ไม่พบผลการค้นหา
ดีเอสไอ เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พร้อมจัดตั้งศูนย์ปราบปรามไซเบอร์ขึ้นมาโดยเฉพาะเข้าที่ประชุม ครม. ในสัปดาห์หน้า

พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นประธานเปิดโครงการระวังป้องกันภัยทางไซเบอร์ ตามแนวทางร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ 2550 และ พ.ศ.2560 เป็นแนวทางปฏิบัติงานร่วมกันในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ และ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เพื่อบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ 

โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผู้เข้าร่วมรับฟัง อาทิ ศูนย์ไซเบอร์ทหาร สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองบัญชาการกองทัพไทย ศูนย์ไซเบอร์กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม ศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก ศูนย์ไซเบอร์กรมสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศทหารเรือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กองบังคับการกองปราบผู้แทนจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ สถาบันนิติเวช

พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวว่า ปัจจุบันอาชญากรรมไซเบอร์มีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี ขณะที่สถาบันการเงินหารือกับดีเอสไอถึงข้อกังวลเกี่ยวกับข้อมูลลูกค้าที่อาจถูกโจรกรรม กระทรวงยุติธรรมได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มอบหมายให้ดีเอสไอบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่ประชุมคณะกรรมการแก้ปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ 

ที่ผ่านมาดีเอสไอมีการอบรมให้ความรู้ในเรื่องบิทคอยน์ และปฏิบัติการจับกุมการกระทำผิดทั้งการละเมิดสิทธิ์ ฉ้อโกง หลอกลวง ซึ่งยอมรับว่าแผนประทุษกรรมและเทคโนโลยีที่ใช้กระทำความผิดมีความซับซ้อนเซิร์ฟเวอร์อยู่ต่างประเทศ ผู้กระทำผิดจึงไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายและไม่มีขอบเขตเวลาในการทำผิด ใช้เวลา 2 นาทีสามารถทำผิดหลายเรื่องหลายครั้ง โดยเราจับกุมและสั่งปิดเว็บไซต์ช่วงบ่าย ปรากฏว่าช่วงเย็นกลับมาเผยแพร่อีกครั้ง ดังนั้น จึงต้องร่วมกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องพัฒนาเครื่องมือให้ทันสมัย เพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงป้องกันดักหน้าไม่ให้เกิดอาชญกรรมขึ้นอีก 

โดยการอบรมวันนี้จะมีการเตรียมความพร้อมและอภิปรายร่าง พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคง ปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวอาจมีการตั้งศูนย์รับเรื่องไซเบอร์ เพื่อรองรับความรุนแรงทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องพัฒนาบุคลากร ให้เข้าถึงโลกไซเบอร์ และมีคุณธรรม เพราะการเผยแพร่ข้อมูลความลับเรื่องความมั่นคงทางราชการให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดี จะทำให้เกิดความเสียหายได้ อย่างไรก็ตาม หากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการกระทำความผิดจะดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องและคดีฟอกเงินเพิ่มเติม

ด้าน พ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ดีเอสไอ เปิดเผยว่า สำหรับ ดีเอสไอ มีผู้เสียหายเดินทางมาร้องเรียนต่อเนื่องในคดีต่างๆ อาทิ คอลเซ็นเตอร์, ฉ้อโกงประชาชน, ละเมิดลิขสิทธิ์, การพนันออนไลน์ โดยปัจจุบันมีการใช้โทรศัพท์มือถือในการสื่อสารทำให้เกิดช่องทางก่อเกิดอาชญากรรม ส่วนการสืบสวนข้อมูลในโลกออนไลน์นั้นยอมรับว่าตรวจสอบค่อนข้างยากเพราะเซิร์ฟเวอร์กระทำผิดส่วนใหญ่จะอยู่ต่างประเทศจึงต้องมีการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวและบุคลากรที่มีความรู้ของแต่ละหน่วยงานมาร่วมกันทำงาน 

นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการเตรียมการไซเบอร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า สาระในร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคง ปลอดภัยไซเบอร์ ได้มีการแก้ไขเรื่องของการอุทธรณ์ในชั้นศาลให้มีมาตรฐานมากขึ้น และจะมีโครงสร้าง 3 ส่วน ประกอบด้วย ฝ่ายธุรการ คณะกรรมการเฝ้าระวังภัยคุกคาม จะมีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงดูแล และคณะกรรมการมาตรการทางเศรษฐกิจ กำกับดูแลศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเข้าคณะรัฐมนตรีภายในสัปดาห์หน้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง