สำหรับในประเทศไทย รายงานจากสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ระบุว่า โรคหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุที่ก่อนให้เกิดความสูญเสียจากการตายก่อนวัยอันควรเป็นอันดับ 1 ในเพศหญิง และสูงเป็นอันดับ 2 ในเพศชาย จากรายงานของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณะสุข พบว่า อัตราการตายด้วยโรคหลอดเลือดสมองต่อประชากร 1 แสนคน ในภาพรวม ปี 2557-2559 เท่ากับ 38.63, 43.28 และ 43.54 ตามลำกับ ซึ่งเห็นได้ว่า อัตราการตายด้วยโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นทุกปี และยังพบว่า โรคหลอดเลือดสมองมีอัตราการตายมากกว่าโรคเบาหวาน และโรคหัวใจขาดเลือดเป็น 1.5 - 2 เท่าตัวด้วย
และจากสถานการณ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นภัยที่กำลังคุกคามประชากรทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ทั้งนี้เพราะโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ และยังเป็นโรคที่สามารถเกิดได้กับประชากรทุกคนและทุกวัย ผู้ที่รอดชีวิตจากโรคนี้จะได้รับผลกระทบทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม ในผู้ป่วยบางรายเกิดความพิการกลายเป็นภาระให้กับคนในครอบครัว ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ จึงเป็นปัญหาที่ทุกคนควรตระหนักและร่วมกันดูแลป้องกัน
วิธีสังเกตอาการน่าสงสัยว่าจะเป็น "โรคหลอดเลือดสมอง" ง่ายๆ คือ
1. ปากเบี้ยวหรือชาบริเวณใบหน้า
2. ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
3.แขนขาอ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก
4. วิงเวียนศีรษะประกอบกับเดินเซ
5. พูดไม่ชัด นึกคำพูดไม่ออก ฟังไม่รู้เรื่อง
ซึ่งหากพบคนใกล้ตัวมีสัญญาณเตือนดังกล่าวข้างต้น อย่ารีรอที่จะนำตัวส่งโรงพยาบาล ที่สำคัญไม่ควรรอหรือให้ผู้ป่วยนอนพักสังเกตอาการเอง หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวที่ต้องมียากิน เช่น เบาหวาน หรือ ความดันโลหิตสูง ควรนำยาไปโรงพยาบาลด้วย และไม่ควรให้ยาผู้ป่วยกินก่อนมาถึงโรงพยาบาล สุดท้ายถ้าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นก่อนถึงโรงพยาบาล ก็ยังจำเป็นต้องพบแพทย์ให้เร็วที่สุดอยู่ เพราะอาจเป็นภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง
ส่วนความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากอาการสมองขาดเลือด แบ่งได้ 2 ประเภทคือ
1. หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน อาการนี้พบได้ร้อยละ 80 ของโรคหลอดเลือดสมอง เกิดได้จากลิ่มเลือดที่ก่อตัวขึ้นจากบริเวณอื่นของร่างกาย ไหลตามกระแสเลือดเข้าไปอุดตันที่เส้นเลือดของสมอง หรืออาจจะเกิดลิ่มเลือดก่อตัวในเส้นเลือดสมอง และขยายใหญ่ขึ้น และอุดตันเส้นเลือดของสมอง ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดเส้นเลือดสมองตีบตัน อาจเกิดจากการสะสมของไขมันในเส้นเลือด ทำให้เส้นเลือดแคบลง ความยืดหยุ่นและความสามารถในการลำเลียงเลือดน้อยลง
2. หลอดเลือดสมองเกิดการปริแตกหรือฉีกขาด พบได้ร้อยละ 20 ของโรคหลอดเลือดสมอง สาเหตุเกิดจากเส้นเลือดเกิดความเปราะบางร่วมกับโรคความดันโลหิตสูง ทำให้บริเวณนั้นเกิดการโป่งพองและแตกออก หรืออาจเกิดจากเส้นเลือดนั้นสูญเสียความยืดหยุ่นจากการสะสมของไขมันในเส้นเลือด จึงทำให้เส้นเลือดปริแตกได้ง่าย ส่งผลให้ปริมาณเลือดที่จะไปเลี้ยงสมองลดลงเฉียบพลัน และเมื่อเส้นเลือดปริแตกอาจทำให้เกิดเลือดออกในสมองได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว
ส่วนการป้องกันการกลับมาเป็นโรคหลอดเลือดสมองซ้ำ คือ ควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดหลอดเลือดตีบตันหรือแตก เช่น ความด้นโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวาน ไขมันในเส้นเลือดสูง การสูบบุหรี่ หรือไม่ออกกำลังกาย หมั่นตรวจเช็คสุขภาพประจำปี และหากพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ให้รีบรักษาและทานยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ห้ามหยุดยาเอง เลี่ยงการกินอาหารที่มีรสเค็ม หวาน และมัน เลือกกินให้สมดุลกัน
ที่มา : สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค, โรงพยาบาลพระราม9. สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ, WHO
Photo by jesse orrico on Unsplash