สำนักข่าว Asian Correspondent รายงานว่่า มูลนิธิ TIFA มูลนิธิส่งเสริมการเปิดกว้างทางสังคมของอินโดนีเซียเชิญนักการเมืองและนักวิชาการไปร่วมเสวนาในหัวข้อ "การแข่งขันเพื่อเป็นที่โหล่?" เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนที่ตกต่ำลงในประเทศสมาชิกอาเซียน นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กล่าวว่า อินโดนีเซียเป็นเพียงประเทศเดียวในอาเซียนที่สามารถพัฒนาประเทศให้เป็นระบอบประชาธิปไตย พร้อมชื่นชมกองทัพอินโดนีเซียที่ยอมสละอำนาจทางการเมืองเลิกสนับสนุนเผด็จการซูฮาร์โตในปี 1998 ผู้ร่วมเสวนาต่างเห็นด้วยว่า อินโดนีเซียเป็นความหวังในเรื่องการพัฒนาประชาธิปไตย และการรักษาเสรีภาพทางการเมืองและพลเมือง
อย่างไรก็ตาม นายอุซมาน ฮามิด ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินโดนีเซียกล่าวว่า รัฐบาลของนายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซียเพิกเฉยที่จะยกเลิกการอภัยโทษต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ รวมถึงการสังหารหมู่ปี 1965 ที่ประเมินว่าน่าจะมีผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ถูกสังหารไปประมาณ 5 แสนถึง 1 ล้านราย นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังไม่ยอมรับชาวมุสลิมนิกายชีอะห์และอาห์มาดิส รวมถึงจำกัดสิทธิของกลุ่มหลากหลายทางเพศอีกด้วย
ปัญหาที่พบเห็นได้ ทั่วภูมิภาคก็คือ การใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ทั้งในประเทศประชาธิปไตยเต็มใบอย่างอินโดนีเซียและเมียนมาภายใต้รัฐบาลของนางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา ความแตกต่างทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นทั้งในระดับชาติ ภูมิภาค และระดับโลก ส่งเสริมให้นักการเมืองใช้นโยบายประชานิยม ซึ่งทำให้สังคมแตกแยกกันมากขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดจากกรณีการกดขี่ชาวโรฮิงญาในเมียนมา จากที่นางซูจีเคยวิจารณ์นโยบายอาเซียนที่ไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศ เมื่อครั้งต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ทุกวันนี้เธอกลับสนับสนุนนโยบายนี้อย่างชัดเจน
ด้านมู ซกฮัว รองหัวหน้าพรรคกู้ชาติกัมพูชาหรือ CNRP กล่าวว่า ประชาธิปไตยในกัมพูชาได้ตายลงไปแล้ว เพราะนายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาครองอำนาจมากว่า 30 ปีแล้ว และยังปราบปรามพรรคฝ่ายค้านอย่างหนัก จับกุมนางเกิม เสิกขา หัวหน้าพรรค CNRP ยุบพรรค ตัดสิทธิ์ทางการเมืองสมาชิกพรรค จนเธอและสมาชิกพรรคกว่า 200 คนต้องลี้ภัยเข้ามาในไทย ซึ่งก็ไม่ใช่ประเทศที่ปลอดภัย เพราะไทยก็อยู่ภายใต้รัฐบาลทหารเช่นกัน
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญแสดงความเห็นว่า จีนได้เข้ามามีบทบาทในการเมืองอาเซียนค่อนข้างมาก เนื่องจากจีนสนับสนุนรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โครงการ One Belt One Road ไม่ใช่เป็นการขยายอำนาจทางเศรษฐกิจจีนเท่านั้น แต่ยังเป็นการขยายอำนาจทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอีกด้วย เห็นได้ชัดจากกรณีของกัมพูชาและเมียนมา ที่ยิ่งสนิทสนมกับจีนมากขึ้น ในยามที่ถูกนานาชาติวิจารณ์อย่างหนัก