นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์นี้ ประเทศไทยจะมีสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด อุณหภูมิตั้งแต่ 36-41 องศาเซลเซียส ในวันนี้ (7 พ.ค.) บางจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุณหภูมิสูงถึง 42 องศาเซลเซียส จึงขอให้ประชาชนระวังการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นตั้งแต่มีอาการเพียงเล็กน้อย ไปจนถึงอาการรุนแรงที่อาจเสียชีวิต ได้แก่ เพลียแดด โรคลมร้อนหรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) เกิดจากการทำกิจกรรมหรือทำงานในที่อากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน จนร่างกายไม่สามารถปรับตัวและควบคุมความร้อนในร่างกาย ส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ทำงานล้มเหลว
โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีอาชีพทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น กรรมกร ก่อสร้าง เกษตรกร กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีและผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง คนอ้วน ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ และผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
"ในช่วงอากาศร้อน ต้องใส่ใจดูแลทั้งตัวเองและคนรอบกาย โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่มีโรคประจำตัว และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ถ้าอากาศร้อนจัดควรงดออกไปกลางแจ้ง งดออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแดดเป็นเวลานาน ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อร่างกาย วันละ 8-10 แก้ว สวมเสื้อผ้าระบายอากาศได้ดี และไม่ควรดื่มสุราขณะอากาศร้อน" นพ.สุขุมกล่าว
ด้านนพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระหว่างเดือนมี.ค.-พ.ค. ตั้งแต่ปี 2558-2562 พบรายงานผู้เสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อนทุกปี เฉลี่ยปีละ 38 ราย โดยในช่วงฤดูร้อนปี 2562 ซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูง 40 องศาเซลเซียส มีผู้เสียชีวิตถึง 57 ราย มากที่สุดในเดือนเม.ย. โดยอาชีพรับจ้างร้อยละ 23 คนเร่ร่อนร้อยละ 9 และเกษตรกรร้อยละ 7 ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวร้อยละ 39 เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ การดื่มสุราประจำร้อยละ 19 ทำกิจกรรมเสี่ยงกลางแจ้งร้อยละ 21
ผู้ที่มีอาการฮีทสโตรก จะมีอาการตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่มีเหงื่อออก กระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน ควรให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยรีบนำผู้ป่วยเข้าในที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวก ให้ดื่มน้ำเย็น ให้นอนราบและยกเท้าทั้งสองข้างขึ้นสูง ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามหน้าผาก ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ ร่วมกับใช้พัดลมเป่าช่วยระบายความร้อน เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงโดยเร็วที่สุด ถ้ามีอาการรุนแรง หมดสติ ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที หรือโทรสายด่วน 1669