เมื่อรัฐชักช้า และปัญหาจ่ออยู่ตรงหน้า ในยามหน้าสิ่วหน้าขวานอย่างนี้ เอกชนจึงอาสาทำให้ ช่วงนี้ชาวออนไลน์จะได้เห็นแอปพลิเคชันหลายตัวออกมาให้ทดลองใช้ ทั้งแอปฯ ที่ติดตาม ย้อนรอย ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ว่าอยู่จุดไหน แอปฯ สำหรับตรวจสอบติดตามกลุ่มคนที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดต่อเนื่อง แอปฯ จัดการข่าวสารเรื่องโควิด-19 เพื่อคัดกรองข่าวไหนจริงข่าวไหนเท็จ เป็นต้น
แล้วสัปดาห์หน้านี้ (23 มี.ค.) ผู้ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับโควิด-19 จะได้พบกับอีกแอปพลิเคชัน คือ 'Safe-T' ที่มาจาก Safe Thailand ที่จัดทำโดยสถาบันนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท ณุศา ศิริ จำกัด (มหาชน) บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ปกติทำธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ สวนสนุก 'เลเจนด์ สยาม' (Legend Siam) ร่วมมือกับสถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สภาวิจัยแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานกองทุนส่งเสริมการวิจัย (สกสว.)
'ศิริญา เทพเจริญ' รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ณุศา ศิริ จำกัด (มหาชน) เล่าว่า ตอนนี้ธุรกิจหลายอย่างก็แทบไม่ได้ค้าขายกันอยู่แล้ว โดยส่วนตัว ตนเป็นหนึ่งในผู้ที่ประสบความกังวลใจว่าจะติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่มาก่อนหน้านี้ ในฐานะที่เดินทางมาบนเครื่องบินลำเดียวกันคุณตาคุณยา ที่นั่งเครื่องกลับมาจากญี่ปุ่น และเมื่อมาถึงเมืองไทยไม่กี่วันก็มีรายงานข่าวว่า คุณตาคุณยาตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19
"ตอนนั้นเราก็กังวลมาก เพราะว่าในไฟลต์ที่เดินทางกลับมาพร้อมครอบครัว มีลูกมีหลาน พอกลับมาเจอข่าวคุณตาคุณยาที่มาเที่ยวบินเดียวกัน เราก็แพนิคกันไปหลายวัน" ศิริญา กล่าว
ประกอบกับ บริษัทมีโครงการทำนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์กับสถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังที่ดำเนินการร่วมกันมาสักพักอยู่แล้ว ซึ่งตอนนี้ทำแพลตฟอร์มรวบรวมเครือข่ายการแพทย์ทั่วโลก แล้วใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาวิเคราะห์หาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการรักษาผู้ป่วยต่างๆ หรือ ทำการตลาดการรักษาเป็นเมดิคัล ฮับสำหรับประเทศไทย
