ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบรายงานผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดย World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development (IMD) ประจำปี 2564 ซึ่งประเทศไทยมีอันดับดีขึ้น 1 อันดับ มาอยู่ในลำดับที่ 28 จากทั้งหมด 64 เขตเศรษฐกิจ
โดยแม้คะแนนเฉลี่ยสุทธิในปีนี้จะลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 72.52 แต่มองว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกับเขตเศรษฐกิจทั่วโลกที่คะแนนสุทธิปรับตัวลดลง จากผลกระทบสำคัญเดียวกันคือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กระทบทุกภาคเศรษฐกิจทั้งการบริโภค การลงทุนในประเทศ การค้าระหว่างประเทศ และการท่องเที่ยว
จากรายงานดังกล่าวของ IMD พบว่า สวิตเซอร์แลนด์รั้งอันดับหนึ่ง ประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุด ประจำปีนี้ โดยนับเป็นการปรับตัวดีขึ้นถึงสองอันดับ เมื่อเทียบกับผลลัพธ์ของปีก่อนหน้า
ขณะเดียวกัน สองประเทศจากคาบสมุทรสแกนดิเนเวียอย่างสวีเดนและเดนมาร์กครองอันดับที่สองและสามตามลำดับ เนเธอร์แลนด์ตามเข้ามาในลำดับที่สี่ซึ่งเป็นอันดับเดิมเหมือนปี 2563
สำหรับสิงคโปร์นั้น จากเคยเป็นแชมป์โลกในปีที่ผ่านมา ปีนี้กลับหล่นลงอยู่อันดับที่ 5 แทน ด้านจีนแผ่นดินใหญ่ มีอันดับคะแนนดีขึ้นถึง 4 อันดับ ขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 16 ของตาราง
สำหรับการจัดอันดับครั้งนี้ แท้จริงแล้วไม่ได้มีแค่ขีดความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลและระดับศักยภาพของประเทศซึ่งวัดจากการลงทุนและการพัฒนาไปจนถึงความพร้อมด้านต่างๆ
หากเริ่มดูทีละหัวข้อให้ลึกลงไปกว่าตัวเลขภาพรวมจะพบว่า ในประเด็นขีดความสามารถในการแข่งขันที่มีลำดับดีขึ้น 1 อันดับ โดยขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 28 นั้น ไม่ใช่สถิติที่ดีที่สุดของไทยในช่วง 5 ปีมานี้ (2560-2564)
ในปี 2562 ไทยเคยขึ้นไปถึงอันดับที่ 25 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นถึง 5 อันดับจากปีก่อนหน้า แต่ก็ตกลงมาอยู่ในอันดับที่ 29 ในปีต่อมา
เมื่อหันมาดูในหัวข้อที่สองอย่างขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลต้องบอกว่าลำดับแทบไม่ได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเท่าไหร่ เพราะตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมานี้ ประเทศไทยอยู่ในอันดับระหว่าง 39-41 มาตลอด
ขณะที่หัวข้อย่อยในเรื่องเทคโนโลยีเห็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน จากอันดับที่ 30 ขึ้นมาเป็น 22 หัวข้ออย่างความรู้และความพร้อมในอนาคตกลับไม่เป็นเช่นนั้น ความรู้ของไทยในด้านดิจิทัลรั้งอันดับสี่สิบต้นๆ มาเสมอ ขณะที่ความพร้อมต่ออนาคตเคยหล่นลงไปถึงอันดับที่ห้าสิบ ก่อนขึ้นมาเป็น 45 ในปีที่ผ่านมา
ด้านสุดท้ายในฝั่งศักยภาพของไทยต้องบอกว่าเลวร้ายที่สุด จากที่เคยอยู่ในอันดับ 37 ในปี 2559 ประเทศเดินถอยหลังมาเรื่อยๆ จนมาอยู่ที่อันดับ 43 ในปี 2563 หัวข้อย่อยทั้งการลงทุนและพัฒนารวมไปถึงความพร้อมต่างก็แย่ลงเรื่อยๆ