กรีนพีซ องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมออกรายงานที่ระบุว่า ท้องทะเลกำลังเป็น “หน้าด่านสมรภูมิใหม่ของอุตสาหกรรม” จากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ใต้ทะเลลึก เนื่องจากหลายบริษัทต่างเข้าแถวกันขุดเจาะเหล็กและแร่ธาตุต่างๆ ขึ้นมาจากพื้นทะเลลึก
รายงานดังกล่าวระบุว่า แม้จะยังไม่มีการเริ่มโครงการขุดเหมืองแร่ใต้ทะเลลึก แต่องค์กรพื้นดินท้องทะเลระหว่างประเทศ (ISA) ของสหประชาชาติได้ออกใบอนุญาตสำรวจใต้ท้องทะเลให้กับบริษัทเอกชนต่างๆ ทั่วโลก 29 ใบแล้วในมหาสมุทรแปซิฟิก แอตแลนติกและมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งรวมเป็นพื้นที่มากกว่า 1.3 ล้านตารางกิโลเมตร หรือใหญ่กว่าพื้นที่ประเทศไทยมากกว่า 2 เท่า หากบริษัทต่างๆ เดินหน้าโครงการเหมืองใต้ทะเลลึก จะมีการนำเครื่องจักรขนาดใหญ่ไปวางไว้บนพื้นทะเลเพื่อขุดแร่โคบอลต์และแร่เหล็กหายากอื่นๆ
ลุยซา แคสซัน นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลของกรีนพีซกล่าวว่า สุขภาพของมหาสมุทรมีความเชื่อมโยงอย่างแนบชิดกับความอยู่รอดของมนุษย์ มนุษย์จะต้องปกป้องท้องทะเลตั้งแต่ตอนนี้ ไม่เช่นนั้น การทำเหมืองในทะเลลึกจะส่งผลเสียอย่างมากต่อสัตว์น้ำและมนุษยชาติ รายงานฉบับนี้ย้ำว่า การทำเหมืองใต้ทะเลลึกอาจทำให้สิ่งมีชีวิตใต้น้ำสูญพันธุ์
แคสซันระบุว่า ใต้ทะเลลึกเป็นหนึ่งในระบบนิเวศน์ที่สำคัญมากที่สุดของโลก เป็นระบบนิเวศน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตแปลกๆ ที่เราแทบไม่รู้จัก แต่ “อุตสาหกรรมที่โลภมากเหล่านี้อาจทำลายสิ่งมหัศจรรย์ใต้ท้องทะเลลึกไปเสียก่อนที่เราจะมีโอกาสได้ศึกษามัน”
นักสิ่งแวดล้อมระบุว่า โครงการขุดเหมืองแร่ในทะเลที่หลายบริษัทเสนอไม่เพียงจะทำลายระบบนิเวศน์ที่สำคัญ แต่ยังจะทำลายการเคลื่อนไหวเพื่อป้องกันจากเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพราะการทำเหมืองใต้ทะเลลึกจะไปทำให้ก๊าซคาร์บอนที่กักเก็บอยู่ในพื้นทะเลถูกปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ
ด้านอุตสาหกรรมเหมืองอ้างว่า การทำเหมืองใต้ทะเลลึกเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการหาทรัพยากรที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว เนื่องจากทรัพยากรหายากเหล่านี้จะไปถูกนำไปแปรรูปเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญอย่าง แบตเตอรี คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์ และการทำเหมืองใต้ทะเลลึกเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและคนงานน้อยกว่าการทำเหมืองแร่ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม รายงานของกรีนพีซเปิดเผยว่า อุตสาหกรรมเหมืองใต้ทะเลลึกพยายามเสนอภาพว่า การพัฒนานี้จำเป็นต่อการลดก๊าซคาร์บอนในอนาคต แต่ข้ออ้างนี้ไม่ได้รับการรับรองจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน รถยนต์ไฟฟ้า หรือแบตเตอรี ข้อโต้แย้งของอุตสาหกรรมเหมืองเป็นการเพิกเฉยต่อเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการใช้ทรัพยากร
คริส แพคแฮม นักสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า การทำเหมือนใต้ทะเลลึกเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อมหาสมุทรทั่วโลก “เราได้เห็นการทำลายล้างขนาดใหญ่จากการทำเหมืองแร่บนพื้นดิน เราพร้อมแล้วหรือที่จะอนุญาตให้อุตสาหกรรมเหมืองขยายพื้นที่หน้าด่านสมรภูมิใหม่ ซึ่งเป็นจุดที่เราตรวจสอบความเสียหายได้ยากมาก”
นอกจากนี้ รายงานของกรีนพีซยังเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ รับรองอนุสัญญาปกป้องทะเลกันภายใน 12 เดือน โดยอ้างอิงความเห็นจากนักวิทยาศาสตร์ รัฐบาลหลายประเทศ นักสิ่งแวดล้อมและตัวแทนจากอุตสาหกรรมประมงว่า เหมืองใต้ทะเลลึกจะทำลายสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล
รายงานยังระบุว่า รัฐบาลจีนและอังกฤษมีใบอนุญาตการสำรวจพื้นทะเลมากกว่าประเทศอื่นๆ พร้อมตำหนิว่า รัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาลอังกฤษแสดงจุดยืนของรัฐบาลว่าเป็นผู้นำด้านการปกป้องท้องทะเล แต่กลับลงทุนในการทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึก แคสซันกล่าวว่า “ความเสแสร้งนี้ไม่อาจยอมรับได้”
ที่มา : The Guardian, Greenpeace