นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า สถานการณ์การค้าระหว่างสหรัฐกับจีนโดยรวมเป็นผลเสียมากกว่าผลดีต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลก
เนื่องจากจะกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจใน 3 ด้าน
หนึ่ง การชะลอตัวของการค้าโลก จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่มีความเชื่อมโยงกับต่างประเทศสูงรวมทั้งไทย ทั้งด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว
สอง ด้านการค้า (Trade Diversion) ผลกระทบจะมีทั้งด้านบวกและด้านลบในแต่ละอุตสาหกรรม เช่น สินค้าไทยที่ส่งไปประกอบในจีนและเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตที่ส่งต่อไปยังตลาดสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบ แต่ขณะเดียวกันก็จะมีสินค้าที่ได้รับประโยชน์ซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถส่งไปยังตลาดสหรัฐฯ เพื่อทดแทนสินค้าจากจีน (Substitution Effect)
สาม ด้านการลงทุน (Investment Diversion) อาจจะมีการย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียนและไทย เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งการลงทุนอาจใช้เวลาในบางอุตสาหกรรมเพื่อวางแผนการย้ายกระบวนการผลิต
อย่างไรก็ดี โดยรวมแล้ว สงครามการค้ากระทบต่อบรรยากาศการค้าและการลงทุนที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยสิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง คือ เรื่องการระบายสินค้าที่ส่งไปขายไม่ได้ในระหว่างคู่ค้าหลักเข้ามาทุ่มในตลาดประเทศที่สามอย่างไทย และควรให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ธปท. จะมีการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือน มิ.ย. นี้ต่อไป
พาณิชย์ประเมินฉุดมูลค่าส่งออกไทยปีนี้ลดลง 1-2 แสนล้านบาท
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า สนค.ประเมินผลกระทบการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ ที่ครอบคลุมสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในเบื้องต้น คาดว่า อาจทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยปีนี้ลดลงประมาณ 5,600-6,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 1.79-2.14 แสนล้านบาท เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้ครอบคลุมรายการที่ไทยส่งออกไปประเทศต่างๆ ประมาณร้อย 46
โดยตัวเลขดังกล่าวคำนวณจากทั้งการส่งออกไปสหรัฐฯ ทดแทนจีน การส่งออกไปจีน และการส่งออกสินค้าที่เป็นห่วงโซ่การผลิตจีนไปยังตลาดอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ไต้หวัน มาเลเซีย ฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และเวียดนาม
สำหรับรายการสินค้าที่สหรัฐฯ ประกาศเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 13 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นรายการสินค้าที่จีนได้ประกาศตอบโต้สหรัฐฯ แล้วนั้น สนค. กำลังอยู่ระหว่างศึกษาว่า มีรายการใดที่ไทยสามารถแสวงหาโอกาสในการส่งออกเพิ่มได้ โดยเฉพาะมีสินค้าเกษตรอยู่หลายรายการเพื่อรับมือกับการส่งออกที่อาจจะลดลง
อย่างไรก็ตาม ยังพบว่า สินค้าไทยหลายรายการมีโอกาสขยายตัวได้น่าพอใจ เช่น สินค้าเกษตร อาหาร ผลไม้ เครื่องดื่มหลายประเภท ไก่ เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เป็นต้น ซึ่งสินค้าเหล่านี้แม้มูลค่าไม่มาก และไม่อาจชดเชยการหดตัวในสินค้าอุตสาหกรรมได้ทั้งหมด แต่ก็เป็นสินค้าที่มีผลในทางจิตวิทยาต่อความเป็นอยู่ของประชาชน เนื่องจากมีผลต่อรายได้ของภาคเกษตรและเอสเอ็มอี จึงควรเร่งผลักดันการส่งออกให้มากขึ้น
ส่วนกลุ่มสินค้าที่การส่งออกอาจลดลง ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการส่งออกโดยนักลงทุนต่างชาติและทุนไทยขนาดใหญ่
เงินบาทแข็ง ดอลลาร์อ่อน หลังจีนประกาศขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐฯ
รายงานจากฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ ระบุว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในตลาดการเงินเริ่มอ่อนค่า หลังจากจีนขึ้นภาษีสินค้าตอบโต้สหรัฐฯ
โดยวันที่ 14 พ.ค. ค่าเงินบาทเปิดตลาดภาคเช้าที่ระดับ 31.60/62 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่ากว่าระดับปิดวันก่อนหน้า หลังจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบเงินสกุลหลัก ภายหลัง กระทรวงการคลังจีนได้แถลงว่า จีนจะเพิ่มการเรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ วงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สู่ระดับร้อยละ 23 จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 10 โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิ.ย.
ทั้งนี้ สินค้าในภาคเกษตรของสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการขึ้นภาษีในครั้งนี้ โดยรายการสินค้าที่จะถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจะรวมถึง ถั่ว น้ำตาล ข้าวสาลี ไก่ และไก่งวง
โดยสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินบาทระหว่างวันเคลื่อนไหวในกรอบ 31.45-31.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.49-31.51 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :