ความทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยของเพื่อนมนุษย์กลายเป็นเรื่องโหดร้ายที่ ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งและชีวาภิบาล ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับใคร
“มะเร็งระยะลุกลาม คือมะเร็งที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ พูดง่ายๆ ว่า จะรักษาก็ไม่หาย ไม่รักษาก็ไม่หาย ผมอยากให้คนไข้ได้เลือกและพิจารณาว่าเขาควรจะมีชีวิตอยู่ต่อไปแบบไหน” คุณหมออิศรางค์บอกถึงที่มาของโครงการ ‘เยือนเย็น’ ทางเลือกสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง
“ยุคนี้ไม่ควรมีใครต้องทรมานจากมะเร็งครับ” เขาฉีกยิ้มกว้างใบหน้าสดใส
หัวใจสำคัญของการรักษาอยู่ที่ ‘การสนับสนุนคุณภาพชีวิต’ ที่ดีของทั้งผู้ป่วยและครอบครัว เปิดพื้นที่ให้ผู้ป่วยได้สื่อสารความปรารถนาของตนเองเพื่อให้เขามีความสุขมากที่สุด
“เราไม่อยากฟันธงว่ารักษาไม่หาย แต่บางสถานการณ์นั้นยากมาก การรักษาเพื่อยืดชีวิตยังต้องแลกกับความเจ็บปวด เช่น ผ่าตัด ฉายรังสี ให้เคมีบำบัด ถ้าคนไข้บอกไม่เอาแล้ว ตายไม่กลัว แต่ไม่อยากทรมาน ผมจัดให้ได้ ยุคนี้ไม่ควรต้องมีใครทรมานจากมะเร็ง ถ้าไม่กลัวตายซะอย่าง อยู่บ้านแฮปปี้ เราไปเที่ยวกัน”
ขั้นตอนสำคัญที่สุดของเยือนเย็น คือการประชุมร่วมกันของครอบครัวและญาติพี่น้อง เพื่อให้ทีมงานเยือนเย็นทราบข้อมูลที่เกี่ยวกับอาการของผู้ป่วย ขั้นตอนนี้เป็นกุญแจสำคัญ เนื่องจากเป็นการออกแบบการเดินทางร่วมกันครั้งสุดท้ายระหว่างผู้ป่วยและญาติ เพื่อจัดทิศทางและลำดับความสำคัญ
“ตกลงคนไข้ต้องการอะไรกันแน่ เราพบว่าจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เขาผ่านช่วงชีวิตที่ยอดเยี่ยมมาหมดแล้ว เมื่อเขารู้ว่ารักษาไปสุดท้ายก็ไม่หาย เขาบอกถ้างั้นฉันไม่เอาหรอก ขออยู่สบายๆ ทำในสิ่งที่ต้องการ ดีกว่าพลาดสิ่งที่อยากทำเพื่อทรมานอยู่โรงพยาบาล” ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ กล่าว
คนในครอบครัวร่วมสายเลือดเดียวกันย่อมมีความรักความหวังดีต่อผู้ป่วย และไม่อยากให้ท่านจากไปโดยไม่ได้รับรักษาอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราต้องตระหนักก็คือ นั่นเป็นความต้องการของท่านหรือความต้องการของเรากันแน่
คุณหมออิศรางค์ เล่าว่า ลูกๆ มักมีไอเดียและเสนอแนวการทางรักษาที่ต้องการให้พ่อแม่ได้รับ แต่แนวทางรักษาที่สำคัญของเยือนเย็นคือ ‘เราโฟกัสและสนใจคุณภาพชีวิตที่ผู้ป่วยต้องการ’ โดยพิจารณาอย่างรอบคอบว่า การอยู่โรงพยาบาลนั้นเป็นการเติมเต็มโอกาสหรือทำให้เราห่างไกลจากสิ่งที่ต้องการ
“คุณอยากหายจากโรคเพื่อไปใช้ชีวิตแบบที่ต้องการใช่หรือไม่” เขาบอกต่อ “เราอยากรู้ว่าชีวิตที่ว่านั้นคืออะไร เราอยากรู้ว่าคุณภูมิใจกับเรื่องอะไรมาบ้างในอดีตและต้องการอะไร เราอยากรู้ในรายละเอียดเพื่อเติมเต็มคุณภาพชีวิตที่ว่านั้นให้ได้ บางทีคนเราหวังว่าวันหนึ่งหายแล้วค่อยใช้ชีวิต แต่วันนั้นอาจจะไม่เกิดขึ้น”
หลังจากทีมงานเยือนเย็นรับรู้ความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัวอย่างชัดเจน ทีมงานจะพยายามทำทุกอย่างที่ห่างไกลจากความเจ็บปวดและทุกข์ทรมาน
“ยุคนี้ทำได้ ไม่ควรมีผู้ป่วยมะเร็งคนไหนต้องทนทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวด ไม่ใช่แค่บรรเทา แต่ทำให้เหลือศูนย์ด้วยยารักษาชนิดต่างๆ”
เขายกเคสตัวอย่างให้ฟังว่า เมื่อเร็วๆ นี้มีผู้ป่วยท่านหนึ่ง ตลอดชีวิตที่ผ่านมาใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ สูบบุหรี่ ทานอาหารตามใจปาก กระทั่งวันหนึ่งตรวจพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งปอด ด้วยความหวังดีของภรรยา เธอได้ปรับเปลี่ยนอาหารการกินและวิถีชีวิตของสามีเพื่อหวังช่วยยืดช่วงเวลาของการเป็นมนุษย์โลกออกไป อย่างไรก็ตามสามีกลับแสดงความผิดหวังด้วยคำพูดที่ว่า “เซ็ง เมื่อไหร่ฉันจะตายสักที”
