คณะลูกขุนของศาลนครซานฟรานซิสโกในสหรัฐฯ ลงมติให้ บริษัท ไบเออร์ เอจี บริษัทอุตสาหกรรมเคมีและยาจากเยอรมนี จ่ายเงิน 82 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2,511 ล้านบาท) แก่ 'นายเอ็ดวิน ฮาร์ดีแมน' แบ่งเป็นสินไหมทดแทน 5.3 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.68 ร้อยล้านบาท รวมถึงค่าเสียหายตามกฏหมายอีก 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2.38 พันล้านบาท ในการพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา
บลูมเบิร์กรายงานว่า นายฮาร์ดีแมนยื่นฟ้องบริษัทไบเออร์ โดยระบุว่าตนล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Non-Hodgkin หลังใช้ผลิตภัณฑ์ยาฆ่าหญ้า 'ราวด์อัพ' อย่างต่อเนื่องนานหลายสิบปี โดยราวด์อัพเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งซึ่งพัฒนาและจำหน่ายโดยบริษัทมอนซานโตของสหรัฐฯ จนกระทั่งถูก บ.ไบเออร์เข้าซื้อหุ้นเมื่อปี 2559
อย่างไรก็ตาม 'ไบเออร์ เอจี' แถลงจุดยืน เตรียมพร้อมสู้คดีต่อในชั้นอุทธรณ์ แต่คดีนี้เป็นคดีที่ 2 ที่คณะลูกขุนลงมติให้บริษัทจ่ายเงินชดเชยแก่ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ 'ราวด์อัพ' โดยคดีแรกในนครซานฟรานซิสโก เป็นการยื่นฟ้องของดเวย์น ลี จอห์นสัน ผู้ดูแลสวนของโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง ซึ่งระบุว่า เขาใช้ยาฆ่าหญ้าราวด์อัพติดต่อกันเพราะไม่มีคำเตือนบนฉลากผลิตภัณฑ์ ทำให้เขาป่วยด้วยโรคมะเร็งและสูญเสียความสุขในชีวิต ซึ่งเดือน ส.ค. 2561 คณะลูกขุนและผู้พิพากษาศาลในซานฟรานซิสโก ตัดสินให้ บ.ไบเออร์ฯ จ่ายเงินชดเชยแก่จอห์นสันเป็นเงิน 78.6 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2,436 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีคดีที่ 3 ที่ไบเออร์ถูกฟ้องในศาลเมืองโอ๊กแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายลงความเห็นว่า ครั้งนี้บริษัทจะไม่มีข้อได้เปรียบเหมือนที่เคยมีในศาลซานฟรานซิสโก เพราะการพิจารณาคดีของศาลในเมืองโอ๊กแลนด์จะอนุญาตให้ทนายความนำเสนอข้อเท็จจริงต่อคณะลูกขุน เกี่ยวกับการรณรงค์ลับของบริษัทมอนซานโต ผู้ประกอบธุรกิจด้านเคมีเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตรรายใหญ่ของโลก ที่พยายามบิดเบือนข้อมูลซึ่งบ่งชี้ว่าผลิตภัณฑ์ 'ราวด์อัพ' มีส่วนประกอบที่เป็นสารก่อมะเร็ง
ขณะที่ฟอร์จูนรายงานว่า ผู้ยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยอาการเจ็บป่วยอันเป็นผลสืบเนื่องจากการใช้ยาฆ่าหญ้าราวด์อัพในสหรัฐฯ ขณะนี้ มีจำนวนกว่า 11,300 คดีทั่วประเทศแล้ว
ไบเออร์ตัดสินใจซื้อกิจการของมอนซานโตเพื่อต่อยอดการพัฒนาด้านสุขภาพและเกษตรกรรมที่มอนซานโตมีความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านเมล็ดพันธุ์และพืชตัดต่อพันธุกรรม (GMOs) โดยดีลการซื้อขายครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 2559 ซึ่งการแข่งขันในอุตสาหกรรมการเกษตรที่เน้นการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกำลังมีความเข้มข้นสูง
