วันที่ 29 ม.ค. ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล กล่าวถึงข้อเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน และการปรองดองสมานฉันท์ที่แท้จริงว่า ช่วงที่มีการจัดตั้งรัฐบาลนำโดย พรรคเพื่อไทย มักจะมีการอ้างว่า รัฐบาลดังกล่าวเป็นรัฐบาลสลายขั้วทางการเมือง แต่กลับยังมีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองจำนวนมาก โดยเฉพาะในเดือนมกราคมนี้ยังมีประชาชนที่อยู่ระหว่างฟังคำพิพากษา
ศศินันท์ กล่าวถึงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ฉบับพรรคก้าวไกล ซึ่งมีแนวคิดนิรโทษฯ ให้กับประชาชนทุกกลุ่มไปจนถึงก่อนการรัฐประหาร 2549 เนื่องจากมองว่า ประชาชนทุกกลุ่มในทุกช่วงเวลาล้วนแล้วแต่มีความหวังดีกับบ้านเมือง และเชื่อว่า จะสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทิศทางที่ดีได้ เพราะฉะนั้น ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีในห้วงเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมาก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน
ศศินันท์ กล่าวว่า ในสถานการณ์ที่สุกงอมที่สุด จุดสำคัญคือ ต้องนิรโทษฯ ประชาชนให้กลับออกมาใช้ชีวิตอย่างปกติ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด ถ้ารัฐไม่เคารพความเห็นต่างก็จะมีประชาชนถูกดำเนินคดีอยู่เรื่อยไป แต่ทั้งนี้ก็ย่อมเข้าใจรัฐบาลที่นำโดย ‘เพื่อไทย‘ เพราะคำว่า ’นิรโทษกรรม’ อาจเป็นคำแสลงหูที่นำไปสู่ชนวนของการรัฐประหาร แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นิรโทษกรรม เป็นการหาจุดร่วมของประชาชนที่ได้รับความสมานฉันท์จริงๆ
ศศินันท์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของพรรคก้าวไกลมีใจความสำคัญคือ การดูมูลเหตุจูงใจทางการเมืองเป็นหลัก ก่อนจะนำมาสู่คณะกรรมการวินิจฉัยเพื่อชี้ขาดว่า สมควรได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้น 3 ประการ ได้แก่
1.การยกเว้นการกระทำเจ้าหน้าที่รัฐที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ
2.ไม่นิรโทษกรรมคดีที่มีความผิดต่อชีวิตเว้นแต่กระทำโดยความประมาท
3.ไม่นิรโทษกรรมในคดีที่มีฐานความผิดตาม ม.113 หรือฐานก่อกบฏ หรือล้มล้างการปกครอง
ศศินันท์ ยอมรับว่า พรรคก้าวไกลมีการเดินสายพูดคุยกับคนหลายกลุ่มอย่างที่ปรากฎเป็นข่าว และพยายามมีวงย่อยหลายวงเพื่อแสวงหาโอกาสมรการรับเสียงสนับสนุนในการเสนอญัตติในสภาผู้แทนราษฎร
ถึงแม้ว่า ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลจะถูกสั่งให้ถอยในเรื่อง ม.112 แม้ว่า ในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับพรรคก้าวไกลจะไม่ได้มีการระบุเป็นมาตรา แต่ไม่ได้มีการตัดสิทธิเพื่อเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัย ดังนั้น ถ้าเราไม่หลับตาข้างหนึ่งก็จะเห็นปัญหาตรงกัน และไม่มีปัญหากับมาตรานี้