เมื่อได้ยินดังนั้นเธอเข้าใจทันทีว่า “บทคนป่วยไม่ใช่เรื่องน่าสนุก” และนำมาปรึกษาคุณหมออิศรางค์เพื่อร่วมกันหาทางออกที่ดีที่สุด โดยให้น้ำหนักกับความต้องการของสามีเป็นสำคัญ
“เรานั่งคุยกันว่า เราทำทั้งหมดนี้ไปเพื่ออะไร เพื่อให้เขาอยู่นานที่สุดหรอ อยู่นานด้วยการอดกินไอ้นั่นไอ้นี่ มันใช่ชีวิตที่เขาต้องการไหม หรือเราอยากให้เขามีความสุขกับช่วงเวลาที่เหลือ จะตายเร็วขึ้นสัก 4-5 วันแต่มีความสุขและเข้าท่ามากกว่า แบบนี้คือสิ่งที่เขาต้องการไหม”
เช่นเดียวกันกับลูกๆ คุณจำเป็นต้องถามตัวเองว่า คุณอยากให้พ่ออยู่นานขึ้นเพื่อตัวเองจะได้ทำสิ่งดีๆ เพื่อพ่อใช่ไหม “ถ้าใช่คุณสามารถทำได้เลยตอนนี้”
“จัดทริปกันเลยดีไหม เพื่อให้พ่อแฮปปี้ พ่อก็โอเค ดีกว่าอยู่โรงพยาบาลแล้วโดนบังคับ สุดท้ายพากันไปทะเล เที่ยวกันอย่างมีความสุข ถึงวันสุดท้ายของชีวิตทุกอย่างจบลงอย่างที่ไม่มีอะไรค้างคาใจ” คุณหมอเล่าถึงประสบการณ์ที่ตัวเองได้สัมผัสมากับครอบครัวหนึ่ง
ปี 2561 กรมการแพทย์ เปิดเผยสถานการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทยว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 มีผู้ป่วยรายใหม่ วันละ 336 คน หรือ 122,757 คนต่อปี และพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งวันละ 215 คน หรือ 78,540 คนต่อปี โดยมะเร็ง 5 อันดับเเรกที่คร่าชีวิต ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และมะเร็งปากมดลูก
ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ แนะนำว่าหากคุณเป็นมะเร็ง นั่นเป็นสัญญาณเตือนว่าชีวิตเริ่มไม่แน่นอนเสียแล้ว ขอให้ตั้งสติและอย่าไปกลัว โดยในระยะ 1-2 ยังมีโอกาสสูงมากที่จะหายขาด ซึ่งเราควรต่อสู้กับมันอย่างเต็มที่
ขณะที่ครอบครัว คุณหมอแนะนำว่าควรตระหนักว่า ‘ชีวิตเป็นของเขา’ เขาควรจะเป็นผู้อำนวยการชีวิตของตัวเอง ขณะที่พวกเรามีหน้าที่เติมเต็มความสุข
“บางทีความรักก็ทำให้ผู้ป่วยเจ็บตัวโดยไม่จำเป็น และหลายครั้งเราก็แคร์ตัวเองและญาติพี่น้องโดยละเลยความรู้สึกของคนป่วย”
ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งและชีวาภิบาลบอกต่อว่า สังคมไทยมีคนประเภทที่มีความหวังดีสูงและชอบแนะนำแนวทางการรักษาต่างๆ ที่ได้ยินต่อมา โดยไม่รู้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง รวมถึงหลายครั้งยังสร้างความรำคาญใจให้กับผู้ป่วยอีกด้วย
“ความรักความหวังดีหลายครั้งก็เที่ยวไปแทรกแซงชีวิตของคนอื่นตลอดเวลา รู้ดีกว่าเจ้าของชีวิตเขาเสมอ ผู้ป่วยถูกบีบบังคับด้วยความรัก เจอครอบครัวรุมให้คำแนะนำ แต่กลับไม่มีใครฟังความคิด ความรู้สึกที่แท้จริงของผู้ป่วย จนสุดท้ายเขาเลือกที่จะปิดความรู้สึกไว้เป็นความลับและไม่อยากฟังคำแนะนำที่ไม่ได้เรื่อง”
ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ ผู้นำโครงการ ‘เยือนเย็น’ ที่มีความหมายถึง การไปเยี่ยมเยียนที่นำความสุขมาให้กับกายและจิตใจ บอกทิ้งท้ายว่า อย่ายัดเยียดสิ่งที่อีกฝ่ายไม่ต้องการ โดยเอาความรักมาเป็นข้ออ้าง และไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นตราบาปหากปล่อยให้ผู้ป่วยที่เรารักได้เลือกเส้นทางชีวิตของตัวเอง
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อเยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคมได้ที่ Line ID yyen2018 หรือโทร 080-776-6712
ผู้ที่เข้าร่วมโครงการเยือนเย็น หลังจากกรอกรายละเอียดและสมัครสมาชิก จะมีวางแผนการดูแล วางแผนการเยี่ยมบ้านผู้ป่วย โดยมีการติดตามและให้คำปรึกษาผ่านทางไลน์ โทรศัพท์ รวมถึงการพบปะส่วนตัว