ไม่พบผลการค้นหา
แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือตัวอย่าง 'การผูกขาด' ที่ดีที่สุดของโลกเช่นเดียวกัน - รายงานเผยเฟซบุ๊กทั้งเข้าซื้อ ข่มขู่ ไปจน "เลียนแบบ" ฟีเจอร์แพลตฟอร์มอื่น

สมัย 'พ่อขุนรามคำแหง' ชาวสุโขทัยอาจยังได้ "ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทอง ค้า" สอดประสานกับแนวคิด 'ทุนนิยม' (capitalism) ของ 'อดัม สมิธ' ที่บรรยายถึงการค้าขายเสรี ฉบับผู้ใดต้องการขายสิ่งใดเพื่อประโยชน์โพดผลของตัวเองย่อมทำได้ 

กลับมาปัจจุบัน 'เสรี' ไม่ได้หายไปจากกฎหมายของแทบทุกประเทศที่แนบแนวคิดทุนนิยมไว้กับระบอบประชาธิปไตย แต่พลเมืองกี่คนมีศักยภาพมากพอสร้างฟาร์มม้าเพื่อเลี้ยงแล้วนำมาขาย มีประชาชนกี่คนเข้าถึงเงินกู้จากธนาคารของรัฐและพาณิชย์หากพวกเขาไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

นอกจากยังไม่ต้องไปนับว่ามีประชาชนกี่คนที่มีทรัพย์สินเพียงพอไปค้ำประกัน อาจเห็นภาพได้ง่ายกว่าหากชี้ว่า ในปี 2560 ประชากร 689 ล้านคน มีชีวิตอยู่ด้วยเงินน้อยกว่า 1.90 ดอลลาร์สหรัฐฯ/วัน หรือประมาณ 57 บาท ขณะที่ตัวเลขคาดการณ์หลังจบวิกฤตโควิดอาจสูงขึ้นเป็น 703-729 ล้านคน 

ยังไม่นับว่าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับฟาร์มม้าอาจถูกผลิตมาจากเอกชนที่มีบริษัทแม่เดียวกันและเข้าไปบุกวงการแบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลาย (vertical integration) จนสามารถลดต้นทุนและผลิตสินค้าได้ในจำนวนมาก มีอำนาจต่อรองในการซื้อขายไปจนถึงการมีอำนาจเหนือตลาดหรือเหนือทุกคนที่เกี่ยวข้อง

'เสรี' ของโลกปัจจุบันจึงเป็นแค่ 'มหานครในฝัน' (utopia) และผู้คนส่วนใหญ่อยู่ใต้ 'สังคมเลวทราม' (dystopia) แทน 


สู่ความเป็นหนึ่ง : Facebook

บรรทัดแรกของบทความอธิบายแนวคิดทุนนิยมจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่า "หลักตลาดเสรีอาจไม่สมบูรณ์แบบแต่มันอาจเป็นแนวทางจัดการเศรษฐกิจได้ดีที่สุด" ความไม่สมบูรณ์นี้เองอาจนำไปสู่หายนะเช่นกัน

หากพูดถึง 'การผูกขาด' คงไม่มีบริษัทเอกชนใดโดดเด่นเกินไปกว่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานประจำราว 2,800 ล้านบัญชี/เดือน ตามข้อมูล ณ ไตรมาสที่ 4/2563

เฟซบุ๊ก - AFP

ทั้งยังเป็นเอกชนที่มีรายรับสูงถึง 28,072 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 852,000 ล้านบาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายรวมถึงภาษีทุกอย่างแล้ว บริษัทมีรายได้รวม 11,219 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 340,000 ล้านบาท ในห้วงเวลาตลอด 3 เดือนสุดท้ายของปี 2563 

ความยิ่งใหญ่ในมือ 'มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก' ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์ม ไม่เพียงนำมาซึ่งการครอบงำผู้ใช้งานหรืออำนาจต่อรองกับรัฐบาลทั่วโลก แต่ยังหมายถึงความพยายามรักษาความยิ่งใหญ่ของตัวเองไว้แบบไม่ให้ผู้อื่นได้ผุดได้เกิด 

ช่วงปลายปีที่ผ่านมา รายงานจาก คณะกรรมาธิการยุติธรรม สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ระบุอย่างชัดเจนว่าเฟซบุ๊กใช้ทุกวิถีทางเพื่อผูกขาดตลาดทั้ง เข้าซื้อบริษัทคู่แข่ง, เลียนแบบฟีเจอร์หรือลูกเล่นที่แพลตฟอร์มอื่นๆ ไปจนถึงการตั้งหน้าตั้งตาฆ่าผู้ริอาจมาต่อกรให้สิ้นซาก 

กรณีศึกษาที่สำคัญคือ รายงานบทสนทนาปี 2555 ระหว่างมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินของเขาในขณะนั้น ที่พูดถึงการเข้าซื้ออินสตาแกรมด้วยมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท 

