นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ และผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ผ่านระบบการประชุมทางไกลวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ว่า ตนได้มอบนโยบายในการจัดการศึกษาทางไกลในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้แก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจ เตรียมพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 ก.ค. 2563
โดยได้กำหนดมาตรการสำหรับการจัดการเรียนการสอนไว้ 3 มาตรการ ซึ่งหากสถานการณ์ดีขึ้น ก็สามารถจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้ แต่หากทำไม่ได้ก็จะจัดการเรียนการสอนแบบทางไกลแทน
ช่องทางที่หนึ่ง คือการเรียนผ่านทีวีดิจิทัล ซึ่งขณะนี้ได้ประสานกับ กสทช. ในการจัดสรรช่องทีวีที่จะใช้เป็นทีวีเพื่อการศึกษา
ช่องทางที่สอง คือการเรียนในระบบทางไกลผ่านดาวเทียม โดยความอนุเคราะห์ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (DLTV) สำหรับชั้นอนุบาลถึงชั้นม.3
ช่องทางที่สาม คือการเรียนแบบออนไลน์ สำหรับนักเรียนชั้นม.4-6 เป็นการเรียนแบบสองทาง ครูสามารถสื่อสารกับนักเรียนได้ ซึ่งจากการสำรวจพบว่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายกว่าร้อยละ 90 มีอุปกรณ์ที่พร้อมใช้งานทั้งสมาร์ตโฟน แท็บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะมีการทดลองการเรียนการสอนทางไกล ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. - 30 มิ.ย. นี้
เบื้องต้นวางแผนการเรียนการสอนใน 3 ช่องทาง ซึ่งเมื่อถึงเวลาเปิดภาคเรียนหากพื้นที่ไหนมีความพร้อมก็สามารถจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้ โดยต้องอยู่ภายใต้มาตรการของกรมควบคุมโรค ส่วนในเรื่องที่ไม่มีวันหยุดระหว่างภาคเรียนที่ 1 นั้น ทางโรงเรียนสามารถดูชั่วโมงการสอน หรือจัดตารางเรียนที่เหมาะสม เพื่อให้มีวันหยุดภาคเรียนได้
สพฐ.จัดทดลองการเรียนการสอนทางไกล 18 พ.ค. - 30 มิ.ย. นี้
นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า หลังเลื่อนการเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2563 เป็นวันที่ 1 ก.ค. 2563 สพฐ. จึงจำเป็นต้องดำเนินการจัดการศึกษาเพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้จากที่บ้าน หรือ Learn From Home ด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจัดการเรียนการสอน ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งในระบบทางไกลผ่านดาวเทียมโดยความอนุเคราะห์ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และระบบออนไลน์ ออฟไลน์ ในระยะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้เหมาะสมครอบคลุมตามความพร้อมของผู้เรียน
สพฐ. จึงได้จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจการจัดการศึกษาทางไกลในสถานการณ์โรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อเป็นหน่วยงานกลางด้านการประสานงานและการกำกับติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาทางไกล โดยในระยะแรกนี้ สพฐ. ได้ดำเนินการสำรวจความพร้อมด้านอุปกรณ์การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และระบบการบริหารจัดการเรียนการสอน การกำหนดรูปแบบการจัดการเรียนการสอนทางไกลโดยใช้สื่อออนไลน์ แบ่งเป็นระดับชั้นอนุบาล ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 และมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ใช้สื่อการเรียนการสอนของการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม DLTV และในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4–6 ใช้สื่อของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ผลิตขึ้นมาสำหรับการจัดการเรียนการสอนทางไกลในครั้งนี้ อนาคตจะมีการพัฒนาไปสู่การจัดการเรียนการสอนแบบสื่อสารสองทาง ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1–6 โดยจะจัดให้มีการทดลองการเรียนการสอนทางไกลในวันที่ 18 พ.ค. – 30 มิ.ย. 2563 นี้
ในส่วนของทีวีดิจิทัลเพื่อการศึกษา ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 เม.ย. ที่ผ่านมา มีมติให้ใช้ช่องทีวีรวมทั้งสิ้น 17 ช่อง แบ่งเป็นช่องทีวีดิจิทัล 15 ช่อง รวมกับช่องไทยพีบีเอส (Thai PBS) และกรมประชาสัมพันธ์ (NBT) อีก 2 ช่อง ใช้เป็นทีวีเพื่อการศึกษา เมื่อผ่านการพิจารณาจัดสรรจาก กสทช. แล้ว สพฐ. จะแจ้งรายละเอียดให้ทราบต่อไป