ไม่พบผลการค้นหา
จะเลือกอะไรระหว่างให้อำนาจเบ็ดเสร็จกับคนบางกลุ่ม หรือสร้างกลไกที่คนตัวเล็กตัวน้อยรวมพลังสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้

วันนี้ ผมจะขอสปอยล์เนื้อหาของภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ 2 เรื่อง (ใครที่ยังไม่ดู ขอแสดงความเสียใจไว้ล่วงหน้าครับ) เรื่องแรกคือ “Batman v Superman: Dawn of Justice” และเรื่องที่สองคือ “Justice League” ทั้งสองเรื่องมีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกันอยู่ แต่ประเด็นที่นำเสนอ กลับไปคนละทิศละทาง

เรื่องแรกตั้งคำถามว่า การที่เราปล่อยให้ใครคนใดคนหนึ่ง (หรือกลุ่มหนึ่ง) มีอำนาจมากเกินไป จะทำให้สังคมดีขึ้นได้จริงๆ หรือ แล้วถ้าใครคนนั้นเหลิงอำนาจหรือเข้าสู่ด้านมืดล่ะ เมื่อคิดได้ดังนั้น มนุษย์ธรรมดาอย่าง Batman จึงลุกขึ้นมาท้าทายผู้มีพลังอำนาจเฉกเช่นพระเจ้าอย่าง Superman แม้ยากจะชนะ แต่เพื่อให้รู้ว่าอย่างน้อยก็มีคนที่พยายามจะ “คาน” การใช้อำนาจนั้นๆ อยู่

ส่วนเรื่องที่สอง เป็นเหตุการณ์ภายหลังจากเรื่องแรก แต่กลับเสนอแนวคิดที่ต่างกันสุดขั้วชนิดหันหลัง 180 องศา เมื่อยอดมนุษย์กลุ่มหนึ่งพยายามต้านทานการบุกรุกของมนุษย์ต่างด้าว พอรู้ว่าสู้ไม่ได้จึงไปพยายามปลุก “คนที่ใช่” ให้ฟื้นคืนชีพจากขุมนรกขึ้นมาช่วยกอบกู้โลก หลายคนดูหนังเรื่องนี้จบแล้วอยากเติมแท็กไลน์ที่ใช้โฆษณา You Can’t Save The World Alone ไปอีกวลีว่า But Superman Can! ให้รู้แล้วรู้รอด

ที่ยกตัวอย่างภาพยนตร์ฮอลลีวูด 2 เรื่องนี้ขึ้นมา ก็เพราะการเมืองไทยในยุคปัจจุบัน คล้ายอยู่บนทาง “2 แพร่ง” ที่ไม่ต่างจากเนื��อหาในภาพยนตร์ ระหว่าง

1. ให้อำนาจเบ็ดเสร็จกับใครบางคนบางกลุ่มเข้ามาจัดการบ้านเมือง แล้วคิดว่าท้ายที่สุดมันจะดีขึ้นมาเอง

หรือ

2. สร้างกลไกที่คนตัวเล็กตัวน้อยสามารถรวมพลังกันทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ อย่าไปฝากอำนาจไว้ที่คนบางกลุ่ม

เหตุการณ์ที่ตอกย้ำให้นึกถึงเรื่องนี้ คือกรณีแหวนเพชร-นาฬิกาหรู ซึ่งไม่อยู่ในบัญชีทรัพย์สิน ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม แจ้งต่อ ป.ป.ช. แต่เจ้าตัวกลับการันตีว่าตัวเอง “ไม่เคยทำอะไรทุจริต” และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ก็ยังออกมาเรียกร้องให้สื่อมวลชนลดราวาศอกในการตรวจสอบพี่ใหญ่ของ คสช. ลงบ้าง

ทั้งที่ หากเป็นฝ่ายตรงข้าม นอกจากจะออกกฎหมายให้มีผลย้อนหลัง ยังใช้ “อภินิหารทางกฎหมาย” เพื่อเอาผิดให้ได้

ส่วนท่าทีของ ป.ป.ช. ก็ดูเก้ๆ กังๆ จะเข้ามาตรวจสอบ แม้ตัวรักษาการเลขาธิการจะยอมรับว่า เป็นคดีที่ไม่ซับซ้อนอะไรเลย ก็ตาม

