ไม่พบผลการค้นหา
ย้อนเวลาหาความหมาย อนุสาวรีย์หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 สร้างขึ้นเพื่ออะไร ร่วมค้นหาคำตอบจากนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ 2475 ชวนสำรวจมรดกสำคัญของคณะราษฎร

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย โดย "คณะราษฎร" ผ่านมาสู่ปีที่ 88 ในแง่มุมของประวัติศาสตร์ช่วงเวลาดังกล่าว ถือว่าไม่นานนัก หากแต่วัตถุพยานหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงนั้น ได้ทยอยหายไป

'วอยซ์ ออนไลน์' สัมภาษณ์พิิเศษ ผศ.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถึงความสำคัญของหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

เพราะเขาคือหนึ่งในนักวิชาการที่สนใจเรื่องราวในช่วง 2475 และอนุสาวรีย์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเผยแพร่ระบอบใหม่

หากพูดถึงอนุสาวรีย์ที่สื่อถึงการเมืองและระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย หลายคนคงนึกถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บนถนนราชดำเนิน หากแต่ ผศ.ศรัญญู เล่าว่า ยังมีอนุสรณ์ที่ถูกสร้างขึ้นอีกหลายแห่ง ในประเทศไทย ซึ่งนั่นก็คือ “อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ”


อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ สัญลักษณ์ของระบอบใหม่ หลังปฏิวัติ 2475

ผศ.ศรัญญู อธิบายว่า หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คณะราษฎรได้มีการวางระบอบใหม่ ที่เรียกว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตย หรือว่าในช่วงสมัยนั้นจะใช้คำว่า "ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ"

สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ มีแนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ซึ่งหัวใจสำคัญ คือ รับรองสิทธิเสรีภาพเบื้องต้น ของประชาชน พร้อมๆ กันนั้น ก็มีการสร้างสถาบันทางการเมือง ในระบอบใหม่ขึ้นมา ก็คือ "สภาผู้แทนราษฎร" ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน ในการใช้อำนาจด้านนิติบัญญัติ

อีกส่วนหนึ่งก็คือ "คณะรัฐมนตรี" เป็นผู้แทนของปวงชนที่ได้รับการเลือก จากสภาอีกทีหนึ่ง มาทำหน้าที่ในการบริหาร และสุดท้ายก็คือ "ศาล" ที่มีหน้าที่ในการพิพากษาคดีความต่างๆ ซึ่งสามสถาบันก็คือ เป็นสามสถาบันทางการเมืองที่มาใช้อำนาจแทนปวงชนชาวไทย

"ในช่วงหลัง 2475 เขาจะให้ความสำคัญกับเรื่องรัฐธรรมนูญ เพราะว่าในส่วนนี้เป็นหลักกฎหมายในการปกครองบ้านเมือง แล้วที่ควบคู่กับรัฐธรรมนูญ คือ แนวนโยบายแห่งรัฐ ที่เขาเรียกว่าหลัก 6 ประการ ซึ่งลักษณะตอนแรกๆ ก็คือ มีการเผยแพร่แนวคิดพวกนี้ ผ่านทางปากต่อปาก ซึ่งอาจจะเป็นการปฐกถา หลังจากนั้น ก็คือ จะมีการจัดหน่วยงานเฉพาะขึ้นมา ก็คือ กรมโฆษณาการ เพื่อที่จะให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกล ที่ไม่เคยรับรู้เกี่ยวกับระบอบการปกครองแบบใหม่ ให้รับทราบแล้วก็รับรู้อย่างทั่วถึง" ผศ.ศรัญญู กล่าว

ขณะเดียวกันถ้าเกิดไปดูเฉพาะอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ จะพบว่า มีการใช้สัญลักษณ์แบบนี้ ปรากฎให้เห็นในหลายๆ พื้นที่ มีลักษณะเป็นรัฐธรรมนูญที่วางอยู่บนฐาน แต่ในบางแห่งก็จะมีองค์ประกอบย่อยๆ อย่างเช่น มีเสา 6 ต้น ซึ่งสะท้อนหลัก 6 ประการ

  • ตัวอย่างของศาลฎีกาที่สร้างขึ้นในสมัยคณะราษฎรที่ถูกรื้อ ซึ่งด้านหน้ามีเสา 6 ต้น สื่อถึงหลัก 6 ประการ ของคณะราษฎร ได้แก่ 1. หลักเอกราช 2. หลักความปลอดภัย 3. หลักเศรษฐกิจ 4. หลักเสมอภาค 5. หลักเสรีภาพ 6. หลักการศึกษา

