ศูนย์ภูเขาไฟและการบรรเทาสาธารณภัยทางธรณีวิทยาแห่งชาติอินโดนีเซีย (CVGHM) เผยผลสำรวจสถานการณ์ภูเขาไฟอะนักกรากะเตา หลังเกิดเหตุปะทุพ่นควันเถ้าภูเขาไฟและดินถล่มใต้ทะเลเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2561 ทำให้เกิดสึนามิถล่มช่องแคบซุนดา ซึ่งอยู่ระหว่างเกาะชวาและเกาะสุมาตรา
ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาระบุว่า ภูเขาไฟอะนักกรากะเตามีความสูงลดลง จากเดิม 338 เมตร เหลือเพียง 110 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล โดยส่วนสูงที่หายไปคิดเป็น 2 ใน 3 ของความสูงเดิมก่อนที่จะเกิดเหตุปะทะพ่นควันและดินภูเขาไฟถล่มใต้น้ำทะเล โดยเป็นการประเมินจากภาพถ่ายดาวเทียมและภาพถ่ายทางอากาศ
จนถึงขณะนี้ ภูเขาไฟอะนักกรากะเตายังพ่นคว้นเถ้าออกมาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่รัฐบาลอินโดนีเซียยังคงสัญญาณเตือนภัยภูเขาไฟอะนักกรากะเตาไว้ในระดับ 3 ซึ่งเป็นระดับที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะอาจเกิดภัยอันตรายจากสะเก็ดเถ้าภูเขาไฟที่กระจายตัวในอากาศ ซึ่งในทางธรณีวิทยาถือว่าอันตรายกว่าลาวาที่ไหลออกจากปากปล่องภูเขาไฟ เนื่องจากสะเก็ดเถ้าภูเขาไฟพุ่งขึ้นสูงเหนือปากปล่องฯ และอาจมีกรวดหินขนาดใหญ่ปะปนอยู่ด้วย ประชาชนต้องอพยพออกจากพื้นที่ตั้งแต่ระยะประมาณ 1.2 กิโลเมตรรอบภูเขาไฟ
ส่วนสถิติผู้เสียชีวิตจากเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติรอบใหม่ของอินโดนีเซียครั้งนี้ มีจำนวนราว 430 ราย ผู้สูญหายอีกประมาณ 29 ราย บาดเจ็บประมาณ 7,202 ราย และประชาชนอีกกว่า 43,386 รายไร้ที่อยู่อาศัย เพราะบ้านเรือนได้รับความเสียหายจากสึนามิ
ก่อนหน้านี้ ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การคาดการณ์สึนามิในอินโดนีเซียครั้งนี้แทบไม่มีความเป็นไปได้ เพราะไม่มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นก่อน และต่อให้ระบบเตือนภัยทำงานก็อาจไม่ช่วยให้หน่วยงานรัฐเตือนประชาชนให้อพยพได้ทันเวลา เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นรวดเร็วมาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: