สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา จะทรงได้รับการสวมมงกุฎในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่มีองค์ประกอบในทางประวัติศาสตร์ แต่จะยังคงสะท้อนจิตวิญญาณของยุคสมัยปัจจุบัน โดยสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงรับการเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ ทรงรับลูกโลกประดับกางเขน แหวนบรมราชาภิเษก และคทากางเขน พร้อมกันกับทรงได้รับการสวมมงกุฏเซนต์เอ็ดเวิร์ด และทรงรับการถวายพระพรในพระราชพิธี ทั้งนี้ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะมีการรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา
ทั้งนี้ สมเด็จพระราชินีคามิลลา จะทรงได้รับการเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ และทรงได้รับการสวมมุงกุฎ เฉกเช่นกับที่สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เป็นพระราชินีในปี 2480
ในแถลงการณ์สำนักพระราชวังบักกิงแฮมระบุว่า “พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะจัดขึ้นที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ กรุงลอนดอน และจะดำเนินการโดยอาร์คบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี โดยในพิธี สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงรับการสวมมงกุฎร่วมกับพระราชินีมเหสี ทั้งนี้ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะสะท้อนถึงบทบาทของพระมหากษัตริย์ในปัจจุบันและมองไปสู่อนาคต ในขณะที่พระราชพิธีได้หยั่งรากลงลึกไปตามโบราณราชประเพณี และความงดงามที่มีมาช้านาน รายละเอียดเพิ่มเติมจะประกาศให้ทราบในเวลาที่เหมาะสม”
มีรายงานว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะถูกย่นย่อจนเหลือเพียงแค่ 1 ชั่วโมง อย่างไรก็ดี สำนักพระราชวังบักกิงแฮมไม่ได้ออกมาให้ความเห็นต่อรายงานดังกล่าว โดยในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อปี 2496 ใช้เวลานานถึง 3 ชั่วโมง จากรายงานที่ยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการยังระบุอีกว่า แขกในงานจากเดิมเมื่อปี 2496 จำนวน 8,000 คน จะถูกตัดให้เหลือแค่เพียง 2,000 คนในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้
อย่างไรก็ดี แถลงการณ์ของสำนักพระราชบักกิงแฮม พยายามกล่าวเป็นนัยถึงการปรับเปลี่ยนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งจะมีโครงสร้างใกล้เคียงกันกับโบราณราชประเพณีที่มีมากว่าพันปี โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักรและพระราชวงศ์ได้ตระหนักถึงขนาดของการจัดพระราชพิธี ในขณะที่ประเทศกำลังประสบกับวิกฤตค่าครองชีพในตอนนี้
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกไม่ได้ถูกจัดขึ้นในวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยปกติพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะจัดขึ้นในวันอังคาร ทั้งนี้ รัฐบาลสหราชอาณาจักรไม่ได้ออกมาประกาศว่า ทางการจะประกาศให้วันดังกล่าวเป็นวันหยุดราชการหรือไม่ โดยปฏิบัติการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะมีชื่อเรียกว่า ‘ปฏิบัติการลูกโลกทองคำ’ (Operation Golden Orb) ซึ่งจะมีการกำหนดแผนงาน และการจัดกระบวนของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ตั้งแต่ พ.ศ.1609 ตลอดระยะเวลา 900 กว่าปีที่ผ่านมา พระราชพิธีบรมราชาภิเษกถูกจัดขึ้นที่เวสมินส์เตอร์แอบบีย์ โดยจะมีอาร์คบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีเป็นผู้ดำเนินพิธีการ โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 วางแบบแผนไว้ตามกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดา ซึ่งวางอยู่บนแผนการจัดพระราชพิธีตามสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 พระราชอัยกา แม้ว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะมีการจัดให้มีที่นั่งพิเศษเพิ่มมาถึง 8,000 ที่นั่ง
แหล่งข่าววงในพระราชวังระบุกับสำนักข่าว The Daily Mail ว่า ดยุกแห่งนอร์ฟอล์กในฐานะเอิร์ลมาร์แชล ซึ่งมีส่วนรับผิดชอบในการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้รับมอบหมายให้จัดพระราชพิธีที่เรียบง่าย สั้นลง และมีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสะท้อนสหราชอาณาจักรสมัยใหม่ “พระมหากษัตริย์ทรงถอดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกบางส่วนออกไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากทรงตระหนักว่าโลกได้เปลี่ยนแปลงไปในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา” แหล่งข่าวระบุกับ The Daily Mail
มีรายงานว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่ได้รับการหารือกัน คือ หัวข้อการแต่งกายที่ผ่อนคลายมากขึ้น โดยที่แขกผู้ร่วมงานอาจแต่งกายด้วยชุดเลานจ์สูทมากกว่าชุดสำหรับพิธีการ โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของประมุขพระองค์ใหม่ มักเกิดขึ้นภายหลังการขึ้นครองราชย์ หลังจากช่วงเวลาของการไว้ทุกข์ระดับชาติ และการไว้ทุกข์ระดับราชวงศ์ ซึ่งจะเป็นช่วงของการเตรียมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไปด้วยเช่นกัน
ที่มา: