ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาล เผยฯ การลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นประชาชนแนวทางทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ คืบหน้าไปกว่าครึ่งแล้ว - พบว่า ปชช.ตื่นตัว ส่วนใหญ่หนุนให้ตั้ง สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

วันที่ 25 พ.ย. 2566 ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไข รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ใน 4 ภาคของไทย โดยการรับฟังความคิดเห็นประชาชนคืบหน้าไปกว่าครึ่งทางแล้ว เหลืออีก 2 ขั้นตอน คือการรับฟังความคิดเห็นกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเหนือ และกลุ่มชาวมุสลิมในภาคใต้

โดยเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2566 คณะทำงานฯ ได้เลือกให้ประชาชนในพื้นที่อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร เป็นตัวแทนกลุ่มสังคมชนบท และสังคมเกษตรกร ในการแสดงความคิดเห็น สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในขณะที่ภาคกลาง คณะทำงานฯ ได้ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 โดยเป็นตัวแทนกลุ่มผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรม และสังคมเมือง ในการแสดงความคิดเห็น

ส่วนภาคเหนือ จะได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ณ มหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ โดยประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นตัวแทนกลุ่มประชาชนในพื้นที่ท่องเที่ยว ประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ ในการแสดงความคิดเห็น 

และภาคใต้ คณะทำงานฯ ได้เลือกให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดสงขลา เป็นตัวแทนกลุ่มประชาชนในพื้นที่ชายแดน กลุ่มชาวมุสลิม ในการแสดงความคิดเห็น โดยจะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดสงขลา ในวันที่ 7 ธันวาคม 2566 นี้

ในการประชุมวานนี้​ (24 พ.ย. 2566) 

ของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ นายนิกร จำนง ประธานอนุกรรมการฯ เผยว่าการลงพื้นที่มาแล้ว 2 ครั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ทำให้พบว่า ประชาชนมีความตื่นตัวและสนใจเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของตนเองเป็นอย่างมาก ประชาชนเกือบทั้งหมดเห็นสมควรให้จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และเกือบทั้งหมดมีความตั้งใจที่จะไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ

“รัฐบาลตั้งใจรับฟังเสียงของประชาชนทุกคน อยากให้หาจุดร่วมและเป็นที่ยอมรับให้มากที่สุด จึงได้ลงพื้นที่และเปิดรับฟังความคิดเห็นให้ทั่วถึง เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด เชื่อว่าทุกคนมีความเห็นที่เหมือนและแตกต่าง และยืนยันว่ารัฐบาลมีเจตจำนงที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เกิดความเป็นประชาธิปไตย เกิดเป็นรัฐธรรมนูญที่ทุกคนสามารถยอมรับได้” ชัย กล่าว