แม้ 2 นายพล “ประยุทธ์-ประวิตร” จะออกมาแบ่งรับแบ่งสู้กับข้อเสนอ “รัฐบาลแห่งชาติ” ด้วยการตอบทำนอง ให้ทุกอย่างดำเนินไปตามกระบวนการที่ควรจะเป็น ประโยคนี้ถือว่าดับสัญญาณ “นายกคนกลาง-รัฐบาลแห่งชาติ” ในทันที!!
ทว่าในแวดวงการเมือง เสียงกระหึ่มถึง “ชื่อสำคัญ-คนสำคัญ” ที่จะเป็น “นายกคนกลาง” ได้ถูกปล่อยออกมาถี่ยิบ และถูกรับลูกด้วยคนการเมืองอยู่เป็นระยะ
เห็นได้จากที่ “เทพไท เสนพงศ์” แห่ง “พรรคประชาธิปัตย์” เสนอ 4 ชื่อ ต่อไปนี้ โดยที่ 2 รายชื่อแรก เป็นชื่อสำคัญที่ได้ยินถี่มากในวงการเมืองระยะหลัง
ชื่อแรก องคมนตรี-พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท อดีต ผบ.ทบ. แม้จะเป็นทหารแต่มีหลักประชาธิปไตยค่อนข้างชัดเจน
ชื่อสอง องคมนตรี-นายพลากร สุวรรณรัฐ ที่ผ่านมาเป็นข้าราชการฝ่ายปกครอง มีประสบการณ์การปกครองค่อนข้างสูง เชื่อว่าจะนำพาประเทศชาติได้
ชื่อสาม นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) โดยออกจากการเมืองไปแล้วและมีความรู้ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งตรงกับภารกิจของรัฐบาลแห่งชาติที่ต้องการแก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน
และชื่อสี่ อดีตนายกรัฐมนตรี-นายชวน หลีกภัย ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง และถือเป็นบุคคลที่ทำงานภายในสภามานาน ทุกฝ่ายพอยอมรับได้
อีกหนึ่งชื่อสำคัญที่ถูกพูดถึงกันหนาหู คือ นายกคนกลางจากอักษรย่อ “อ.”
นั่นคือ องคมนตรี-นายอำพน กิตติอำพน
ชื่อนี้เป็นชื่อสำคัญ เพราะถือเป็นต้นแบบข้าราชการมืออาชีพที่สามารถรับใช้รัฐบาลหลากสีเสื้อทางการเมืองได้อย่างราบรื่นในทุกยุคทุกสมัย
ชื่อชั้นของ อำพน คือชื่อชั้นของข้าราชการระดับ 11 ยาวนาน 12 ปี อันเป็นสถิติซึ่งยากยิ่งที่ข้าราชการคนใดจะทำได้มาก่อน ครองตำแหน่งสำคัญ ทั้ง เลขาธิการสภาพัฒน์ถึง 2 สมัย เลขาธิการคณะรัฐมนตรีถึง 2 สมัย ร่วมงานกับนายกรัฐมนตรีถึง 7 คน
แหล่งข่าวชี้ว่า ชื่อของอำพน ในบริบทการเมืองไทยเวลานี้ ถือว่าน่าจับตา เพราะเป็นมือประสานสิบทิศ เข้าใจวิถี-วิธีการทำงานกับทั้งนักการเมือง และระบบราชการ ทั้งยังเป็นคนที่รักษาเนื้อรักษาตัวเป็นอย่างดี
ทั้งยังเป็นชื่อสำคัญที่มีแนวโน้มได้รับการยอมรับจากพรรคการเมืองใหญ่
เพราะเคยมีบทพิสูจน์เมื่อตัวอำพนได้ทำงานให้แก่ 3 นายกรัฐมนตรีของไทย จากสามสีเสื้อ
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นนายกฯที่ส่งเทียบเชิญให้ อำพล ขึ้นสู่ตำแหน่ง “เลขาธิการคณะรัฐมนตรี”
“ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ ชวนผมมาเป็นเลขาฯ ครม. ช่วงนั้นผมคิดว่าตัวเองจะเหมาะกับตำแหน่งเลขาฯ ครม. หรือไม่ แต่ท่านเป็นคนให้ความเห็นว่าเลขาธิการ ครม. ไม่ใช่เรื่องกฎหมายอย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องของการบูรณาการงานเศรษฐกิจหลายมุม” (อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มใน มติชนสุดสัปดาห์ https://www.matichonweekly.com/featured/article_6385 )
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นนายกฯ ที่ไว้ใจให้อำพล นั่งในตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต่อเนื่อง แหล่งข่าวชี้ว่าในยุคสมัยนั้น “อำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะทำงานคู่ขนานกันเป็นอย่างดีกับ สุรนันท์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี” ทั้งสองคนมีบทบาทในการผ่านเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี บทบาทที่ได้รับ จึงเป็นบทพิสูจน์ถึงความไว้วางใจที่ฝ่ายการเมืองมอบให้กับอำพน
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นนายกฯ ที่ไม่เพียงไว้ใจให้อำพนนั่งในตำแหน่ง เลขาธิการคณะรัฐมนตรีต่อเนื่อง แต่ยังเปิดตำแหน่งใหม่ให้นั่ง แม้เกษียณอายุราชการไปแล้ว คือ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (PMDU)
อันเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการ ประสานงาน เร่งรัด ติดตาม และประเมินผลความก้าวหน้าในการดำเนินงานส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล มติของ ป.ย.ป. คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ รวมตลอดทั้งคณะกรรมการกลั่นกรองอื่น เฉพาะคำสั่งนี้ก็มีอำนาจครอบจักรวาล และผู้ที่จะนั่งในตำแหน่งนี้ได้ ต้องเป็นที่ไว้วางใจเป็นอย่างมาก
ไม่เพียงมีการนำเสนอชื่อสำคัญในทางการเมืองออกมาเพื่อหยั่งกระแสจากสังคม ทว่ายังมีการหยั่งกระแสล็อกสเปกนายกคนกลาง เห็นได้จาก ความเห็นทีเล่นทีจริงของ 2 สามี-ภรรยา กปปส.-พลังประชารัฐ ที่ไล่เรียงเขียนถึงการพบปะกับ “อดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน” เมื่อเร็วๆ นี้ อย่างละเอียด
“ณัฎฐพล ทีปสุวรณ” ปาร์ตี้ลิสต์ เบอร์ 1 พรรคพลังประชารัฐ เขียนถึง “อานันท์” ไว้ว่า
“ท่านนับเป็นปูชนียบุคคล ที่เป็นแบบอย่างในทุกๆด้าน ทั้งการบริหารชาติบ้านเมือง การบริหารกิจการเอกชน การช่วยเหลือสังคม และยังเป็นแบบอย่างของความซื่อสัตย์สุจริต ควรค่าแก่คนรุ่นหลังยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติตน”
ขณะที่ “ทยา ทีปสุวรรณ” ผู้เป็นภรรยา เขียนถึง “อานันท์” โดยย้ำว่า “ถ้าจะมีนายกคนกลาง ต้องคุณภาพอย่างนี้แหละ”
นัยยะที่ทิ้งไว้ คือ สเปกของ “นายกคนกลาง” ฉบับอานันท์ ที่ต้อง “โปร่งใส” เหมือนที่รัฐบาลอานันท์ได้รับการขนานนามไว้ว่าเป็น “รัฐบาลโปร่งใส” และตัวนายกฯได้รับฉายาติดตัวยืนยาวจนบัดนี้ว่า “ผู้ดีรัตนโกสินทร์”
นายกฯอานันท์ เคยให้สัมภาษณ์ถึงหลักยึดในชีวิตของตัวเองไว้ว่า
“และผมโชคดี การทำงานหลายอย่างทำให้โลกทัศน์ของผมกว้างขึ้น ชีวิตผมขึ้นเร็วเหลือเกิน เป็นทูตตอนอายุ 34 เป็นปลัดกระทรวงอายุ 43 ลาออกตอนอายุ 49 ไปอยู่ สหยูเนี่ยน ถ้าอยู่แต่ในระบบราชการ โดยเฉพาะข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศสมัยก่อน มุมมองจะแคบมาก ผมจะไม่รู้จักโลกของความจริงเลย แต่พออยู่ภาคเอกชน ผมได้พบกับคนต่างจังหวัด ได้พบเอ็นจีโอ ได้พบนักธุรกิจ ได้มาอยู่การเมือง ได้พบกับคนไทยอีกมากมาย สนุกสนานมาก ผมก็เริ่มเปลี่ยน แต่ core value ไม่เปลี่ยนนะ อะไรที่ผมคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญของชีวิต สิ่งที่ผมยึดถือ เรื่องความซื่อตรง ความไม่คดโกง ความมีศีลธรรม ความชอบธรรม การไม่พูดปด สิ่งพวกนี้ยังคงเดิมอยู่ แต่ใจเย็นขึ้น แล้วก็มีความเห็นใจคนมากขึ้น”(่่อ่านเพิ่มเติมที่ นิตยสาร Optimise บทสัมภาษณ์โดย: ธนกร จ๋วงพานิช)
หลักยึดของ “นายกฯอานันท์” ไม่ได้ต่างไปจาก “พลเอกเปรม” นั่นคือ “ไม่คดโกง” เป็นเรื่องหลัก และมีภาพลักษณ์ “คนดีชัด” เป็นเรื่องถัดมา สองหลักนี้ผสมด้วยเลือดน้ำเงินอันเข้มข้น นั่นคือ สเปกของ “นายกคนกลาง” ในเวลานี้
ทว่าในการเดินเกมส์ “นายกคนกลาง” และ “รัฐบาลแห่งชาติ” ในเวลานี้ มีตัวละครใหม่ทางการเมืองที่ออกมาปฏิเสธข้อเสนออย่างชัดเจนแล้ว นั่นคือ “พรรคอนาคตใหม่” ซึ่งมี ส.ส. ในสังกัดกว่า 80 คน ว่า ไม่รับทุกส่วนประกอบ ของ อประชาธิปไตย!!