัปดาห์หลังคดีสิ้นสุด ตำรวจได้ดำเนินคดีกับครูจอมทรัพย์กับพวก กรณีจ้างวานนายสับ วาปี ให้มารับผิดแทนด้วยเงินสด 400,000 บาท ใน 2 ข้อกล่าวหา คือ 1.เบิกความเท็จ และ 2.ซ่องโจร อย่างแข็งขัน และมีการเรียกผู้เปิดรับบริจาคเงินช่วยครูจอมทรัพย์มาสอบสวนเพื่อหาความช่วยโยงว่าร่วมกระทำผิดหรือไม่ โดยคดีนี้มีอัตราโทษสูงสุดคือจำคุก 7 ปี และปรับ 140,000 บาท

นอกจากนี้ ยังเรียก “พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ” รองปลัดกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) รวมถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะผู้ช่วยเหลือครูจอมทรัพย์ในการรื้อฟื้นคดีมาสอบสวน

เรียกได้ว่า ใครเกี่ยวข้องกับความพยายามคืนความเป็นธรรมให้กับครูจอมทรัพย์ ถูกเรียกสอบกราวรูดหมด

คำให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รักษาราชการแทน ผบ.ตร. ที่ระบุว่า “หลังศาลยกคำร้องรื้อฟื้นคดีครูจอมทรัพย์ ยธ. ยังไม่เคยแสดงท่าทีขอโทษกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และพนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าวเลย ทั้งที่กระแสสังคมโจมตีอย่างรุนแรงในช่วงที่ความจริงทั้งหมดยังไม่ปรากฏ” แสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจของ ยธ. ที่ออกมาแสดงบทบาทในกรณีนี้ ซึ่งช่วงแรกๆ หลายคนเชื่อว่าอาจเป็น “แพะ”

กรณีครูจอมทรัพย์ยังต้องติดตามต่อไปว่าท้ายที่สุดจะลงเอยอย่างไร แต่สิ่งที่เรื่องนี้ทิ้งไว้ก็คือผลกระทบต่อ “ผู้ที่คิดว่าตัวเองเป็นแพะ” และอยากจะรื้อฟื้นคดี

หลายคนอาจไม่ทราบว่า นับแต่ พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ เริ่มใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2526 สมัยที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ผ่านมากว่า 34 ปี เปลี่ยนนายกฯมาแล้ว 13 คน แต่ยังไม่เคยมีใครสามารถรื้อฟื้นคดีจนพลิกคำพิพากษากลับ ให้ตัวเองพ้นผิดได้เลย “แม้แต่กรณีเดียว”

จากอุปสรรคสำคัญเรื่องหลักเกณฑ์ในการรื้อฟื้นคดี ที่ 1.หากไม่พบว่าพยานหลักฐานเดิมเป็นเท็จ ก็ 2.ต้องมีพยานหลักฐานที่ใหม่จริงๆ

ที่ผ่านมา มีหลายสิบคดีที่พยายามใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.นี้ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่ด้วยเหตุผลว่าพยานหลักฐานที่ยื่นมารื้อฟื้นคดี ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า “ไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่” กระทั่งคดีครูจอมทรัพย์ ศาลก็นำเหตุนี้มายกคำร้องเช่นกัน

ปีที่แล้ว เคยมีคดีหนึ่งที่หลายคนคาดว่าน่าจะเป็นการเปิดศักราชใหม่การรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ คือกรณีของ “นายพัสกร สิงคิ” ชายพิการหูหนวกเป็นใบ้ ที่ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้หยิบคดีฆาตกรรมที่เขาถูกศาลฎีกาตัดสินให้จำคุก 20 ปี มาพิจารณาใหม่ หลังจากติดคุกไปได้ 5 ปีเศษ พร้อมกับให้ประกันตัวระหว่างการออกมาต่อสู้คดีเดิม ในยกที่สอง

ซึ่งแม้ว่า ในเวลาต่อมาศาลฎีกาจะยกคำร้อง แต่ก็ให้ความหวังของผู้ที่คิดว่าตัวเองเป็นแพะ เนื่องจากทั้งคดีของนายพัสกร และคดีครูจอมทรัพย์ มีจุดร่วมเดียวกัน นั่นคือมีหน่วยงานของรัฐอย่าง ยธ. และดีเอสไอ ยื่นมือเข้ามาเป็น “พี่เลี้ยง”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า แพะเป็นปัญหาในกระบวนการยุติธรรมของทั้งไทยและทั่วโลกมาช้านาน เคยมีงานวิจัยมากมายที่ระบุถึงสาเหตุของปัญหา ซึ่งไม่ใช่แค่ “ความผิดพลาดของตัวบุคคล” เท่านั้น ไม่ว่าจะความประมาทเลินเล่อ อคติ มีเจตนากลั่นแกล้ง ฯลฯ แต่ต่อให้ผู้เกี่ยวข้องทำงานอย่างเต็มที่ ด้วยความเสียสละ และเป็นธรรม ก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดแพะขึ้นไป เพราะนี่คือ “ช่องโหว่ของระบบ” ซึ่งหลายๆ ชาติก็พยายามหาวิธีแก้กันอยู่

พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาฯ ก็เป็นหนึ่งในวิธีพยายามอุดช่องโหว่ดังกล่าว แต่อย่างที่ว่ามาข้างต้นว่า ถึงปัจจุบันยังไม่ประสบความสำเร็จ

ไม่ว่าใครจะมองการที่ ยธ. และดีเอสไอ เข้ามาช่วยเหลือในกรณีของผู้อ้างตัวว่าเป็นแพะต่างๆ อย่างไร แต่การโต้กลับของตำรวจครั้งนี้ ก็ไปดิสเครดิตการเข้าให้ความช่วยเหลือเพื่ออำนวยความยุติธรรมของคนเหล่านั้น และทำให้ผู้อยากให้พี่เลี้ยงกลุ่มนี้เข้ามาช่วย ต้องคิดหนักขึ้น

แน่นอนว่า ยธ. และดีเอสไอเองก็ต้องปรับปรุงการทำงาน เช็คข้อมูลให้ละเอียดรอบคอบก่อนที่จะช่วยเหลือใคร เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยกรณีครูจอมทรัพย์

ปฏิกิริยาจากตำรวจรอบนี้ เท่าที่สังเกตดูช่างรุนแรง คล้ายกับต้องการกอบกู้อะไรบางอย่างคืน แต่ผลของมันก็คือ การทำให้กระบวนการเปลี่ยน “แกะ” ให้กลายเป็น “แพะ” ที่ปัจจุบันยากอยู่แล้ว ต้องยากเย็นขึ้นไปอีก

 ทั้งๆ ที่จริง เรื่องแพะเป็นปัญหาของทั้งระบบ ไม่ใช่ปัญหาของตำรวจเพียงหน่วยงานเดียว

พงศ์ บัญชา
0Article
0Video
0Blog