นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่จะหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อพูดคุยหาทางออกเกี่ยวกับปัญหาในการดำเนินการด้านต่างๆของพรรคการเมือง ขณะนี้ยังไม่ได้นัดหมายว่าจะหารือกันเมื่อใด ซึ่งการหารือไม่จำเป็นต้องรอให้กฎหมายลูกอีกสองฉบับประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพราะที่แล้วมาไม่ได้มีการพูดคุย เนื่องจากกฎหมายยังอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ แต่วันนี้รู้แล้วว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขอย่างไรบ้าง แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้
นายวิษณุ ทราบว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 มีปัญหา จึงได้เตรียมทางออกไว้แล้ว แต่ไม่รู้จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดหรือไม่ จึงต้องการฟังความเห็นจาก กกต. และ กรธ. พร้อมเชิญกรรมาธิการของ สนช. เข้ามาหารือด้วย ส่วนจะถึงขั้นงดการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรกหรือไม่นั้น ไม่ทราบ เพราะทางออกของเรื่องนี้มีอยู่ 4 ทาง 1. ไม่ต้องทำอะไรเลย 2. ให้มีการตีความ 3. แก้ไขกฎหมาย และ 4. ใช้มาตรา 44
ส่วนกรณีที่จะพูดคุยกับพรรคการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เห็นว่าควรจะคุยกันอย่างน้อยสองรอบ ซึ่งรอบแรกจะคุยกันในเดือนมิ.ย.นี้ โดยเป็นการพูดคุยกันเบื้องต้น ทั้งที่รัฐบาลและพรรคการเมืองต่างก็ยังไม่รู้ว่าจะคุยกันในเรื่องใด จึงควรมีโอกาสได้เจอกันก่อน เพื่อได้รับทราบถึงปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหา จนเมื่อกฎหมายลูกอีกสองฉบับมีผลบังคับใช้ก็ค่อยมาคุยกันใหม่ เพราะเมื่อถึงตอนนั้นก็จะสามารถกำหนดเรื่องต่างๆให้มีความชัดเจนขึ้นได้ บางคนอยากจะมาบ่นเรื่องไพรมารีโหวต เรื่องการประชุมพรรค เรื่องการปลดล็อก ก็ใช้เวทีนี้พูดกันได้ โดยรัฐบาลจะเชิญพรรคการเมืองเข้ามาร่วมพูดคุย แต่เมื่อมีการปลดล็อกให้หาเสียงเลือกตั้งจริงๆ ทุกอย่างจะต้องปล่อยให้เป็นไปโดยอิสระ หรือปล่อยฟรี แต่ตอนนี้เป็นเพียงการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมทางการเมืองเท่านั้น ไม่ใช่การหาเสียง ทั้งนี้ ในคำสั่งคสช.ไม่ได้ห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองเสียทีเดียว หากใครต้องการทำก็สามารถขออนุญาตได้
'สุริยะใส' จับตา ค้านล้มไพรมารีโหวต รักษาสิทธิประชาชนในพรรคการเมือง
นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) แนะนำให้ประชาชนต้องช่วยกันติดตาม ตรวจสอบเพราะการยกเว้นหรือตัดกลไก ไพรมารีโหวตออกไป เท่ากับเป็นการตัดตอนบทบาทและการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองและจะส่งผลให้การปฏิรูปพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันเป็นพรรคการเมืองที่ประชาชนเป็นเจ้าของกลายเป็นเรื่องเพ้อฝัน และสุดท้ายพรรคการเมืองก็จะกลายเป็นแค่แหล่งรวมกลุ่มผลประโยชน์ที่ใช้พรรคการเมืองเข้ามาเป็นเครื่องมือตักตวงผลประโยชน์และอำนาจรัฐเหมือนที่ผ่านๆมาเท่านั้น
หลังจากที่หลายพรรคการเมืองจะเคลื่อนไหวเรียกร้องให้คสช. ใช้คำสั่ง ม. 44 ยกเว้นการทำไพรมารีโหวต ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ ด้วยข้ออ้างสารพัดโดยเฉพาะการเตรียมตัวไม่ทัน ของพรรคการเมือง และก่อนหน้านี้ในช่วงที่มีการแปรญัตติร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองก็พบว่าพรรคการเมืองส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับระบบไพรมารีโหวตหรือการสรรหาผู้สมัครของพรรคโดยให้ประชาชนหรือสมาชิกพรรคมีส่วนร่วม ดังนั้นไพรมารีโหวตในสายตาของพรรคการเมืองจะเป็นอุปสรรคต่อวิถีหรือการบริหารจัดการพรรคการเมืองแบบเก่าๆ หรือพรรคการเมืองที่มีเจ้าของเพียงคนเดียวหรือตระกูลเดียวหรือกลับไปที่ระบบแฟมิลีโหวต