ไม่พบผลการค้นหา
วงเสวนา ห่วงไทยพินาศใน 10 ปี หากผู้มีอำนาจไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง 'จาตุรนต์ -​ อภิสิทธิ์ -​ธนาธร' ยันเสนอปฏิรูปสถาบันได้ เห็นพ้องต้องแก้รัฐธรรมนูญ 'จาตุรนต์ -​ ธนาธร' ยัน ใครคิดรัฐประหารจะไม่ง่ายเหมือนเดิม พร้อมออกโรงต้าน

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดงานในวาระครบรอบ 60 ปี ศ.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ โดยมีการเสวนา 'ประเทศไทยในทศตวรรษหน้า'

จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ใน 10 ปีข้างหน้า ไทยต้องเตรียมฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ทั้งการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน เพื่อรับมือ disruption และสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงภาวะตกงาน การพึ่งตนเองไม่พึ่งการส่งออกหรือท่องเที่ยว ตลอดจนการแก้ไขความเหลื่อมล้ำ ซึ่งไม่สามารถจะทำได้ หากผู้มีอำนาจยังไม่ตระหนัก และยังมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของ คสช.ที่มีปัญหาและขัดขวางอยู่

จาตุรนต์.jpg
  • จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี

จาตุรนต์ เห็นว่า 10 ปีข้างหน้าควรเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง ให้การเมืองไม่ขัดขวางการสร้างประชาธิปไตย แต่เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาให้ประเทศพ้นจากวิกฤตต่างๆ สู่การพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าต่อไป โดยปัญหาที่ใหญ่ที่สุดขณะนี้ คือ การสร้างรัฐธรรมนูญและกลไกต่างๆ เพื่อสืบทอดอำนาจในอภิสิทธิ์ชนหรือคนกลุ่มเล็กๆ ซึ่งจะสร้างปัญหาให้ประเทศไปอีกยาวนาน

จาตุรนต์ ยืนยันว่า การเคลื่อนไหวชุมนุมของเยาวชนนักศึกษามีความชอบธรรม ทั้งข้อเสนอนั้นชัดเจนว่า ให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ ด้วยการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ซึ่งผู้มีอำนาจควรรับฟัง แต่ต่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลาออกจากตำแหน่งหรือยุบสภา ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หากไม่แก้ไขหรือสร้างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย 

ในช่วงตอบคำถามเกี่ยวกับข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันฯ จาตุรนต์ กล่าวว่า ไม่มีอะไรที่ผิดกฎหมาย ถ้าจะใช้เป็นเหตุก่อรัฐประหารก็ฟังไม่ขึ้น และจะสร้างความเสียหายต่อทั้งผู้ก่อการและต่อประเทศชาติโดยรวม ส่วนตัวยืนยันว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย การรัฐประหารล้วนแต่ทำให้ประเทศไทยย่ำแย่และเสียหายหนักขึ้น แต่หากจะขึ้นอีกในอนาคต เชื่อว่า การรักษาและการครองอำนาจของคณะรัฐประหารจะไม่ราบรื่นอย่างที่ผ่านมา

ธนาธร.jpg
  • ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

ด้านธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เริ่มเล่าถึงความฝันตัวเองว่า ต้องการเห็นระบบการเมืองที่มีอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ที่มีพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมืองและอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ, ด้านเศรษฐกิจต้องเปิดกว้าง จัดสรรทรัพยากรเพื่อประโยชน์คนส่วนใหญ่ไม่ใช่ผูกขาดโดยคนไม่กี่ตระกูล และต้องการรัฐสวัสดิการ ตลอดจนการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ด้วยเทคโนโลยีของไทยเอง 

ธนาธร กล่าวด้วยว่า ไม่ใช่ความฝันของตนคนเดียว แต่เชื่อว่ามีหลายสิบล้านคนที่อยากเห็น แม้เมื่อตนเสนอสู่สังคมจะโดนกล่าวหาว่า 'ชังชาติ' ก็ตาม แต่ย้ำว่า หากยอมให้ประเทศไทยเป็นอย่างที่ผ่านมา อนาคตที่อยากเห็นจะเป็นไปได้ ดังนั้น วันที่ 19 ก.ย.นี้ ครบ 14 ปีรัฐประหาร เป็นโอกาสที่จะหันกลับไปมองว่ามีอะไรเกิดขึ้นและที่ได้ทำมาบ้าง ที่ทำให้สังคมไทยโดยมาถึงทางตันตรงจุดนี้ได้