ในฐานะนักวิชาการประวัติศาสตร์ ผศ.ศรัญญู ยังมองว่า อนุสาวรีย์ และวัตถุพยาน ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีความสำคัญในแง่ที่สะท้อนให้เห็นปฏิสัมพันธ์ของคน (ราษฎร) ซึ่งแต่เดิมในทางวิชาการ ประวัติศาสตร์ มองว่า คนที่เป็นชาวบ้าน ไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับเรื่องระบอบใหม่ เป็นคนโง่ ที่บูชารัฐธรรมนูญ มองรัฐธรรมนูญเป็นเหมือนวัตถุศักดิ์สิทธิ์

ผศ.ศรัญญู บอกว่า ถ้าไปดูหลักฐานหลายๆ อย่าง จะพบว่า คนกลุ่มนี้พยายามจะทำให้เรื่องที่มันดูไกลตัวมากๆ อย่างเรื่องรัฐธรรมนูญ กลายเป็นเรื่องใกล้ตัว มีการแปลงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ถ่ายทอดเป็นลักษณะของภาษาถิ่น ตัวอย่างเช่น มีการแต่งเป็นกลอนลำ ซึ่งในส่วนนี้เหมือนกับการที่จะพยายามคืนเสียง ที่ถูกทำให้หลงลืม หรือว่าถูกบิดเบือน ให้มันกลับมีบทบาทอีกครั้ง ในทางการเมือง และวัฒนธรรม

อนุสาวรีย์ปราบกบฏ.jpg
  • อนุสาวรีย์ปราบกบฎ บริเวณหลักสี่ ที่หายไป

ภาคอีสานสร้างอนุสาวรีย์พานรัฐธรรมนูญมากสุด

ประเด็นน่าสนใจที่ ผศ.ศรัญญู ยังได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับเรื่องอนุสาวรีย์ คือ เขาพบว่า มีอนุสาวรีย์ที่มีสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสาน และบางแห่งมีการสร้างก่อนที่จะมีการสร้างที่กรุงเทพฯ และมันถูกสร้างขึ้นโดย "ราษฎร"

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย.jpg

"อนุสาวรีย์ หลายๆ แห่งพบว่า ถูกสร้างโดยคนในท้องถิ่นเองด้วยซ้ำ ไม่ได้ถูกผลักดันหรือถูกสร้างเป็นโครงการที่รัฐจากส่วนกลางลงไป ภายใต้การสนับสนุนของบรรดา พ่อค้า ประชาชน ข้าราชการ ซึ่งอันนี้มันสะท้อนให้เห็นว่า ในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีคนจำนวนมากที่กระตือรือร้นกับระบอบใหม่ พร้อมที่จะหยิบเอาสัญลักษณ์ของระบอบใหม่ ไปเผยแพร่ ตามหัวเมืองต่างๆ ซึ่งพื้นที่ที่มีการสร้างมากที่สุด ก็คือ บริเวณ แถบอีสาน"

ผศ.ศรัญญู อธิบายว่า เหตุที่คนในภาคอีสาน สร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ เพราะคนในช่วงระบอบเก่า มีทัศนะว่าคนอีสานมีความด้อยกว่า คนในอีสานจึงรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความเสมอหน้า ไม่มีความเสมอภาคกับคนในพื้นที่ส่วนกลาง เพราะฉะนั้น เขาจึงพยายามที่จะมีความกระตือรือร้น ที่จะเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับระบอบใหม่ ในทุกวิถีทาง ทั้งการเลือกตั้งแบบตัวแทน ผ่านการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2476 การเข้าไปจัดตั้งเทศบาล แล้วก็มีความกระตือรือร้นในการปกครองส่วนท้องถิ่นมากๆ แล้วก็อีกส่วนหนึ่ง ก็คือการสนับสนุน การปกครองระบอบใหม่ ด้วยการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ อย่างเช่น มีการตั้งกองทหารอาสาในการปราบกบฎบวรเดช

สมัยคณะราษฎร เน้นความราบเรียบ เสมอภาค ดูเรียบง่าย - ดูมั่นคงแข็งแรง

ในแง่มุมของแนวคิดการสร้างอนุสาวรีย์ ผศ.ศรัญญู เล่าว่า คณะราษฎร พยายามที่จะหยิบสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับระบอบใหม่ เข้ามาเป็นส่วนสำคัญ ซึ่งที่เด่นๆ ก็คือ ตัวพานแว่นฟ้า กับรัฐธรรมนูญ ซึ่งมันก็จะสัมพันธ์อยู่กับ สัญลักษณ์ที่คณะราษฎร กับรัชกาลที่ 7 พยายามที่จะสร้างร่วมกัน ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร มีความมั่นคง และมีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของชาติ ควบคู่กับชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีการฉลองรัฐธรรมนูญทุกปี พร้อมๆ กันนั้น ในวันที่ 10 ธ.ค. ทุกปี จะมีการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ และยังมีการนำสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญไปอยู่ในบูธ ร้านค้า ของงานฉลองรัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐธรรมนูญที่ดูเป็นนามธรรมเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้