อีกเรื่อง คือเนื้อหาของร่างกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่ ที่พอผมได้อ่านฉบับเต็มๆ แทบหงายหลัง เพราะเป็นอย่างที่ ภัทระ คำพิทักษ์ กรรมาธิการเสียงข้างน้อย แสดงความวิตกผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่าร่างกฎหมายนี้ นอกจากจะไม่ทำให้เกิดการปฏิรูป ป.ป.ช.แล้ว “ยังให้ ป.ป.ช.ได้อำนาจเพิ่มขึ้นมาก แต่ไม่ยอมรับการถูกตรวจสอบ”

นับแต่กฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับแรกประกาศใช้ในปี 2542 ทุกครั้งที่มีการแก้ไข ไม่ว่าจะในปี 2550 ปี 2554 และปี 2558 ป.ป.ช. ก็จะได้ “อำนาจ” เพิ่มมากขึ้นมาโดยตลอด ทั้งยกคดีขึ้นมาไต่สวนเองได้ไม่ต้องรอมีผู้ร้อง, ให้เข้าถึงแหล่งข้อมูลเรื่องเส้นทางการเงินได้, ให้หยุดนับอายุความถ้าผู้ถูกกล่าวหาคดีไป, เพิ่มอัตราโทษความผิดบางอย่างถึงขั้นประหารชีวิต ฯลฯ

ท่ามกลางข้อสงสัยอมตะจากสาธารณะชนว่า “แล้วถ้า ป.ป.ช. ทำผิดเสียเอง ใครจะเป็นผู้ตรวจสอบ?”

เฉกเช่นเดียวกัน นับแต่ คสช. ยึดอำนาจเข้ามาในปี 2557 ก็มักจะพูดว่า โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย โดยที่ลืมบอกชาวบ้านไปว่า เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ได้เขียนนิรโทษกรรมไว้ล่วงหน้าแล้ว (และรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ก็รับรองการนิรโทษฯนั้นไว้อีกทอดหนึ่ง)

การใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ถี่ๆ ก็ถือเป็นการเลี่ยงการตรวจสอบรูปแบบหนึ่ง เพราะอำนาจพิเศษนี้ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ได้รับผลกระทบสามารถฟ้องร้องต่อศาลใดๆ ได้ แม้กระทั่งศาลปกครอง

ที่เครือข่ายประชาชนไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งให้อำนาจทหารคุมตัวประชาชนไปในค่ายทหารได้ 7 วันโดยไม่ต้องมีหมายศาล และห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป จึงน่าสนใจว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร แม้หลายฝ่ายจะแอบทำใจไว้ล่วงหน้า

เมื่อเกิดวิกฤต สังคมไทยเคยชินกับความพยายามหา “คนดี” หรือ “คนกลาง” เข้ามาแก้ปัญหา ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีอยู่จริง แม้จะพยายามควานหามาหลายทศวรรษ

ไม่เพียงเท่านั้น “วาทกรรมความดี” ยังถูกใช้เพื่อทำร้ายทำลายฝ่ายตรงข้าม (ก่อนจะพบว่า คนที่ชอบกล่าวหาคนอื่นก็มีพฤติกรรมที่ไม่แตกต่างจากคนที่ตัวเองกล่าวหาเลย)

การสร้าง “ซูเปอร์แมน” ขึ้นมา โดยไม่สร้าง “คริปโตไนท์” ธาตุที่ใช้กำราบซูเปอร์แมน ขึ้นมาด้วย มีตัวอย่างในหลายๆ ประเทศแล้วว่า ผลสุดท้ายคือไม่เวิร์ก เพราะอำนาจเบ็ดเสร็จแม้อาจใช้แก้ปัญหาบางอย่างได้ แต่ปัญหาสังคมยุคปัจจุบันมันสลับซับซ้อน เกินกว่าใช้แค่อำนาจอย่างเดียว แล้วจะแก้อะไรได้

ทว่าผู้มีอำนาจยุคปัจจุบัน ดูเหมือนต้องการจะพาบ้านเมืองไปสู่ยุค Justice หลีก ซะมากกว่า

ให้อำนาจฉันเยอะๆ แล้วฉันจะแก้ปัญหาให้ดู

ส่วนการถูกตรวจสอบเหรอ โอ้ย! อุตส่าห์เสียสละเข้ามาทำงานเหนื่อยยากขนาดนี้ ทำไมยังไม่เชื่อใจกันอีก


พงศ์ บัญชา
0Article
0Video
0Blog