นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า ธปท. ได้ออกใช้ธนบัตร แบบใหม่ แบบ 17 จำนวน 2 ชนิดราคา ได้แก่ ราคา 500 บาท และ 1000 บาท เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในวันที่ 28 ก.ค. นี้ ตามที่ได้รับพระราชทานพระราชนุญาตจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ให้จัดพิมพ์และออกใช้ธนบัตรแบบใหม่ เพื่อใช้เป็นธนบัตรหมุนเวียนทั่วไป
ด้านหน้า ของทั้ง 2 ชนิดราคา เชิญพระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศของกองทัพอากาศ เป็นภาพประธาน
ด้านหลัง ของธนบัตรแต่ละชนิดราคา เชิญพระบรมสาทิสลักษณ์พระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ เรียงตามลำดับรัชกาล พร้อมภาพประกอบที่เป็นภาพหนึ่งในพระราชกรณียกิจสาคัญของแต่ละพระองค์
นอกจากนี้ ธนบัตรทั้ง 2 ชนิดราคาได้นำเทคโนโลยีต่อต้านการปลอมแปลงแบบพิเศษมาใช้ ได้แก่ ลายประดิษฐ์ พิมพ์ด้วยเทคโนโลยีหมึกพิมพ์แม่เหล็กสามมิติเปลี่ยนสีได้ ทำให้เกิดลวดลายสามมิติเคลื่อนไหวเมื่อพลิกเปลี่ยนมุมมอง และเปลี่ยนสลับจากสีทองเป็นสีเขียวได้ ส่วนแถบสีที่ฝังในเนื้อกระดาษจะมีบางส่วนปรากฏให้เห็นเป็นระยะ เมื่อเปลี่ยนมุมมองจะเปลี่ยนสี และเห็นรูปเคลื่อนไหว ด้านลายประดิษฐ์ ที่เรียงกันในแนวตั้ง ใกล้กับบริเวณลายน้ำ พิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษสีเหลือบเหลือง ส่วนลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงอื่น ๆ ของธนบัตรยังคงไว้เช่นเดิม
อีกทั้ง ธปท. ยังได้ปรับปรุงข้อความเตือนระบุโทษการปลอมหรือแปลงธนบัตร ที่ด้านหลังธนบัตรให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2560 โดยด้านหลังของธนบัตรทุกชนิดราคาจะมีข้อความว่า "การปลอมหรือแปลงธนบัตรเป็นความผิด ต้องระวางโทษตามประมวลกฎหมายอาญา" เพื่อให้สามารถรองรับการแก้ไขกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเบิกถอนธนบัตรชนิดราคา 500 บาท และ 1000 บาท แบบใหม่ ได้ตามช่องทางปกติ ผ่านธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง รวมถึงธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และธนบัตรทุกแบบที่ออกใช้ก่อนหน้านี้ยังสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย รวมทั้งก่อนหน้านี้ ธปท. ได้นำออกใช้ธนบัตรแบบ 17 แบบใหม่ ซึ่งเป็นธนบัตรหมุนเวียน ในชนิดราคา 20 บาท, 50 บาท และ 100 บาท มาแล้วตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2561 ซึ่งจะทำให้ในวันที่ 28 ก.ค.นี้ จะมีธนบัตรแบบ 17 เพื่อใช้เป็นธนบัตรหมุนเวียนทั่วไป ครบทั้ง 5 ชนิดราคา (20 บาท, 50 บาท , 100 บาท, 500 บาท และ 1000 บาท)
หมายเหตุ : ภาพปกจากธนาคารแห่งประเทศไทย
ข่าวเกี่ยวข้อง :