ธนาธร เสนอว่า ขั้นแรกที่สุดต้องหยุด 'ระบอบประยุทธ์' ที่อยู่ในรูปของรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้ได้ก่อน เพื่อเปิดประตูสู่อนาคตที่ดีกว่า และต้องการสร้างกลไกหรือระบบเพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศไทยวนกลับมาที่เดิมหลังจากนั้น อย่างน้อย 5 ข้อ คือ 

1.ปฏิรูประบบราชการ ยกเลิกการรวมศูนย์อำนาจ

2.ปฏิรูปกองทัพให้อยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน

3.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และองค์กรอิสระ

4.ยกเลิกการผูกขาดระบบเศรษฐกิจในประเทศไทย

5.ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้สร้างความกระอักกระอ่วนให้กับหลายคน แต่ขอให้ย้อนกลับดูประวัติศาสตร์ว่า บทบาทสถานภาพของสถาบันฯ กับประชาธิปไตยในปัจจุบัน สอดคล้องกันหรือไม่อย่างไร

ธนาธร ระบุด้วยว่า การชุมนุมโดยสันติปราศจากอาวุธ เป็นเครื่องมือเดียวที่ประชาชนจะสร้างอำนาจการต่อรอง จะอาศัยนักการเมืองในรัฐสภาอย่างเดียวไม่ได้

อภิสิทธิ์.jpg
  • อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในทางกฎหมายพูดเรื่องสถาบันฯได้ แต่ต้องระมัดระวังเรื่องความละเอียดอ่อนด้วย ไม่ให้คนมองว่าดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายหรือเรื่องอะไรที่ผิดกฎหมาย เชื่อว่า จะมีส่วนสำคัญทำให้ผู้มีอำนาจต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเส้นทางที่ค่อนข้างแคบในสภาวะที่เป็นอยู่ ดังนั้น ทุกฝ่ายที่ต้องช่วยกันจริงๆ

ส่วนอีก 10 ปีข้างหน้าเชื่อว่า จะเกิดการปะทะกันทางความคิดอย่างรุนแรงในไทย ระหว่างคนจำนวนมากที่เห็นว่าต้องเปลี่ยนเเปลงเชิงโครงสร้างกับกลุ่มคนที่ไม่พร้อมจะเปลี่ยนแปลง ดังนั้นไทยต้องจัดระบบโครงสร้างแบบใหม่ที่ภาครัฐต้องปรับบทบาทไปสู่การสนับสนุนให้ทุกคนและทุกฝ่ายได้ประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลง ต้องไม่รวมศูนย์อำนาจ แต่ภาครัฐต้องมีความคล่องตัวเพื่อตอบสนองประชาชนได้อย่างรวดเร็ว 

สำหรับความหวังต่อ ส.ส.ในรัฐสภานั้น ถึงอย่างไรก็ต้องพึ่ง หากต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือตอบรับข้อเสนอของผู้ชุมนุม แต่ก็ยังไม่เห็นเจตจำนงที่ชัดเจนของเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภา ว่ารับฟังและเข้าใจข้อเสนอจริงจังมากแค่ไหน

อภิสิทธิ์ มองว่า ทิศทางอนาคตเป็นไปได้ 3 ทาง คือ 1.ปะทะกันจนแตกหัก ที่มีความรุนแรงสูญเสีย หากสังคมยังแบ่งขั้วและผู้มีอำนาจไม่ตระหนักถึงความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง

2.ผ่านไปได้แบบ "มั่วๆ ไป" อย่างที่เป็นมา คือ มีวงจรอุบาทว์ 

3.หาจุดร่วมแล้วเดินไปด้วยกันได้ ซึ่งผู้มีอำนาจต้องยอมรับและเป็นผู้เริ่มอย่างจริงใจ