ไม่พบผลการค้นหา
'ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ' เขียน 'ประจักษ์ ก้องกีรติ' อ่านกับงานเขียนในอดีตที่สะท้อนวังวนการเมืองไทยในปัจจุบัน เปิดมุมมองประชาธิปไตยแบบไทยๆ ทำความเข้าใจอนุรักษนิยม ชี้ 'ธเนศ' มองบทบาทศาล - กองทัพค้ำจุนอำนาจคนดี พร้อมยก 'ธเนศ-สมศักดิ์' เห็นตรงกัน รัฐประหาร 2490 รื้อฟื้นแนวคิดจารีต - อนุรักษนิยม

ที่ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ่านงานเขียน ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ "แปดทศวรรษสยามปฏิวัติ: บทวิเคราะห์การเมืองและประชาธิปไตยสยามไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน" ในวาระครบรอบ 57 ปี คณะศิลปศาสตร์ มธ. และ 72 ปี ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ผศ.ดร.ประจักษ์ สะท้อนสิ่งที่ได้จากการอ่านงานของ ศ.ดร.ธเนศ ว่า เหมือนเป็นงานที่เพิ่งเขียนเสร็จในเดือนที่แล้ว เนื่องจากงานเขียนเหล่านี้อ่านการเมือง ไทยในปัจจุบันได้ทั้งหมด “ไม่รู้อาจารย์เห็นล่วงหน้า หรือเพราะการเมืองไทยมันไม่ไปไหน”

อนุรักษนิยมไทยดำรงอยู่ได้ ด้วยการจับมือกับ 'อำนาจนิยม'

ผศ.ดร.ประจักษ์ สรุปประเด็นจากบทความ ที่ ศ.ดร.ธเนศ ได้อธิบายว่า ถ้าจะเข้าใจการเมืองไทยในปัจจุบัน ต้องย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้าน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อต่างที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การที่สยามไม่ได้ตกเป็นอาณานิคม (ถึงแม้อาณานิคมแบบอำพราง) แต่การที่เราไม่ได้ตกเป็นอาณานิคม ที่อยู่ภายใต้การปกครองโดยตรงแบบ Direct Rule ทำให้กระบวนการก่อเกิดกระบวนการสมัยใหม่ของไทย รัฐชาติของไทยมีลักษณะแบบบนลงล่าง (Top Down) คือมันไม่ได้มีขบวนการชาตินิยมมวลชน แบบที่เกิดในอินโดนีเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ ในการกู้เอกราช พอเป็นอย่างนี้มันทำให้ชนชั้นนำไทยมันอยู่รอดต่อมา มีความต่อเนื่องสูง ตรงนี้เป็น Theme ที่ปรากฎอยู่ในบทความของ ศ.ดร.ธเนศ

ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวต่อว่า ความสามารถของกลุ่มชนชั้นนำ หรือกลุ่มชนชั้นปกครองเดิม ไม่ได้ล้มหายตายจากไป หรือถูกโค่นล้มจากการปฏิวัติมวลชน เหมือนที่เราเห็นในประเทศเพื่อนบ้าน แต่มีการสืบทอดอำนาจต่อมาในแง่ประเพณี วัฒนธรรม การครอบงำทางความคิด ดังนั้น เวลา ศ.ดร.ธเนศ พูดถึงอุปสรรคสำคัญของประชาธิปไตย ศ.ดร.ธเนศ เลยไม่ได้เพ่งไปแบบที่นักรัฐศาสตร์กระแสหลักเพ่งไป คือเรื่อง การขาดพรรคการเมือง ขาดสถาบันทางการเมือง ขาดอะไรที่เป็นกลไกที่เป็นรูปธรรม ศ.ดร.ธเนศ บอกว่าชนชั้นนำแบบจารีต รวมถึงวัฒนธรรมยังคงอยู่ต่อเนื่องมา และวัฒนธรรมแบบนี้ที่เป็นฐานค้ำจุนวัฒนธรรมอำนาจนิยม

ผศ.ดร.ประจักษ์ ประจักษ์ ตั้งข้อสังเกตจากการอ่านงานของ ศ.ดร.ธเนศ คือ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมไทยสามารถดำรงอยู่ได้ ด้วยการจับมือกับ “อำนาจนิยม”

“สิ่งที่เรียกว่าอนุรักษนิยม (Conservative) พลังอนุรักษนิยมมันไม่ได้ดำรงอยู่ด้วยภูมิปัญญาอย่างเดียว แต่มันมาจับมือกับอำนาจนิยม มันไปด้วยกัน จับมือเป็นพันธมิตรกัน ฝ่ายอนุรักษนิยมไม่ได้เอาชนะฝ่ายเสรีนิยมด้วยภูมิปัญญาเท่านั้น แต่ใช้กำลังดิบ ใช้อำนาจ ใช้ความรุนแรง ในการดำรงค้ำจุนแนวคิดแบบจารีต และอำนาจของชนชั้นนำแบบจารีต"

ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาไทย กับแนวคิดประชาธิปไตย

ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า จากประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของไทยที่สะท้อนผ่านงานเขียน ศ.ดร.ธเนศ สะท้อนให้เห็นว่า มโนทัศน์ อย่างเรื่อง เสรีภาพ สิทธิ ความเสมอภาค หรืออำนาจของไทย มันคืออะไร แนวคิดของคำเหล่านี้ในความหมายของสังคมไทย ซึ่งอาจไม่ได้เหมือนในตะวันตก ซึ่งในบทความเรื่อง “สู่จิตวิญญาณของขบวนการเดือนตุลาคม” ที่ ศ.ดร.ธเนศ พูดถึงว่า 14 ตุลา เป็นหนึ่งในการเคลื่อนไหวครั้งแรกๆ ที่เป็นการปลดปล่อยศักยภาพของปัจเจกชน (Individualism) ที่โผล่ขึ้นมาจริงๆ แล้วเป็นการต่อสู้เพื่อสเรีภาพของปัจเจกชน ซึ่งปัจเจกชนในความหมายของตะวันตกก็คือ การพยายามต่อสู้และปลดปล่อยตัวเองจากพันธนาการสังคม และพันธนาการต่างๆ ความความคิด ที่ครอบงำ และ ศ.ดร.ธเนศ ก็พยายามย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ว่า แนวคิดแบบนี้ก่อตัวมาอย่างไร แล้วก็พูดถึงบทบาทสามัญชนในอดีต ตั้งแต่ยังเป็นยุคสมบูรณายาสิทธิราชย์ ไพร่ ต่อสู้ยังไงบ้าง ซึ่งร่องรอยอย่างนี้ที่ทิ้งไว้

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า อุปสรรคของการสร้างประชาธิปไตยในสังคมไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่คณะราษฎรเองก็ล้มเหลวตรงนี้ รวมถึงคนรุ่น ’14 ตุลา’ ด้วย คือ เมื่อมีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และมีการสร้างสถาบันทางการเมืองขึ้นมา การเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ พวกนี้คือสถาบันแต่เป็นสถาบันที่ ศ.ดร.ธเนศ มองว่าไม่มีชีวิต และมันไม่สามารถอยู่ยืนนาน เพราะว่ามันไม่มีการสร้างความรู้ ระบบคิดมารองรับ พูดภาษาของ 'ศ.เกษียร เตชะพีระ' ก็คือ "ปฏิวัติ 2475 แล้ว มีสถาบันรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย แต่ความคิดจิตสำนึกของคนยังเป็นแบบสมบูรณายาสิทธิราชย์อยู่"

ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า สิ่งนี้อาจอธิบายสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในแบบปัจจุบันได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น สถาบันเหล่านี้เลยไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวเอง เพราะมันไม่มีฐานความคิดที่มาให้ความชอบธรรมกับมันแบบสมับใหม่ที่มันแข็งแรงเพียงพอ



ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ 16_0013.jpg

รัฐธรรมนูญไทย ความใฝ่ฝันแปลกๆ ที่ถูกบรรจุไว้บทความขัดแย้งในตัวเอง

ส่วนกรณี ศ.ดร.ธเนศ ตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งประหลาดของรัฐธรรมนูญไทยก็คือ มันสามารถดำรงไว้ซึ่งความขัดกันในตัวเอง ในเอกสารฉบับหนึ่ง ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า หากลองอ่านรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าฉบับไหนก็ตาม เนื่องจากมันยาวมากด้วย จึงไปบรรจุความคิดและความใฝ่ฝันแปลกๆ ไว้หลายอย่าง ซึ่งจริงๆมันไม่ได้ไปด้วยกัน แล้วมันก็ขัดกันเอง แบบมั่วซั่วไปหมด ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง ศ.ดร.ธเนศ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญไทยไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในตัวเอง แต่เป็นเพียงข้อตกลงที่มาจากเจตนารมณ์ของคนกลุ่มหนึ่ง คือมันไม่เคยมีลักษณะเป็นสัญญาประชาคม (Social Contract) แบบอเมริกา ที่ประชุมถกเถียงกัน สุดท้ายเป็นข้อตกลงที่ใช้กันมาต่อเนื่องยาวนาน แต่ของไทยเป็นรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมา มีนักการเมืองคนหนึ่งบอกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อเรา”

“มันไม่ใช่สัญญาประชาคมแล้วในความหมายนี้ แล้วออกแบบโดยคน 35 คน น่าทึ่งมากเลย ก็คือไม่มีกระบวนการรับฟัง ไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมใดๆ ทั้งสิ้น ออกแบบจากคนกลุ่มเล็กๆ แล้วต้องหนี ไปประชุมที่พัทยาด้วยนะ กลัวนักข่าวตามไป บางมาตราที่ประชุมกัน ต้องขอให้นักข่าวออกไป ปิดเป็นประชุมลับ นี่คือกติกาสูงสุดของประเทศ ที่เราบังคับใช้กับคนทั้งประเทศ คือร่างระเบียบข้อบังคับคณะ (คณะในมหาวิทยาลัย) ยังโปร่งใสกว่านี้เลย จะแก้ระเบียบที แก้กฎเล็กๆ น้อยๆ ยังต้องไปผ่านกรรมการ มีประชาพิจารณ์ แบบร่างรัฐธรรมนูญ”

ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวต่อว่า บทความของ ศ.ดร.ธเนศ ชิ้นหนึ่งได้พูดถึง บทบาททางประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยไทย ซึ่งขณะนั้นเป็นบริบทที่เพิ่งมีการร่างรัฐธรรมนูญ 2500 แต่สามารถกลับไปอ่านบทความชิ้นนี้ใหม่ แล้วนำมาวิจารณ์รัฐธรรมนูญ 2560 ได้เหมือนกัน คือ เป็นแค่เจตนารมณ์ของคนกลุ่มหนึ่ง



ธเนศ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ท่าพระจันทร์_190816_0015.jpg

ยก ธเนศ ชี้ศาล - กองทัพค้ำจุนอำนาจของ “คนดี”

ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า ไม่เพียงแค่เรื่องรัฐธรรมนูญ ยังรวมถึงเรื่อง สิทธิ เสรีภาพ อำนาจ การมองประชาชน และรัฐ ศ.ดร.ธเนศ พยายามมองเข้าใจในมุมมองของชนชั้นนำ ว่าชนชั้นนำมองเรื่องนี้อย่างไร แล้วให้ความหมายกับมันยังไง ซึ่งทำให้เข้าใจถึงสิ่งที่ดำรงอยู่ในทุกวันนี้ ผศ.ดร.ประจักษ์ ยกตัวอย่างความคิดของ ศ.ดร.ธเนศ ที่มองบทบาทของศาล และบทบาทของวุฒิสภา ในฐานที่เป็นฐานอำนาจรองรับความชอบธรรม ของการรัฐประหาร และชนชั้นนำจารีต ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ว่า “ทำไมศาลและกองทัพต้องทำอย่างนี้?” แทนที่จะเป็นแบบสมัยใหม่แบบในตะวันตก แต่ถ้ามองแบบไทย ศาลและกองทัพ เขาทำสิ่งที่เขาคิดว่าถูกต้องแล้ว ที่เขาต้องมาค้ำจุนอำนาจของ "คนดี" เพราะอำนาจของคนดี ไม่ได้เกี่ยวว่าต้องมาจากประชาชน อำนาจควรอยู่กับคนดี เพราะคนดีคือผู้ที่มีบุญญาบารมีสะสมบุญมาตั้งแต่ชาติปางก่อน

“ฉะนั้นอำนาจกับบุญบารมีมันก็ผูกโยงกัน ถ้าอำนาจอยู่ในมือของคนดี บ้านเมืองก็จะดำเนินไปอย่างสงบสุข อาณาประชาราษฎร์ก็จะกินอื่มนอนหลับ หากมีผู้ปกครองที่ดี อันนี้คือคติแบบไทยพุทธ” ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าว

ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่าแนวความคิดนี้ภายหลังถูกนำไปใช้เยอะ อย่างเช่น การอธิบายการเคลื่อนไหวของกลุ่ม “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หรือ กปปส. ที่ชูเรื่อง ‘การเมือง’ กับ ‘คนดี’

