ไม่พบผลการค้นหา
องค์กรสิทธิมนุษยชนระบุ ศาลไทยรับพิจารณาคำร้องของชาวกัมพูชาในการฟ้องร่วมเพื่อเรียกค่าเสียหายจากบริษัท มิตรผล สืบเนื่องจากกรณีที่บริษัทร่วมที่ได้รับสัมปทานในกัมพูชาไปเวนคืนที่ดิน กระทบแหล่งทำกินชาวบ้านในพื้นที่

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (AI) องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 31 ก.ค. 2563 ระบุว่า ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ มีคำสั่งศาลอุทธรณ์ให้รับพิจารณาคดีที่ชาวกัมพูชากว่า 700 ครอบครัว ร่วมกันยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก 'บริษัท มิตรผล จำกัด' ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของไทย

สาเหตุของการฟ้องร้อง เนื่องจากบริษัทร่วมทุนของมิตรผลในกัมพูชา ใช้กำลังบังคับให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ที่เคยทำกินใน จ.อุดรมีชัย โดยบริษัทระบุว่าได้รับสัมปทานมาจากรัฐบาลกัมพูชา แต่มีการเผาทำลายบ้านเรือนเพื่อผลักดันชาวบ้านออกไป เพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกอ้อยป้อนให้กับมิตรผล ซึ่งเป็นเจ้าตลาดน้ำตาลรายใหญ่ของเอเชีย

เนื้อหาในแถลงการณ์ของ AI ระบุว่า คำสั่งศาลในวันนี้ถือเป็นจุดพลิกผันด้านสิทธิมนุษยชนและการเรียกร้องความรับผิดชอบจากบริษัทเอกชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่จะไม่ปล่อยให้เส้นแบ่งเขตแดนเป็นบัตรผ่านให้บริษัทต่างๆ ลอยนวลพ้นผิด และไม่ควรปล่อยให้พรมแดนเป็นอุปสรรคแก่บุคคลที่ต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมหลังจากที่ตัวเองถูกละเมิดสิทธิ

นอกจากนี้ แถลงการณ์ AI ยังระบุด้วยว่า หลังจากการต่อสู้ฝ่าฟันนานนับทศวรรษ ในที่สุดชาวกัมพูชานับร้อยครอบครัวก็ได้รับข่าวดีในชั้นศาล โดยผู้เป็นตัวแทนชาวบ้านกัมพูชายื่นฟ้องต่อศาลไทย ได้แก่ 'สมิน ทิท' และ 'ฮอย ไม' 

ขณะที่เว็บไซต์ Prachatai รายงานอ้างอิง 'ทิตศาสตร์ สุดแสน' ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ซึ่งให้สัมภาษณ์ว่า "ฝ่ายโจทก์ได้ฟ้องละเมิดเรียกค่าเสียหายต่อชีวิตร่างกายเป็นค่าพยาบาลและสถานพยาบาล ค่าเสียหายต่อทรัพย์สินที่เป็นบ้านและพืชผลจากถูกเผาทำลาย และยังถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย จากบริษัทมิตรผลของไทยที่ให้บริษัทน้ำตาลอังกอร์เพื่อรับสัมปทานในการทำไร่อ้อยจากรัฐบาลกัมพูชาที่มีนโยบายให้เอกชนเข้าไปใช้ที่ดินที่ซ้อนทับกับที่อยู่และที่ทำกินของชาวบ้าน"

นัดพิจารณาครั้งต่อไป คือ วันที่ 5 ต.ค.ที่จะถึง โดยเป็นการนัดพร้อมเพื่อเตรียมความพร้อมในการสืบพยาน และกระบวนการต่อจากนี้คือศาลต้องส่งคำสั่งไปถึงบริษัทมิตรผลเพื่อให้ส่งคำให้การมายื่นต่อศาลเพื่อชี้แจงว่าได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ส่วนคำสั่งของศาลอุทธรณ์ก่อนหน้านี้ แตกต่างจากศาลชั้นต้น โดยระบุว่า "ไม่สามารถไปคุ้มครองสมาชิกของกลุ่มที่ต่างประเทศได้ เพราะว่าอยู่ที่กัมพูชา"

ด้านองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน 'ฮิวแมนไรท์วอทช์' (HRW) ออกแถลงการณ์ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2563 ระบุว่า คดีฟ้องร่วมของชาวกัมพูชากับบริษัท มิตรผล เปรียบได้กับเรื่องราวการต่อสู้ของ 'เดวิด' และ 'โกไลแอธ' ซึ่งถูกอ้างถึงในคัมภีร์ไบเบิล โดยหมายถึงสถานการณ์ที่ผู้ตกเป็นรองทุกด้านลุกขึ้นต่อสู้กับผู้ที่มีเหนือกว่ามาก

อย่างไรก็ตาม บริษัทมิตรผลเคยส่งจดหมายชี้แจงกับสำนักข่าว Reuters เมื่อปี 2561 ยืนยันว่า บริษัทเข้าไปลงทุนในกัมพูชาด้วยความตั้งใจอันดีที่จะพัฒนาความร่วมมือกับกัมพูชา และได้ขอให้รัฐบาลกัมพูชาดำเนินการตามกฎหมาย รวมถึงคุ้มครองสิทธิของชุมชนอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม แต่บริษัทจำเป็นต้องถอนการลงทุนในปี 2557 หลังเกิดสถานการณ์ตึงเครียดบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา 

มิตรผลย้ำด้วยว่า หลังจากนั้นทางบริษัทได้เสนอให้รัฐบาลกัมพูชาคืนที่ดินทำกินให้แก่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: