‘วิชัย ศรีวัฒนประภา’ เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะนักธุรกิจเจ้าของอาณาจักรธุรกิจแสนล้านในกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ กิจการสินค้าปลอดภาษีและการท่องเที่ยว แต่สิ่งที่ทำให้วิชัย เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกคือในฐานะการเป็นเจ้าของทีมเลสเตอร์ ซิตี้ ในศึกพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ที่เคยประสบความสำเร็จถึงขั้นคว้าแชมป์สูงสุดบนเกาะอังกฤษ แบบเหนือความคาดหมาย
ข่าวการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกจึงเป็นข่าวใหญ่ระดับสากล ตลอด 8 ปี ของวิชัยในฐานะเจ้าของทีมเลสเตอร์ซิตี้ นั้นสร้างความเรื่องราวมากมายให้กับสโมสรเลสเตอร์ และวงการฟุตบอลอังกฤษหลายต่อหลายสิ่ง
1. แชมป์พรีเมียร์ลีกสุดพลิกล็อก
เรื่องราวที่ขายได้เสมอในภาพยนตร์หรือนิยาย คือเรื่องแบบ ‘Underdog’ ทีมม้ามืดที่ดูห่างไกลกับความสำเร็จ ฝ่าฟันอุปสรรคจนสุดท้ายได้แชมป์ในตอนจบ ถ้าฮอลลีวูดจะสร้างภาพยนตร์จากการคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกสักเรื่อง การคว้าแชมป์ในปี 2015-2016 ของเลสเตอร์คงเหมาะที่สุด
แทง 1 จ่าย 5,000 เป็นอัตราแต้มต่อที่บ่อนการพนันถูกหมายในอังกฤษ กำหนดให้กับผู้ที่พนันว่าเลสเตอร์จะได้แชมป์ในฤดูกาลนั้น ก่อนเริ่มฤดูกาลทีมของเสี่ยวิชัยถูกมองว่าเป็นทีมเต็งท้ายๆ ของลีก แทบจะไม่มีความเป็นไปได้ที่จะคว้าแชมป์ มีโอกาสไปทางลุ้นหนีตกชั้นเสียมากกว่า เพราะฤดูกาลก่อนหน้านั้น สโมสรเพิ่งต้องหนีจากการตกชั้นแบบเกือบเอาตัวไม่รอด จบอันดับ 14 ของตาราง การเป็นแชมป์ในฤดูกาลต่อมาของเลสเตอร์จึงเป็นที่ไต่อันดับมาเป็นแชมป์ได้ไกลที่สุดจาก 14 มาสู่อันดับ 1
2.ชุมชน เบียร์ และโดนัท
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เจ้าของทีมชาวต่างชาติจะเอาชนะใจแฟนบอลในอังกฤษได้ ไม่ใช่แค่ความสำเร็จที่มัดใจชาวเลสเตอร์ เพราะหลังจากได้แชมป์ในครั้งประวัติศาสตร์ ทีมก็ต้องกลับมาวนเวียนเป็นทีมกลางๆ ท้ายๆ ตาราง แต่สิ่งทำให้แฟนบอลในเมืองเลสเตอร์ให้ใจเศรษฐีเจ้าของทีมจากประเทศไทย ตั้งแต่เข้ามาซื้อกิจการในปี 2010 คือการทำงานกับชุมชนโดยบริจาคเงินเป็นสาธารณะกุศลให้กับหน่วยงานต่างๆ ในเมือง ไม่ว่าจะทั้งโรงพยาบาลหรือมหาวิทยาลัย และที่ฮือฮากันคือมักจะมีการแจกเบียร์และขนมอย่างโดนัท ให้กับแฟนบอลที่เข้ามาชมเกมเหย้าในโอกาสสำคัญๆ เสมอ
3.ยันต์เลสเตอร์
วิชัยเป็นเศรษฐีอีกคนหนึ่งที่ชื่นชอบสะสมเครื่องรางของขลัง ว่ากันว่าเขามีกรุพระเครื่องมูลค่าหลายร้อยล้านบาท โดยได้ยกกรุพระเครื่องขนาดใหญ่ของเขาไปโชว์ไว้ใน ‘คิงเพาเวอร์ คอมเพล็กซ์’ ให้สาธารณชนได้ยลกัน ซึ่งเคยสร้างความฮือฮาด้วยการนิมนต์ พระพรหมมังคลาจารย์ หรือ เจ้าคุณธงชัย บินไปปลุกเสกความขลังให้สนามคิงเพาเวอร์ และเป่ากระหม่อมให้นักเตะทุกคน เจ้าคุณธงชัยได้เปิดเผยว่าที่จริงก่อนหน้านี้เคยบินไปทำพิธีให้กับเลสเตอร์มามากกว่า 10 ครั้งแล้ว แต่ที่เป็นกระแสฮือฮาเพราะ ในฤดูกาล 2015-2016 เลสเตอร์กับคว้าสามารถแชมป์พอดี ทำผ้ายันตร์ที่มีรูปตาสโมสรนั้นโด่งดังเป็นกระแส จนมีทำเลียนแบบออกมาขายกันในอินเตอร์เน็ต มีสื่อของอังกฤษถึงกับบอกว่านี่คือเบื้องหลังความสำเร็จของเลสเตอร์
เจ้าคุณธงชัยอธิบายว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องของมนตร์คาถา แต่เป็นการทำให้นักเตะมีสติและสุขภาพแข็งแรง ซึ่งตามสถิติในปีที่ได้แชมป์ เลสเตอร์เป็นทีมที่เปลี่ยนแปลงผู้เล่นตัวจริงน้อยที่สุด ทีมขนาดเล็กที่มีผู้เล่นดาวดังไม่มากนัก การที่ผู้เล่นตัวหลักไม่บาดเจ็บเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยม
4.ฉลองแชมป์ในประเทศไทย