"สมัยคณะราษฎร เน้นความราบเรียบ เน้นความเสมอภาค ดูเรียบง่าย แต่ดูมั่นคงแข็งแรง ซึ่งสัญลักษณ์พวกนี้ มันถูกใช้ ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ แล้วต่อมามันก็คือเผยแพร่ไป พื้นที่ต่างๆ ด้วย ซึ่งในส่วนนี้มันก็จะเป็น ตัวพานรัฐธรรมนูญ มันก็จะเป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่ปรากฏในทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นตัวอนุสาวรีย์ ในต่างจังหวัด อยู่ตามหน้าบานของวัด อยู่ในพวงตารปัดก็มี แล้วก้วัตถุสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวันด้วย"

ผศ.ศรัญญู สะท้อนว่าสิ่งนี้ ทำให้รัฐธรรมนูญ ถูกกระจายไปทุกทิศทุกทาง แล้วก็กลายเป็นของใช้ ไปปรากฏอยู่ในสมุด หนังสือ สมุดเรียน และอย่างอื่นอีกมากมาย


คณะราษฎร ไม่ได้ให้ความสำคัญกับอนุสาวรีย์ตัวบุคคล

นอกจากอนุสาวรีย์ที่เป็นพานรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีอนุสาวรีย์รูปบุคคลที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยคณะราษฎร ผศ.ศรัญญู กล่าวว่า ในประวัติศาสตร์มันมีการสร้างอนุสาวรีย์ที่เป็นตัวบุคคล มาเนิ่นนานแล้ว ถ้าเกิดดูช่วงยุคสมัยใหม่ เริ่มมีการสร้างอนุสาวรีย์ที่เป็นรูปบุคคล

กรณีอนุสาวรีย์ที่เป็นรูปบุคคลแห่งแรก ที่ถูกสร้างสมัยคณะราษฎร ก็คือ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ที่สร้างในปี 2477 หลังเหตุการณ์กบฎบวรเดชยุติลง ก็คือ ทางคณะราษฎร ต้องการทำขวัญชาวโคราช ซึ่งเป็นพื้นที่บัญชาการของฝ่ายกบฎบวรเดช ด้วยการสร้างอนุสาวรีย์สามัญชนขึ้นมา

ปรีดี ฝุ่น ธรรมศาสตร์ -4278-B456-C633A466DB28.jpeg

แล้วหลังจากนั้นก็จะมีอนุสาวรีย์สามัญชนอีกหลายที่สร้างขึ้นมา แต่ถ้าเรามาดูรูปบุคคลที่เป็นคณะราษฎร จะไม่ค่อยเจอ ที่เป็นอนุสาวรีย์แบบสาธารณะ

เอาจริงๆ คณะราษฎรไม่ได้เป็นพวกบูชาตัวบุคคล แต่จะเน้นในเชิงสัญลักษณ์ ถ้าไปอ่านในรายงานการประชุม ของสภาผู้แทนราษฎร มี ส.ส. คนหนึ่ง พยายามที่จะเสนอญัตติว่า ควรที่จะมีการสร้างอนุสาวรีย์สำหรับผู้ก่อการ แต่สุดท้ายแล้วพระยาพหลพลพยุหเสนา เบรกไว้ ไม่สร้าง

เกิดอะไรขึ้นกับคณะราษฎร?

ผศ.ศรัญญู ให้ความเห็นว่า จุดผลิกผันจริงๆ คือ ความแตกแยกในคณะราษฎร มาจากสงครามโลกครั้งที่สอง คณะราษฎร ประกอบด้วยคนที่มีความหลากหลาย มีความหลากหลายทั้งด้านความคิด ตั้งแต่ ซ้าย กลาง ขวา แล้วก็มีความแตกต่างทางด้านรุ่นด้วย ซึ่งระยะแรกมันก็มีลักษณะประณีประนอมกัน ภายใต้การบริหารจัดการ ก็คือทำให้ทุกอย่างมันกลมเกลียวกันโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา

แต่แล้วเมื่อคณะราษฎรที่เป็นพวกหนุ่มๆ ไฟแรงสองกลุ่ม มีความแตกแยกกัน ฝ่ายหนึ่งก็คือ ทหารที่นำโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่สนับสนุนญี่ปุ่น อีกฝ่ายหนึ่งคือ ฝ่ายพลเรือนที่นำโดย ปรีดี พนมยงค์ สุดท้ายเมื่อสงครามสิ้นสุด ทางด้านหนึ่ง ฝ่ายจอมพล ป. ซึ่งเป็นทหาร ถูกลดบทบาททางการเมือง

ขณะที่ 'ปรีดี' เข้ามามีบทบาททางการเมือง ในด้านหนึ่ง ก็พบกับอุปสรรคที่สำคัญ คือ ความเคลื่อนไหวของฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อ 2475 ซึ่งเป็นผลมาจากการนิรโทษกรรม อดีตนักโทษทางการเมือง ที่เคยเคลื่อนไหวในช่วงกบฏบวรเดช กบฎนายสิบ กบฎพระยาทรงสุรเดช กบฎกรมขุนชัยนาทนเรนทร แล้วกลุ่มพวกนี้ก็มีบทบาททางการเมืองเคลื่อนไหวทั้งในสภา และนอกสภา ในการโจมตีฝ่ายปรีดี ฝ่ายคณะราษฎร จนสุดท้ายแล้ว สถานการณ์มันครุกรุ่นมาก พร้อมๆ กันนั้นก็เป็นผลจากบรรยากาศทางการเมือง ที่มันเปิดกว้างจนไม่สามารถคุมได้ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำช่วงหลังสงคราม

"เพราะฉะนั้นมันจึงเปิดทางให้ กองทัพ ไปจับมือกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม แล้วก็มายึดอำนาจ รัฐบาลที่ เป็นฝ่าย ปรีดี แล้วก็ยุติบทบาทของคณะราษฎรไปโดยปริยาย ในการรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 ถึงแม้ว่าหลังจากนั้น จะมีตัวแทนที่เป็นคณะราษฎร มาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่อุดมการณ์ ของคณะราษฎร ที่ให้ความสำคัญกับหลักรัฐธรรมนูญ ที่ให้ความสำคัญกับหลัก 6 ประการ มันไม่ถูกนำกลับมาใช้อีกเลย มันแสดงให้เห็นว่าอุดมการณ์พวกนี้ "มันถูกทำให้หายไป" พร้อมกันนั้นก็มีแนวคิดอนุรักษนิยม เข้ามาแทนที่ ถ้าเรามองในทางประวัติศาสตร์ มันก็สะท้อนให้เห็นว่า ยุคสมัยของคณะราษฎร มันมีแค่ช่วง 2475-2490"

สัมภาษณ์ประเด็นประวัติศาสตร์คณะราษฯหลัง2475
  • ผศ.ศรัญญู เทพสงเคราะห์


มรดกคณะราษฎร ที่ยังหลงเหลือ

แม้ว่าอุดมการณ์ของคณะราษฎร และวัตถุพยานทางประวัติศาสตร์บางส่วนจะหายไป ทว่ามรดกของคณะราษฎรยังคงทิ้งร่องรอยเอาไว้ ในรูปแบบของการเมืองการปกครอง วัฒนธรรม ตลอดจนชีวิตประจำวันของคนไทยในปัจจุบัน

อย่างเช่นในเรื่องของความเสมอภาคทางเพศ ผศ.ศรัญญู กล่าวว่า ถ้าไปสังเกตดูก็คือ สมาชิกคณะราษฎรเป็นผู้ชายทั้งหมด แต่เอาเข้าจริงก็คือ ทัศนะของเขา มีลักษณะที่แตกต่างจากวิธีคิดของบรรดาชนชั้นนำในระบอบเก่า อย่างน้อย ประเด็นที่มันน่าสนใจก็คือ พวกเขาสนับสนุนประเด็นเกี่ยวกับผัวเดียวเมียเดียว ซึ่งแตกต่างจากชนชั้นนำในระบอบเก่าที่มีลักษณะเป็นผัวเดียวหลายเมีย เพราะฉะนั้น ประมวลกฎหมายที่เถียงกันนานมาก เกี่ยวกับเรื่อง ผัวๆ เมียๆ ที่เถียงกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ก็ร่างสำเร็จ และประกาศใช้ในช่วงสมัยคณะราษฎร

"ถ้าเกิดย้อนกลับไป เรานึกถึงปัจจุบัน หลายๆ เรื่อง มันก็ยังวนอยู่กับคณะราษฎร อย่างเช่น การทักทาย การแต่งกายสากล เรื่องวัฒนธรรม การใช้คำอะไรต่างๆ ก็คือเป็นมรดกคณะราษฎรได้ทั้งนั้น การบริหารราชการแผ่นดินแบบใหม่ การจัดทำงบประมาณแบบใหม่"

"แม้กระทั่งตอนนี้ที่มีการเถียงกันเรื่องการเมืองการปกครอง ตกลงแล้วประชาธิปไตยไทยเป็นอย่างไร ก็ยังอยู่ภายใต้กรอบของคณะราษฎร ก็คือ มันไม่สามารถย้อนกลับไปก่อนวันที่ 24 มิ.ย. ได้ คือสุดท้ายแล้วสิ่งที่เราเถียงกันมา ระบอบประชาธิปไตยไทย มันต้องเริ่มต้นที่ 24 มิ.ย. 2475"