คำพูดช่วงหนึ่งของซีอีโอเฟซบุ๊กมีใจความว่า "ถ้ามองให้ดี สิ่งที่เรากำลังซื้อจริงๆ คือเวลา...ถ้ามันมีคู่แข่งหน้าใหม่เกิดขึ้นมาจริงๆ การซื้ออินสตาแกรมตอนนี้...จะช่วยซื้อเวลาให้เราซักปีนึงหรือมากกว่านั้นที่จะบูรณาการของใหม่ๆ เหล่านั้น ก่อนที่ใครก็ตามจะผงาดขึ้นมาเทียบเท่าพวกเขา (อินสตาแกรม) อีกครั้ง"

บทสนทนาระหว่างการเจรจาเข้าซื้ออินสตาแกรมยังมีที่ระบุว่า "สักวันนึงพวกคุณจะต้องการร่วมมือกับเรา...แน่นอนว่าในระหว่างนั้นเราจะพัฒนากลยุทธ์รูปภาพของเรา ดังนั้น วิธีที่เราเลือกใช้จะเป็นตัวติดสินว่าเราจะเป็นพาร์ตเนอร์หรือคู่แข่งกับใครที่เข้ามาทางเดินนี้บ้าง และผมอยากทำให้มั่นใจว่าเราจะตัดสินใจเรื่องนี้กันอย่างถี่ถ้วน"

ไม่เพียงการเข้าซื้อกิจการ ข่มขู่ให้มาเป็นพวกพ้อง ไปจนถึงการเลียนแบบสารพัดลูกเล่นที่ผู้อื่นคิดมาได้จะช่วยเฟซบุ๊กทำลายคู่แข่งในปัจจุบัน สิ่งนี้ยังมาซึ่งการครอบครอง 'ข้อมูล' ที่จะช่วยให้เฟซบุ๊กตัดโอกาสคู่แข่งในอนาคตออกไป 

คอมพิวเตอร์ แฮกเกอร์ เจาะข้อมูล.jpg

หากย้อนกลับไปดูตัวเลขรายได้ไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 จากทั้งหมดราว 852,000 ล้านบาท พบว่ามีสัดส่วนจากการโฆษณาสูงเกิน 96%

ด้วยเหตุนี้ การที่แพลตฟอร์มเข้าถึงข้อมูลทุกรายละเอียดของชีวิตผู้ใช้งานมากเท่าไหร่ ระบบประมวลผลอัจฉริยะยิ่งสามารถสรรหาโฆษณาที่เชื่อได้ว่าผู้ใช้งานจะควักเงินมาจ่ายเพิ่มเท่านั้น ซึ่งก็จะกลับไปส่งผลดีกลับแพลตฟอร์มเป็นวงกลมเพราะบริษัทที่ซื้อโฆษณาได้ยอดขายและเลือกที่จะจ่ายเงินให้เฟซบุ๊กเป็นแหล่งกระจายโฆษณาสำคัญ


ผู้รักษาผลประโยชน์ ปชช.ไปอยู่ไหน

เฟซบุ๊กเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนผ่านเสรีภาพทางการค้าให้กลายไปเป็นการผูกขาดและเอื้อประโยชน์ในกลุ่มคนจำนวนน้อย ในห้วงเวลาเดียวกันผู้กำหนดนโยบายหรือฝ่ายรัฐบาลกลับไม่มีความสามารถในการยับยั้งพฤติกรรมเหล่านี้ 

งานศึกษากระบวนการควบรวมกิจการในสหรัฐฯ ระหว่างปี 2558 - 2562 พบว่า ในการควบรวมกิจการที่บริษัทซึ่งมีขนาดเล็กกว่ามีมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 300,000 ล้านบาท ทั้งหมด 78 กรณี หน่วยงานของรัฐมีความพยายามในการยับยั้งธุรกรรมดังกล่าวเพียง 5 กรณีเท่านั้น และสำเร็จเพียง 3 จากทั้ง 5 กรณี 

ในมิติที่คล้ายคลึง ช่วงปลายปีที่ผ่านมา คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผยว่า การรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้น จำกัดและบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ขออนุญาตรวมธุรกิจซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดในตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภคประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็ก จะมีอำนาจตลาดเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่เป็นการผูกขาด

กรรมการเสียงข้างมากยังระบุว่า การรวมธุรกิจดังกล่าวมีความจำเป็นตามควรทางธุรกิจและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจเพิ่มมากขึ้น แม้อาจส่งผลให้การแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสำคัญแต่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สำคัญอันควรมีควรได้ของผู้บริโภคส่วนรวม 

แน่นอนว่าทั้งภาคเกษตรรวมไปถึงภาคประชาชนออกมาตั้งคำถามกับคำตัดสินของ กขค.แต่ท้ายที่สุดแล้ว รัฐบาลกลางไม่ได้มองเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นขัดต่อตัวบทกฎหมายเพียงพอที่จะรับฟังเสียงประท้วงของประชาชน 

หากรัฐบาลทั่วโลกยังไม่สามารถผลักดันตัวเองให้ไปข้างหน้าเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนได้มากกว่านี้ 'สังคมเลวทราม' คงไม่หนีไปไหน

อ้างอิง; The Atlantic, WSJ, Open Society Foundation, The New Yorker, Foreign Affairs, CNBC

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;