สีสันอย่างหนึ่งของวันลอยกระทง นอกจากการวิ่งหนีประทัด (ซึ่งไม่โอเคเท่าไหร่) และการประกวดนางนพมาศ ก็คือการประกวดกระทงนี่แหละ เพราะแต่ละปีจะได้เห็นความเว่อร์วังอลังการดาวล้านดวงของกระทง (ลอยน้ำได้ไม่ได้อีกเรื่อง) แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ของชาวเราได้เป็นอย่างดี
ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 บันทึกไว้ชัดเจน “การฉลองพระประทีปลอยกระทง” ในเดือน 12 เป็นงานรื่นเริงของชนทั้งปวงทั่วกัน โดย “กระทงหลวง” สำหรับพระมหากษัตริย์ทรงลอยแต่เดิมนั้น คือเรือรูปสัตว์ต่างๆ เรือศรี เรือชัย เรือโอ่ เรือคอน และมีเรือหยวกติดธูปเทียน แต่ในรั้ววังก็ยังมีกิจกรรมชิคๆ นั่นก็คือการทำ “กระทงใหญ่” เพื่อประกวดประชันฝีมือกัน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า การทำกระทงใหญ่น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 และ 2[1] แต่ที่ชัดเจนที่สุดดูเหมือนจะอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 3 โดย “เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี” (ขำ บุนนาค) บันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ว่า ปี พ.ศ.2368 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงขอแรงพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน และข้าราชการมาร่วมทำ “กระทงใหญ่” เพื่อประกวดกัน
ที่ว่า “กระทงใหญ่” นั้นคือใหญ่จริงๆ ถึงขนาดต้องเกณฑ์ผู้คนนับร้อยมาต่อกระทง ในพงศาวดารบันทึกว่า “ผู้ต้องเกณฑ์ต่อเป็นถังบ้าง ทำเป็นแพหยวกบ้าง กว้าง 8 ศอกบ้าง 9 ศอกบ้าง ก���ะทงสูงตลอดยอด 10 ศอก 11 ศอก”[2] วัดตามหน่วยความยาวแบบสากลก็กว้าง 4.5 เมตร สูง 5.5 เมตร ด้วยขนาดอลังการเช่นนี้ รายละเอียดของกระทงจึงต้องยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน มีทั้งที่ออกแบบเป็นเขาพระสุเมรุ พร้อมทวีปทั้ง 4 ตามคติไตรภูมิ ขณะที่บางเจ้าทำกระทงเป็นชั้นๆ ประดับประดาด้วยเครื่องสด ที่สำคัญคือกระทงแต่ละเจ้านั้น “มีจักรกลต่างกันทุกกระทง มีมโหรีขับร้องอยู่ในกระทงนั้นก็มี”[3] พอถึงเวลาประชาชนก็จะพายเรือมารอดูกระทงงามๆ กันแน่นเต็มแม่น้ำ
เบ็ดเสร็จค่าลงทุนทำกระทง เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ฯ ท่านว่าอยู่ที่ประมาณ 20 ชั่ง หรือ 400 ตำลึง มากน้อยขนาดไหนอาจไม่เห็นภาพ จึงจะเทียบกับราคาข้าวสมัยรัชกาลที่ 3 ปี พ.ศ. 2374 ซึ่งอยู่ที่เกวียนละ 5-7 ตำลึง[4]
บวกลบคูณหารง่ายๆ ค่ากระทงอลังการหนึ่งกระทง สามารถซื้อข้าวได้กว่า 50 เกวียน
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรู้ว่ามีการใช้ทุนรอนหนักหนามากมายจึงดำรัสว่า “ตั้งแต่นี้ไปอย่าให้ทำอีกเลย” พระบรมวงศานุวงศ์และเจ้านายฝ่ายในจึงเปลี่ยนมาทำกระทงเครื่องสดขนาด 4-6 ศอก ถวายเป็นประจำทุกปี แต่สปิริตแห่งการแข่งขันก็ยังไม่จางหาย เพราะ “ท่านก็ประกวดประขันกันเองไม่ยอมแพ้กัน ในกระบวนเครื่องสดคราวหนึ่งก็สิ้นค่าเลี้ยงค่าแจกอยู่ใน 32 ชั่ง”[5] กระทั่งมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในวงการประกวดกระทง โดยพระองค์มีรับสั่งว่า “พระองค์เจ้าฝ่ายในผลประโยชน์ก็มีน้อยต้องเกณฑ์โถยาคูและกระทงและดอกไม้ ทุกปีก็ต้องเสียเงินเป็นหลายชั่ง จึ่งโปรดให้ยกเลิกเสีย”[6]
แม้เป็นอันว่ายุติการเกณฑ์กระทงใหญ่อย่างจริงจังแล้ว แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ยังมีการทำกระทงใหญ่มีเครื่องจักรกลไกถวายให้ทอดพระเนตรบ้าง โดยนานๆ จะมีสักคราวหนึ่ง มีบันทึกว่าถ้างานลอยประทีปปีใดมีกระทงใหญ่ ก็จะครึกครื้นเอิกเกริกกว่าทุกปี [7]
ส่วนทุกวันนี้กระทงใหญ่ตามธรรมเนียมโบราณคงไม่มีแล้ว เหลือแต่ตำนานเล่ากันสนุกๆ ช่วงวันลอยกระทง
ภาพประกอบ: AFP PHOTO/PORNCHAI KITTIWONGSAKUL
---------------------
อ้างอิง
[1] จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, พระราชพิธีสิบสองเดือน, กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2556, หน้าที่ 69.
[2] ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา, พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3, (พิมพ์ครั้งที่ 7), กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2547, หน้าที่ 11.
[3] อ้างแล้ว.
[4] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ฯ บันทึกไว้ว่า พ.ศ.2374 น้ำท่วมทั่วราชอาณาจักร ข้าวปีนั้นน้ำท่วมเสีย 6 ส่วน ได้ 4 ส่วน ราษฎรซื้อขายข้าวนาทุ่งเกวียนละ 5-7 ตำลึง ผู้เขียนมองว่าราคานี้น่าจะถือว่าแพง เพราะข้าวผลิตมาได้น้อย (ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (อ้างแล้ว, หน้าที่ 46.)
[5] อ้างแล้ว, หน้าที่ 12.
[6] อ้างแล้ว,
[7] จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, พระราชพิธีสิบสองเดือน, หน้าที่ 71.