ไม่กี่วันหลังจากก้าวขึ้นเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีก วิชัยก็พาผู้เล่นและโค้ชมาจัดขบวนฉลองแชมป์อย่างยิ่งใหญ่กลางกรุงเทพฯ ถือเป็นภาพแปลกตาที่แชมป์ลีกสูงสุดของอังกฤษต้องบินไกลครึ่งโลกมาฉลองแชมป์ที่ประเทศไทย ถึงจะมีเสียงบ่นเรื่องที่ทำให้รถติด และความเหมาะสมที่ว่าเลสเตอร์นอกจากที่เจ้าของเป็นคนไทยแล้วก็ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับประเทศไทยเลย
5.ต้นแบบทีมเล็ก
วิชัยเข้าซื้อทีมเลสเตอร์จากมิลาน มันดาริช เพียง 40 ล้านปอนด์ แต่ปัจจุบันเลสเตอร์มีมูลค่าทางการตลาดอยู่ที่ 300.15 ล้านปอนด์ ซึ่งสูงเป็นอันดับ 8 ของลีก ไม่ใช่แค่ความสำเร็จในสนามที่เพิ่มมูลค่าทีมให้กับเลสเตอร์เท่านั้น แต่การสร้างฐานแฟนบอลและการบริหารงานทำให้มูลค่าทีมที่เพิ่มขึ้นจากผลงานในสนามยังคงอยู่ จนมีคำว่า ‘เลสเตอร์โมเดล’ ที่เป็นตัวอย่างให้ทีมขนาดเล็กในอังกฤษเดินตาม
ว่าด้วยการเข้ามาของทุนเอเชียในพรีเมีย์ลีกอังกฤษ
ในอดีตอังกฤษเป็นชาติเจ้าอาณานิคมใหญ่ของทวีปเอเชีย ด้วยการยกกองเรือและทหารเข้ามาทางทะเล ปัจจุบันชาวเอเชียได้บุกยึดอังกฤษผ่านฟุตบอล เมื่อดูลงไปในรายชื่อของแต่ละสโมสรในพรีเมียรลีกแล้ว จากทั้งหมด 20 สโมสรนั้น มีสโมสรที่เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นชาวอังกฤษเพียงแค่ 6 สโมสรเท่านั้น (ซึ่งไม่มีทีมไหนเลยที่เคยคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก) ใน 20 ทีมนั้นมีเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นหลักของสโมสรที่มาจากทวีปเอเชียถึง 6 สโมสร การเข้าของกลุ่มทุนจากเอเชียนั้นดูจะเป็นกลุ่มทุนต่างชาติที่มีบาทบาทโดดเด่นที่สุด
ในช่วงหลังปี 2000 เป็นช่วงที่กลุ่มต่างชาติเริ่มแห่เข้ามาในพรีเมียร์ลีก เริ่มจากการเข้ามาของตระกูลเกลเซอร์ ชาวอเมริกันที่มาสานต่อความยิ่งใหญ่ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต่อด้วย โรมัน อับราโมวิช เศรษฐีชาวรัสเซีย ที่นำความยิ่งใหญ่มาให้เชลซี จากนั้นทีมในอังกฤษก็เริ่มเปลี่ยนมือเป็นของชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้นทุกปี
ชาวเอเชียคนแรกที่เข้าซื้อสโมสรในอังกฤษ (รวมถึงเป็นรายแรกๆ ในยุโรป) คือ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่เข้ามาซื้อแมนเชสเตอร์ ซิตี้ แต่ได้ถือครองสโมสรได้เพียงปีเดียว ก็ปล่อยทีมให้กับมานซูร์ บิน ซาเยด นักธุรกิจ จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ชาวเอเชียอีกคนที่อัดเม็ดเงินมหาศาลทำให้ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ คว้าแชมป์สมัยแรกของสโมสร และอีก 2 สมัยเพิ่มเติม เป็นเจ้าของสโมสรชาวเอเชียที่ได้แชมป์พรีเมียรลีกมากที่สุด จนมาถึงการทำทีมของวิชัย ที่ซื้อเลสเตอร์ ซิตี้ จากทีมในลีกแชมเปียนชิพ ลีกรองของประเทศจนมาเป็นแชมป์พรีเมียรลีกได้ ทำให้การเข้ามาของนายทุนเอเชียที่เคยถูกต่อต้านโดยแฟนบอลถูกมองเปลี่ยนไปในแง่ดีมากขึ้น
ข่าวการยื่นซื้อสนามเวมบลีย์ในลอนดอน ของนาย ซาอิด ข่าน นักธุรกิจเชื้อสายปากีสถาน ที่มีกระแสต่อต้านอยู่ไม่น้อย เป็นความพยายามครั้งสำคัญอีกครั้งของทุนชาวเอเชีย ทั้งนี้เมื่อมองลงไปในรายละเอียดต่างๆ พบว่าทุนเอเชียกับฟุตบอลอังกฤษอาจจะเป็นการเข้าคู่กันที่สมน้ำสมเนื้อ เพราะเมื่อดูตัวเลขต่างๆ พบว่าผู้คนในเอเชียนิยมดูพรีเมียร์มากที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับทวีปอื่นๆ และการเลื่อนเวลาให้พรีเมียร์ลีกมาเตะเร็วกว่าปกติ ก็เพราะต้องการเอาใจคนเอเชียไม่ให้ต้องอดหลับอดนอนดึกจนเกินไป สะท้อนให้เห็นว่าพรีเมียร์ลีกเองก็รู้ว่าเอเชียเป็นตลาดสำคัญที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง