นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุถึง 5 คำถามที่สังคมอยากฟังคำตอบเมื่อเห็นรายชื่อ ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้ง คสช. ว่า 1.งบประมาณ 1,300 ล้านบาทที่ใช้ในกระบวนการเพื่อให้ได้ ส.ว. จำนวน 250 คนนั้น เอาไปทำอะไรบ้างถึงได้ใช้งบประมาณมากมายขนาดนั้น ทั้งที่ ส.ว.ที่ประกาศออกมาล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับ คณะคสช.และรัฐบาล แทบทั้งสิ้น
2.ตามรัฐธรรมนูญได้ระบุกระบวนการขั้นตอนในการคัดสรร ส.ว. เอาไว้อย่างชัดเจน ซึ่งมาตรา 269 (1) กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหา ส.ว. คณะหนึ่งซึ่ง คสช. แต่งตั้งจากผู้คุณวุฒิซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ และมีความเป็นกลางทางการเมืองจำนวนไม่น้อยกว่า 9 คน แต่ไม่เกิน 12 คนมีหน้าที่ดำเนินการสรรหาบุคคลซึ่งสมควรเป็น ส.ว. แต่ในทางปฏิบัติสังคมกลับมองไม่เห็นขั้นตอนดังกล่าว มีแต่ความคลุมเครือไม่ชัดเจน ไม่เคยมีคำตอบใดๆจากผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบเกี่ยวข้อง ราวกับเป็นการเลือกสรรกันอยู่ในแดนสนธยา
3.วันนี้รายชื่อ ส.ว. ประกาศรายชื่อออกมาแล้ว แต่สังคมไม่เคยรับรู้ว่า นอกจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่เป็นประธานกรรมการสรรหาแล้ว มีใครเป็นคณะกรรมการสรรหาบ้าง ทั้งที่ควรต้องมีความโปร่งใสชัดเจนว่าคณะกรรมการสรรหานั้น ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน มีความเป็นกลางทางการเมืองแต่เราไม่เคยได้รับความกระจ่างชัดในคำถามข้อนี้เลย
4.สำคัญที่สุดคือ ส.ว.ชุดนี้ขาดความหลากหลายของกลุ่มอาชีพ เนื่องจากมีรายชื่อของบุคคลที่เป็นทหาร ตำรวจ ทั้งในและนอกราชการถึงกว่า 100 คน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจะมีความเข้าใจในสภาพปัญหาและความต้องการของพี่น้องประชาชนได้อย่างไร
5.ในอดีตเคยวิพากษ์วิจารณ์ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งว่าเป็น สภาผัวเมีย แต่วันนี้ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งจาก คสช. กลายเป็นสภาเครือข่ายเพื่อนพ้องน้องพี่ ซึ่งแต่งตั้งให้มาเลือกผู้มีอำนาจคนเดิมกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อสืบทอดอำนาจอีกครั้ง แทนที่จะเป็นการเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจากความต้องการของพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งมีผลที่ชัดเจนจากการเลือกตั้ง
"คำถามทั้งหมดนี้ ผมเชื่อว่าทุกคนในสังคมไทยอยากได้ยินคำตอบที่ชัดเจนจากผู้มีอำนาจ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการเคารพและเห็นความสำคัญของสิทธิ์และเสียงของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ" นายภูมิธรรม ระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง