ให้หลังความพ่ายแพ้ ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้ที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ต่ำกว่า 60 ที่นั่ง ก็ทำให้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประกาศลาออกจากตำแหน่งทันที
สิ้นสุดการประกาศลาออกของผู้เป็นน้า “ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ” ผู้สมัคร ส.ส.เขตบางกะปิ ซึ่งแพ้เป็นอันดับ 4 ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้ประกาศทันทีถึงจุดยืนในการสนับสนุนหรือไม่สนับสนุน “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
"วันนี้ผมอาจจะไม่ได้รับโอกาสในการเข้ามาทำงานการเมืองในฐานะสมาชิกผู้แทนราษฎร แต่ไฟผมยังไม่หมด และความตั้งใจที่จะทำงานก็มาจากสิ่งที่ผมอยากเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งความต้องการตรงนั้นยังมีอยู่ แต่จะเป็นในรูปแบบไหน ก็คงต้องรอดูต่อไป คงต้องใช้เวลาในการทบทวนจากบทเรียนที่ได้รับจากผลการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตามถ้าพรรคประชาธิปัตย์จะไปรวมกับพรรคพลังประชารัฐผมคงต้องขอทบทวน และขอยืนยันว่าจะไม่ร่วมงานกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างแน่นอน"
อีกหนึ่งเสียงที่เรียกร้องไปยัง “ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์” ให้ทบทวนถึงจุดยืนหลังการเลือกตั้งให้ดี มาจาก "ณัฏฐ์ บรรทัดฐาน" ผู้เป็นลูกชายของผู้อาวุโสในพรรคประชาธิปัตย์ “บัญญัติ บรรทัดฐาน”
“ระหว่างที่ใครต่อใครต่างช่วงชิงการจับขั้วตั้งรัฐบาลตามความต้องการของพวกเขา หากเรากลับมาทบทวนอุดมการณ์พรรคฯ หลักการ และความไว้วางใจต่อเราให้เข้าไปบริหารประเทศของประชาชน
รวมไปถึงปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่ในตอนนี้ ทั้งเรื่องการปราบทุจริต องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ก็ยังมีมติที่กังขาของคนทั้งประเทศ รวมทั้งยังมีข้อสงสัยเรื่องผลการนับคะแนนด้วย จึงทำให้ผมมองไม่เห็นว่าทำไมพรรคประชาธิปัตย์จึงควรจะไปอยู่ในวงจรของการตั้งรัฐบาลที่ขัดกับอุดมการณ์พรรค
ผมคงต้องยืนยันเหมือนเดิมว่า คนอื่นในพรรคประชาธิปัตย์จะคิดอย่างไร อยากเป็นรัฐบาล อยากร่วมรัฐบาลหรือไม่ผมไม่ทราบ แต่ด้วยสถานการณ์แบบนี้ ผมว่าเราควรทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล อย่างเข้มแข็งบนหลักการและเหตุผลที่ถูกต้อง ของระบอบประชาธิปไตย"
ทว่าการข้ามฝ่าแรงเสียดทานในวันนี้เพื่อรักษาจุดยืนในการปกป้องประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะท่าทีจากผู้นำพรรคหลายคนสะท้อนให้เห็นแนวโน้มที่จะให้การสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งนั่นหมายถึงการสนับสนุน “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปด้วย
เริ่มตั้งแต่ “กรณ์ จาติกวิช” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ที่ถูกคาดหมายกันว่า จะรับไม้ต่อจาก “อภิสิทธิ์” ในตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนถัดไป ที่ประกาศทันทีว่า “ส่วนเรื่องการสนับสนุนเพื่อไทย ผมขอยืนยันว่าในส่วนของผม ใครจะติดต่อหรือไม่ติดต่ออย่างไรก็ตาม คำตอบคือ เป็นไปไม่ได้”
หรือความเห็นของ “หมอวรงค์” ที่โจมตีไปยัง วิธีการนำ และจุดยืนของ “อภิสิทธิ์” ว่าทำให้เรือประชาธิปัตย์ ต้องอับปางเกือบจะเหลือแต่ซาก
“การนำพาเรือที่ชื่อประชาธิปัตย์ ภายใต้กัปตันท่านนี้ ได้พิสูจน์ถึง ความผิดพลาดครั้งใหญ่มากๆ ครั้งนี้ไม่ใช่แค่อับปางน้ำรั่ว หรือผนังเรือพังเท่านั้น แต่เป็นการอับปางเกือบจะเหลือแต่ซาก”
"กัปตันและทีมแม้จะเอาชีวิตรอดมาได้ แต่ก็แลกกับชีวิตทางการเมืองของเพื่อนๆ หลายชีวิตมาก บนซากปรักหักพังนี้ ถึงเวลาจริงๆ แล้ว ที่พวกเราต้องไม่เกรงใจกัน ต้องเปลี่ยนทั้งวิธีคิด วิธีทำงานกันครั้งใหญ่ อย่ามองกันในแง่ร้ายว่าจะมายึดเรือลำนี้ เพราะพวกเราต้องอยู่ร่วมกัน ขอให้เพียงแต่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ไม่เอาแต่พรรคพวก เปิดใจให้กว้างกับคนที่คิดต่าง เพราะคิดเหมือนกันได้ถูกพิสูจน์ว่าล้มเหลว ถึงเวลาต้องเปลี่ยนจริงๆ แล้วครับ"
“หมอวรงค์” บอกว่า วันนี้ประชาธิปัตย์ “ถึงเวลาต้องเปลี่ยนจริงๆแล้วครับ” คำถามต่อมาก็คือจะต้องเปลี่ยนอย่างไร บทสัมภาษณ์ที่หมอวรงค์ให้กับ “สุทธิชัย หยุ่น” วันก่อน มีคำตอบให้แบบตรงไปตรงมา
“ส.ส.เก่า สอบตก 70 คน ส่วนปาร์ตี้ลิสต์ ที่ได้มา ก็ได้มาจากความสูญเสียของเพื่อนๆ ทั้งนั้น”
ประโยคนี้ตามด้วยกระแสข่าวในวันถัดมาว่า ปีก กปปส.ของพรรค ที่นำโดย “หมอวรงค์-ถาวร” จะเรียกร้องให้ “อภิสิทธิ์” ลาออกจาก ส.ส.ปาร์ตี้ลสิต์ของพรรคเพื่อรับผิดชอบกับความเสียหายทางการเมืองที่ตัวเองสร้างขึ้น
เมื่อ “สุทธิชัย” ถามหมอวรงค์ต่อว่าคิดอย่างไร ถ้าพรรคประชาธิปัตย์จะไปร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ? หมอวรงค์ตอบทันทีว่า “เห็นด้วยครับ...แฟนคลับเรา เขาอยากเห็นแบบนั้น เพราะถ้าเราไปร่วมเพื่อไทย ประชาชนจะลงโทษเราอย่างรุนแรงแน่ๆ”
นัยยะที่หมอวรงค์ได้จุดประเด็นไว้ วิเคราะห์ต่อได้ว่า หลังจากนี้จะเต็มไปด้วยความพยายามในการบีบให้ผู้นำของพรรคตัดสินใจเลือกยืนข้างพรรคพลังประชารัฐ แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น ก็จะได้เห็น “งูเห่าสีฟ้า” เลือกสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐอย่างแน่นอน!!
เหมือนอย่างการประชุมนอกรอบของผู้นำพรรคสาย กปปส. เมื่อวานนี้ ที่นำโดย ถาวร เสนเนียม, ชุมพล จุลใส , อนุชา บูรพชัยศรี ,นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ,อันวาร์ สาและ,นพ.บรรพต ต้นธีรวงศ์ ,วิทยา แก้วภราดัย ,ชัยวุฒิ ผ่องแพ้ว ,เจือ ราชสีห์ ,ศุภชัย ศรีหล้า,อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี, ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ,รังสิมา รอดรัศมี ,จิตภัสร์ กฤดากร ,เอกนัฐ พร้อมพันธุ์,ชัยชนะ เดชเดโช ,พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล และอื่นๆ
ต่อจุดยืนของพรรคที่อยากเห็น “ถาวร” ผู้เป็นโต้โผการประชุม ยืนยันยังไม่มีการพูดคุยกับพรรคการเมืองใด “แม้ส่วนตัวจะมองว่าพรรคประชาธิปัตย์ควรสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ เพราะเป็นพรรคที่สะท้อนความต้องการของประชาชน แต่หากพรรคมีมติต่างออกไปก็พร้อมทำตาม”
ตลอดการหาเสียงหลายเดือนที่ผ่านมา “อภิสิทธิ์” ในฐานะหัวหน้าพรรค ประกาศจุดยืนทางการเมืองที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น
“ประชาชนเป็นใหญ่
ประชาธิปไตยสุจริต”
“ชัดๆ เลยนะครับ ผมไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อแน่นอน เพราะการสืบทอดอำนาจสร้างความขัดแย้ง และขัดกับอุดมการณ์ของประชาธิปัตย์ที่ว่าประชาชนเป็นใหญ่ 5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจย่ำแย่ ประเทศเสียหายมาพอแล้ว หมดเวลาเกรงใจแล้วครับ”
“ขอยืนยันว่า ถ้าพรรคพลังประชารัฐยังคิดสืบทอดอำนาจ พรรคประชาธิปัตย์ก็จะไม่ร่วมด้วย หรือถ้าหากจะให้เลือกพรรคพลังประชารัฐมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลนั้น จะต้องพิจารณาก่อน ถ้าหากพรรคพลังประชารัฐไม่มีพลเอกประยุทธ์อยู่แล้ว เพราะไม่ได้เป็นทั้งสมาชิกพรรคและไม่ได้เป็นแกนนำพรรค พลเอกประยุทธ์ก็ไม่ได้มาเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว”
“หมดเวลาเผด็จการ
หมดเวลาคนโกง
ถึงเวลาประชาธิปไตยสุจริต”
แม้ในช่วงโค้งสุดท้าย “อภิสิทธิ์” จะเลี่ยงบาลีเพื่อไม่ให้จุดยืนก่อนเลือกตั้งขัดกับการตัดสินใจจริงหลังเลือกตั้ง ด้วยประโยคว่า “การประกาศจุดยืนไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคที่สืบทอดอำนาจ และไม่คิดจะเลือกฝ่ายไปสนับสนุนนายทักษิณ ชินวัตร หรือพรรคในเครือข่ายระบอบทักษิณ เป็นแนวทางและอุดมการณ์ของพรรค ไม่ใช่มติพรรคประชาธิปัตย์”
ทว่าประชาชนได้จดจำแล้วว่า นี่คือจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์
ทว่าประชาชนได้จดจำแล้วว่า นี่ไม่ใช่ความเห็นส่วนบุคคล แต่เป็นการแสดงจุดยืนเพื่อชวนคนไปเลือกพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้เงื่อนไขนี้-คำเชิญชวนนี้-จุดยืนนี้
คะแนนเสียงที่ได้จากการเลือกตั้งรอบนี้ ได้จากการประกาศชัดๆ ว่า “ไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์”
ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ ได้สร้างบาดแผลให้กับตัวเองอยู่เป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็น ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร-จุดม็อบ กปปส.-บอยคอยเลือกตั้ง เป็นภาพสะท้อนว่าพร้อมเปลี่ยนจุดยืนเสมอเพื่อให้ตัวเองมีที่ยืนทางการเมือง บทเรียน 1 ข้อก็คือ หากเราไม่ตัดสินใจให้ถูกต้องในวันนี้ ก็จะต้องใช้เวลาอีกยาวนานเพื่อลบรอยบกพร่องในทางประวัติศาสตร์
นี่คือรอยต่อทางประวัติศาสตร์ที่ “พรรคประชาธิปัตย์” จะได้ร่วมปกป้อง “ประชาธิปไตย”!!