ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการพร้อมพิจารณาศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมกรณีปรับไม่พกใบขับขี่ หลังสังคมมีความไม่เห็นด้วยว่าค่าปรับสูงเกินไป แต่ไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะต้องการนำเสนอให้ทุกคนมีใบขับขี่ เพื่อได้อบรมรับรู้ความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ เมื่อมีความรู้แล้วเชื่อว่าลดการเกิดอุบัติเหตุได้

ดร.กัณวีร์ กนิษฐพงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากกรมการขนส่งทางบก เสนอแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 โดยมีการเพิ่มโทษผู้ขับรถไม่มีใบขับขี่ เป็นจำคุก 3 เดือน ปรับ 5 หมื่น ขับรถในระหว่างใบขับขี่หมดอายุก็มีโทษจำคุก 3 เดือน จนมีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง โดยมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงได้นำเรื่องกลับมาทบทวนเพื่อพิจารณาประเด็นและข้อมูลเพิ่มเติม เนื่องจากว่าการนำเสนอเรื่องดังกล่าว สังคมเน้นที่ประเด็นเรื่องค่าปรับมากกว่า เพราะไม่มั่นใจในการจับ-ปรับของเจ้าหน้าที่ว่าจะมีความยุติธรรม ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องรอง

ดร.กัณวีร์ กล่าวว่า ประเด็นหลักที่อยากเน้นคือ การลดความเสี่ยงในการขับขี่ โดยรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนประเทศไทย ปี 2559 ของ สอจร. พบว่ากลุ่มอายุที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ 15-19 ปี หากรวมกับกลุ่มรอบข้าง ได้แก่ 10-14 ปี และ 20-24 ปี พบว่าทั้งสามช่วงอายุดังกล่าวเป็นกลุ่มที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 29 สามารถสะท้อนได้อย่างชัดเจนว่าอุบัติเหตุทางถนนเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตที่คร่าชีวิตคนไทยกลุ่มวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา มากที่สุด และผู้ประสบอุบัติเหตุกว่าสามในสี่ หรือ ร้อยละ 67.7 เป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์

ดร.กัณวีร์ กล่าวว่า การหัดขี่รถจักรยานยนต์ ส่วนใหญ่ฝึกหัดกับคนในครอบครัว เมื่อขี่ได้แล้วผู้ปกครองจะปล่อยให้ใช้รถในชีวิตประจำวัน เช่น ไปโรงเรียน ไปตลาด โดยขาดการรับรู้ถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นระหว่างการขี่ หากได้อบรมก่อนการสอบใบขับขี่ จะทำให้รู้ถึงความเสี่ยงได้ อย่างน้อยจะลดการเกิดอุบัติเหตุได้ นี่จึงเป็นเรื่องหลักว่าทำไมต้องให้ทุกคนมีใบขับขี่ เพื่อให้มีความรู้เรื่องความเสี่ยง จากนั้นหากไม่พกจึงดำเนินการจับปรับตามกฎหมาย

“การอบรมก่อนสอบใบขับขี่จะทำให้ได้รับรู้ถึงความเสี่ยง เมื่อขี่บนท้องถนนจริง จะทำให้เกิดการยับยั้งไม่ทำในสิ่งที่เสี่ยง เช่น ไม่เปลี่ยนช่องทางการจราจรโดยแทรกตัวไปตามช่องว่างระหว่างรถยนต์ ซึ่งในอนาคตอาจผลักดันให้อยู่ในหลักสูตรการเรียนต่อไป” ดร.กัณวีร์ กล่าว