"เราก็พยายามกลับไปมองว่ามันมาจากไหน เรื่องการเมืองกับคนดี และศีลธรรม การเลือกตั้งไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็น ในคติแบบไทยๆ ไทยพุทธ ผู้นำที่ดีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง ไม่จำเป็นต้องมาจากประชาชน เพราะประชาชนอาจจะยังเป็นบัวใต้น้ำอยู่ ถ้าให้ประชาชนเลือกจะไม่ได้ผู้นำที่ดีที่สุด" ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าว

"ความคิดแบบไทยๆ แบบพุทธ มีอิทธิพลลึกซึ้งถึงปัจจุบัน เราจึงเข้าใจได้ว่าทำไมมีการเคลื่อนไหวในนามของการเคลื่อนไหวภาคประชาชน การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย แต่เขาบอกว่า “คนไม่ควรเท่ากัน” แนวคิดเรื่องหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเอามาใช้กับสังคมไทยไม่ได้ การเลือกตั้งกลับจะเป็นบ่อเกิดของความวุ่นวาย “ถ้าเราเข้าใจคติอำนาจแบบไทยๆ ผมคิดว่าเราเข้าใจมันอย่างลึกซึ้ง” ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าว



ประจักษ์ ก้องกีรติ _190816_0004.jpg

ธเนศ - สมศักดิ์ จุดเปลี่ยนการเมืองไทยหลัง 2475 คือรัฐประหาร 2490

ผศ.ดร.ประจักษ์ ตั้งข้อสังเกตว่า ประวัติศาสตร์หลัง 2475 ศ.ดร.ธเนศ ให้น้ำหนักกับรัฐประหาร 2490 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศไทย ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า บางคนอาจให้น้ำหนักที่สมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่ ศ.ดร.ธเนศ กลับบอกว่า ยุคจอมพลสฤษดิ์ สร้างนวัตกรรมรัฐประหาร คือ ไม่เพียงล้มรัฐบาล แต่สร้างการปกครองแบบใหม่ขึ้นมา โดยเฉพาะข้ออ้างในการรัฐประหารที่โยงกับการพิทักษ์ราชบัลลังก์ อันนี้คือมรดกของยุคจอมพลสฤษดิ์ รวมถึงสร้างคติความชอบธรรมแบบใหม่ คือแบบ "พ่อขุนอุปถัมภ์" ซึ่ง จริงๆ แล้ว ศ.ดร.ธเนศ เสนอว่า จุดเริ่มต้นมาตั้งแต่รัฐประหาร 2490 แล้ว ที่เป็นจุดเปลี่ยนของการเมืองไทย เป็นการฟื้นคืนของอำนาจแบบจารีตนิยม และอนุรักษนิยมขึ้นมา

ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า หากใครเป็นแฟนพันธุ์แท้ของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเห็นว่านายสมศักดิ์จะให้น้ำหนักของการรัฐประหาร 2490 เช่นเดียวกับ ศ.ดร.ธเนศ คือมีจุดร่วมกันในเรื่องการแก้ไขกฎหมายที่สำคัญ ที่มีการรื้อฟื้นอำนาจแบบจารีตมีมาตั้งแต่ 2490 แล้ว

สุดท้าย ผศ.ดร.ประจักษ์ สรุปสิ่งที่ ศ.ดร.ธเนศ เสนอในบทความ "แลหลังกบฎ ปฏิวัติ รัฐประหารในการเมืองสยามไทย" ศ.ดร.ธเนศ เสนอว่า ควรมีการเสนอการศึกษา กบฎ และการรัฐประหารอย่างเป็นระบบในสังคมไทย แม้ว่าฟังแล้วไม่น่าเชื่อถือ แต่ยังมีคนเชื่อ โดยเฉพาะคนที่มีการศึกษา ที่เชื่อว่าการรัฐประหารทำให้สงบ ปราบคอร์รัปชั่น โดยสรุปประตักษ์คิดว่าในบรรดางานที่ศึกษาเรื่องนี้ ที่ยังขาดไป คือการพัฒนาทางภูมิปัญญา แม้ว่ามันจะปะทะกับอิทธิพลภายนอก ที่เข้ามาเสมอ ไม่ว่าจะมีแนวคิดแบบไหน สังคมไทยก็มีวิธีเลือกรับเลือกจัดการแนวคิดแบบนี้ โดยพลังของชนชั้นนำ และปัญญาชนกลุ่มหนึ่ง แล้วผลผลิตของมันคืออะไร ซึ่ง ศ.ดร.ธเนศ ได้บุกเบิกเอาไว้ในงานเหล่านี้ ซึ่งประจักษ์เสนอว่าควรต้องมีการสานต่อ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง