ไม่พบผลการค้นหา
'เมียนมา' ถูกขึ้นบัญชีเฝ้าระวังประเทศที่มีความรุนแรงทางเพศของยูเอ็น เนื่องจากใช้การข่มขืนเป็นเครื่องมือกดขี่ชาวโรฮิงญา

เมียนมาถูกขึ้นบัญชีเฝ้าระวังประเทศที่มีความรุนแรงทางเพศของคณะความมั่นคงแห่ง สหประชาชาติ หรือ UNSC ร่วมกับอีก 18 ประเทศ เช่น ดีอาร์คองโก อิรัก และ เซาท์ซูดาน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่เมียนมาถูกขึ้นบัญชีเฝ้าระวังนี้

รายงานดังกล่าวระบุว่าความรุนแรงทางเพศ เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของกองทัพเมียนมา เพื่อทำให้ชาวโรฮิงญารู้สึกอับอาย หวาดกลัว และเป็นการลงโทษแบบเหมารวม และการคุกคามทางเพศที่โหดร้ายเป็นเครื่องมือในการขับไล่ชาวโรฮิงญาออกจากมาตุภูมิอย่างเป็นระบบและป้องกันไม่ให้พวกเขากลับไปที่รัฐยะไข่

ผู้แทนพิเศษของยูเอ็นระบุว่า ระหว่างการเดินทางเยือนค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่ค็อกซ์บาซาร์ของบังกลาเทศ เธอได้ฟังเรื่องราวการข่มขืน การรุมข่มขืน บังคับให้เปลือยกาย และลักพาตัวไปเป็นหญิงบำเรอในช่วงที่กองทัพเมียนมาเข้าไปสังหาร ปล้มสะดม และเผาบ้านเรือนของชาวโรฮิงญาจากผู้หญิงและเด็กผู้หญิงเกือบทุกคน

รายงานของยูเอ็นออกมาในทำนองเดียวกันกับคำให้การของหญิงชาวโรฮิงญาในค่ายค็อกซ์ บาซาร์ ที่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนบันทึกไว้ โดยมีรายงานระบุว่าผู้หญิงส่วนมากถูกคุกคามทางเพศอย่างโหดร้าย รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้สืบทอดเผ่าพันธุ์ จึงเป็นภัยคุกคามประชากรชาวพุทธ

นับตั้งแต่ความรุนแรงรอบล่าสุดปะทุขึ้นในรัฐยะไข่ของเมียนมา เมื่อเดือน ส.ค. 2560 มีชาวโรฮิงญากว่า 700,000 คน ลี้ภัยออกไปยังค็อกซ์บาซาร์ ประเทศบังกลาเทศ ซึ่งถือเป็นการโยกย้ายประชากรที่รวดเร็วที่สุด นับตั้งแต่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา

โดยผู้ลี้ภัยระบุว่ากองทัพเมียนมาได้สังหาร ข่มขืน และเผาหมู่บ้านของพวกเขา

ขณะที่ อันตอนิอู กูแตร์รีช เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาเป็นการลบล้าง เผ่าพันธุ์ แต่ทางการเมียนมากลับปฏิเสธและระบุว่า กองทัพเมียนมาปราบปรามกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่เท่านั้น

ราเซีย ซัลทานา นักเคลื่อนไหวและทนายความด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า นานาชาติ โดยเฉพาะ UNSC ล้มเหลวในการช่วยเหลือชาวโรฮิงญา เธอกล่าวหาว่าทหารเมียนมาข่มขืนผู้หญิงและเด็กผู้หญิงมากกว่า 300 คน ใน 17 หมู่บ้านในรัฐยะไข่ บางคนอายุเพียง 6 ปีเท่านั้น แต่คาดว่าตัวเลขคนที่ถูกคุกคามทางเพศจริงๆ จะสูงกว่านี้

นอกจากนี้ กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เช่น กะเหรี่ยง, กะฉิ่น, ชิน, ม้ง และไทใหญ่ ก็ถูกกดขี่ ข่มขืน และละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยกองทัพเมียนมาเช่นกัน

ที่มา: Asian Correspondent