วันนี้ (17 ตุลาคม 2567) ณ ลานนาคาเบิกฟ้า อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานประเพณีออกพรรษาและบั้งไฟพญานาคโลก ประจำปี 2567 โดยมีนางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยนายสมภพ สมิตะสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ผู้บริหารส่วนราชการ ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น และประชาชนชาวหนองคายให้การต้อนรับ
เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางมาถึงบริเวณงาน ได้ทักทายประชาชนและนางรำ จากนั้นได้กล่าวพบปะกับประชาชนตอนหนึ่งว่า การเดินทางมาเทศกาลบุญบั้งไฟครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของตนเองมาร่วมงาน ซึ่งเป็นงานที่ยิ่งใหญ่และสวยงาม เป็น Soft Power รัฐบาลพร้อมผลักดันเทศกาลต่างๆ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้พี่น้องชาวอีสาน ซึ่งเทศกาลบุญบั้งไฟพญานาค เป็นความเชื่อของคนภาคอีสานมายาวนาน ผ่านเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ สามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีเข้าไปเพื่อทำให้คนทั่วโลกได้เห็นและได้สัมผัสประเพณีที่ชาวอีสานได้ทำต่อเนื่องมาตลอดทุกปี และรัฐบาลพร้อมส่งเสริมผลักดัน โดยกระบวนการต่างๆ รัฐบาลและคณะกรรมการฯ ได้เริ่มดำเนินแล้ว
นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมภาคอีสานว่า มีเทศกาลดี ๆ หลายเทศกาลนอกจากบุญบั้งไฟพญานาค ยังมีเทศกาลอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นแห่เทียนพรรษา ไหลเรือไฟ รวมทั้งเทศกาลอีกหลาย ๆ ซึ่งมีเสน่ห์ หลายคนหลงใหล เชิญชวนให้คนเดินมาเที่ยวชมมากขึ้น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเกิดเงินหมุนเวียนในพื้นที่
“ถ้าคนทั่วโลก ได้รู้จักเทศกาลต่าง ๆ เหล่านี้ จะช่วยสร้างรายได้ ช่วยทำให้คนอีสานมีรายได้จากการท่องเที่ยว คนอีสานจะต้องรวย ขอให้กำลังใจทุก ๆ คน รัฐบาลพร้อมจะพัฒนาสิ่งที่พี่น้องอีสานมีอยู่ เป็นสมบัติของชาวอีสาน และจะส่งเสริมให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นต่อไป”
นายกรัฐมนตรี ระบุ
จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้จุดธูปเทียนถวายเครื่องบวงสรวงบูชาพระพุทธเจ้า และบูชาพญานาค พร้อมร่วมพิธีเจริญพุทธมนต์บูชาพระรัตนตรัย เนื่องในวันออกพรรษาต่อจากนั้น ได้รับชมการรำบวงสรวงองค์พญาพิสัยสัตตนาคราช ซึ่งมีนางรำร่วมในพิธีกว่า 1,000 คน
อนึ่ง การปฏิบัติภารกิจวันนี้ นายกรัฐมนตรีได้สวมสไบสีส้มอิฐหรือสีน้ำตาลอิฐ ซึ่งเป็นสีตะกอนของแม่น้ำโขง อัตลักษณ์ของจังหวัดหนองคาย พร้อมสวมผ้าซิ่นมัดหมี่ทอมือ ลายนาคใหญ่หรือพญานาค 7 เศียร อันแสดงถึงความยิ่งใหญ่ความอุดมสมบูรณ์ จากบ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ด้วย