กระทั่งเกิดเรื่องโควิด-19 จึงได้สลับเอาคนที่ทำงานส่วนนั้นมาร่วมกันทำแอปพลิเคชัน 'safe-T' เพราะเห็นว่ามันเป็นความจำเป็นสำหรับประเทศไทยตอนนี้ ซึ่งก็เห็นกันชัดว่าช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา คนไทย ธุรกิจไทยได้รับผลกระทบ สายการบิน โรงแรมท่องเที่ยว ร้านค้าต่างๆ ได้รับผลกระทบหมด บางแห่งต้องปิดกิจการ สถานการณ์เหล่านี้จึงผลักดันให้เกิดแอปพลิเคชันนี้ ที่เกิดขึ้นมาลดความกลัวความกังวลของคนในสังคม
"ตอนนี้คนกลัว ไม่กล้าออกบ้าน ไม่กล้าไปเดินห้าง ใช้ชีวิตอย่างที่ผ่านๆ มา ทั้งๆ ที่โรคนี้เกิดกับคนยังไม่ถึง 1,000 คน แต่ทำให้คนไทยอีก 60 กว่าล้านคนไม่กล้าออกบ้าน เกิดความกลัว เกิดความเครียด สุขภาพจิตแย่ไปหมด"
ศิริญาและทีมงานจึงทำแอปพลิเคชันที่จะทำให้คนไทยรู้สึกปลอดภัย และคาดว่าในอนาคตนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาประเทศไทยก็จะมั่นใจที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจน ถูกต้อง มีประโยชน์กับการเฝ้าระวัง รวมถึงการดูแลตนเองในช่วงเวลาเดินทาง เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที
ด้วยหลักของแอปฯ นี้ จะร่วม 4 เรื่องใหญ่ ได้แก่ Safe T PLACE ระบุพิกัดพื้นที่ปลอดเชื้อได้อย่างแม่นยำ, Safe T WATCH ระบบการเช็กอาการตัวเองในแต่ละวันเพื่อความมั่นใจ, Safe T SURVEY สำรวจว่าพื้นที่ไหนปลอดภัย พื้นที่ไหนมีความสุ่มเสี่ยง และSafe T REPORT รายงานสถานการณ์ Update ของ COVID-19 ทุกวันแบบเกาะติด
สำหรับ 'Safe Place' หรือ สถานที่ปลอดภัย ได้ร่วมกับสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว หรือ แอตต้า ที่จะนำสมาชิกหลายหมื่นรายเข้ามาร่วมกรอกลงทะเบียบและให้ข้อมูล เป็นความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวและผู้ใช้บริการว่า เมื่อคุณไปสถานที่ต่างๆ เหล่านี้ คุณจะปลอดภัย ขณะที่สถานที่ร้านค้าและหน่วยให้บริการท่องเที่ยวเหล่านี้ ก็จะทราบว่ามีลูกค้าที่ปลอดภัยมาใช้บริการ และเป็นสถานที่ที่มีแนวทางรักษาความสะอาดตามมาตรฐานกรมควบคุมโรค
ส่วน 'Safe Watch' จะเป็นส่วนที่สามารถตรวจสอบตัวผู้ใช้แอปฯ จากคำถามง่ายๆ ตาม เช่น ใกล้คนที่มีอาการหรือไม่ เดินทางจากประเทศหรือไม่ อยู่ใกล้ความเสี่ยงหรือไม่ เหล่านี้ เมื่อกรอกและตรวจสอบสถานะของตัวผู้ใช้แอปฯ ด้วยตัวเองแล้ว ในหน้าจอจะปรากฎหมุดสีต่างๆ เช่น สีม่วง หมายถึงคนยังไม่ได้ลงทะเบียนแอปพลิเคชัน, สีเหลือง คนที่เฝ้าระวัง, สีเขียว คนที่ปลอดเชื้อไวรัสโควิด-19 และสีแดง คือคนที่ติดเชื้อ เป็นต้น
ขณะที่ 'Safe Survey' เป็นการสำรวจว่าในพื้นที่นั้น มีจุดสีใดเกิดขึ้นบ้าง เพื่อให้ผู้ใช้งานได้ตัดสินใจว่า สถานที่ใดควรไป สถานที่ใดควรหลีกเลี่ยง ส่วน 'Safe Report' จะมีข่าวสารเกี่ยวกับโควิดทั้งในและต่างประเทศที่คัดกรองความน่าเชื่อถือแล้วมาเผยแพร่ รวมถึงสถิติผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศที่อัปเดตในแต่ละวัน
"กลุ่มสำคัญ คือกลุ่มสีเหลือง หรือคนที่ต้องเฝ้าระวัง คือคนกลุ่มนี้ไม่รู้ว่าตอนนี้ตัวเองติดไวรัสแล้วหรือไม่ ซึ่งถ้ามาลงทะเบียนไว้ในแอปฯ เขาก็จะสามารถเช็กตัวเองได้ แล้วก็จะคล้ายกับในจีน คือพอเข้าตึกไหนก็โชว์ผลจากในแอปฯ ว่าเช็กแล้ว ไม่มีความเสี่ยง ทางสถานที่ที่ไปก็สบายใจให้เราไปได้ ตัวเราก็จะสบายใจว่า เราไม่ได้ติดเชื้อ แล้วถ้าภายใน 14 วันคุณไม่มีไข้ ไม่มีอาการบ่งชี้ว่าเป็นผู้ติดเชื้อ หมุดของคุณจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวให้โดยอัตโนมัติ"
'ศิริญา' ย้ำว่า แอปฯ นี้ไม่ได้บอกให้เลิกกลัว แต่ความกลัวต้องมีเหตุผล และการมีแอปฯ นี้จะช่วยให้สบายใจได้ว่า แต่ละคนจะไปในจุดใดที่ปลอดภัย ปลอดผู้ติดเชื้อได้บ้าง เพราะในแอปฯ จะแสดงแผ่นที่เพราะจุดสีที่บ่งชี้ว่า ตรงไหนมีคนที่ต้องเฝ้าระวัง ตรงไหนมีผู้ติดเชื้อ และตรงไหนมีคนที่ปลอดเชื้อ แล้วสิ่งทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นจากการร่วมกันพัฒนาแอปฯ นี้คือ การสร้างสถานที่ปลอดภัย การสร้างการท่องเที่ยวปลอดภัย และสร้างความปลอดภัยให้ประเทศไทย
"เหมือนสโลแกนของเซฟทีที่ว่า สร้างสังคมปลอดภัย ด้วยเอไอต้านโควิด โดยเฉพาะในฐานะที่เราอยู่ในภาคเอกชน เราทำธุรกิจ เราก็ต้องการให้ประเทศไทยมีความปลอดภัย เพราะ safe travel safe thailand ถ้าทำแล้วคนปลอดภัย ใช้ชีวิตได้แบบไม่ประมาท เข้าถึงข้อมูลการเฝ้าระวัง คนก็จะกล้าออกจากบ้าน ออกมาใช้ชีวิตปกติ กล้าออกมาใช้จ่ายได้ เศรษฐกิจก็จะกลับคืนมาได้"
เพราะสิ่งที่เธอต้องการคือ ทำให้คนไทยได้ใช้ชีวิตปกติ บนความไม่ประมาท และหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่มาร่วมกันทำตรงนี้ ก็จะสามารถใช้แพลตฟอร์มนี้เป็นการประชาสัมพันธ์เรียกความมั่นใจจากนักท่องเที่ยวและผู้ใช้บริการได้ ลำดับต่อไปก็สามารถสร้างเส้นทางท่องเที่ยวปลอดไวรัสที่มีมาตรฐานความสะอาดได้ เป็นต้น
สำหรับผู้สนใจใช้แอปพลิเคชัน Safe-T สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยในอนาคตจะใช้ได้ทั้งระบบ iOS และ Android โดยการใช้งานจะเริ่มได้ในวันจันทร์ที่ 23 มี.ค.
ส่วนการใช้งานอย่างสมบูรณ์แบบจะเกิดขึ้นเมื่อมีผู้อาสาเข้ามาลงทะเบียนเพิ่มจำนวนมากขึ้น เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลที่มากพอสำหรับการพัฒนาการใช้งานให้ครอบคลุมพื้นที่ที่กว้างขึ้น และมีการตรวจสอบสุขภาพหรืออาการของประชาชนว่าเข้าข่ายเฝ้าระวังหรือไม่ ในจำนวนที่เยอะมากขึ้น
สิ่งสำคัญ นอกจากเอกชน-ประชาชนจะร่วมมือกันเป็นอาสากรอกข้อมูลแล้ว ฝั่งผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน คาดหวังจะได้รับความร่วมมือจากภาครัฐบาลให้ข้อมูลเชื่อมระบบด้วยเช่นกัน