ในขณะนั้น หลายบริษัทควบรวมกิจการกันเพื่อหวังการพัฒนาที่ก้าวกระโดด เช่น บริษัทดาวน์และดูพอนต์ (Dow & DuPont ) และเคมไชน่ากับซินเจนต้า (ChemChina & Syngenta) ซึ่งแน่นอนว่าไบเออร์ก็ไม่อยากล่าช้ากว่าบริษัทคู่แข่ง อีกทั้งมอนซานโตยังเป็นผู้นำด้านเกษตรกรรมดิจิทัลที่กำลังบูมในขณะนั้นด้วย
อย่างไรก็ตาม การเข้าไปครอบครองมอนซานโตด้วยวงเงินกว่า 6.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2.04 ล้านล้านบาท ดูจะสร้างความปวดหัวมาให้กับไบเออร์ไม่หยุดหย่อน โดยเฉพาะในกรณีของผลิตภัณฑ์กำจัดวัชพืชอย่าง 'ราวด์อัพ'
ตั้งแต่เข้าครอบครองมอนซานโต มูลค่าหุ้นของบริษัทไบเออร์ลดลงกว่าร้อยละ 40 อีกทั้งในวันพฤหัสบดี (28 มี.ค.2562) หรือ 1 วันหลังคำตัดสินของศาลสหรัฐฯ หุ้นของไบเออร์ก็ตกลงอีกร้อยละ 3.3 มาอยู่ที่ราคา 54.48 ยูโร หรือประมาณ 1,940.68 บาท ต่อ 1 หุ้น ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี
ไกลโฟเสต เป็น 1 ใน 3 สารเคมีกำจัดวัชพืชซึ่งได้รับความนิยมไปทั่วโลก นอกเหนือจาก 'พาราควอต' และ 'คลอไพริฟอส' แต่สารเคมีทั้ง 3 ตัว ถูกตั้งข้อสงสัยและมีการเรียกร้องให้ศึกษาวิจัยผลกระทบในการใช้งานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากผู้ใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้หลายรายล้มป่วยโรคมะเร็ง
อย่างไรก็ตาม ฟอร์จูนรายงานอ้างอิงคดีของดเวย์น ลี จอห์นสัน ซึ่งป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน เช่นเดียวกับเอ็ดวิน ฮาร์ดีแมน พบว่า เขาสัมผัสกับยาราวด์อัพโดยตรงอย่างต่อเนื่องจากการทำหน้าที่ผู้ดูแลสวนในโรงเรียนมัธยมช่วงปี 2557-2559 และเขาถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเมื่อปี 2560 จึงตัดสินใจยื่นฟ้องบริษัทผู้เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ราวด์อัพ ซึ่งถูกเปลี่ยนจากมอนซานโต้มาเป็นไบเออร์
แม้ฝ่ายกฎหมายของไบเออร์จะโต้แย้งในคดีของจอห์นสันว่าเมื่อปี 2561 ว่า ราวด์อัพไม่น่าใช่สาเหตุทำให้เกิดมะเร็งในกรณีนี้ โดยระบุว่า ตามปกติแล้ว โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองต้องใช้เวลานานกว่าจะเกิดขึ้นได้ แต่ช่วงเวลาสั้นๆ ไม่กี่ปีที่จอห์นสันเป็นผู้ดูแลสวน ไม่น่าจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพจนถึงขั้นป่วยเป็นมะเร็ง พร้อมโต้แย้งว่า แม้แต่หลักฐานการแพทย์ก็ไม่อาจวินิจฉัยได้ชัดเจนว่า สาเหตุที่ทำให้จอห์นสันเป็นโรคมะเร็งเกิดจากอะไรกันแน่ และหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ เองก็ไม่ได้ขึ้นบัญชีสารไกลโฟเสตว่าเป็นสารเคมีต้องห้ามแต่อย่างใด
ทว่า คณะลูกขุนและผู้พิพากษาของนครซานฟรานซิสโกพิจารณาหลักฐานที่บ่งชี้ว่า นักวิจัยของมอนซานโตและผู้เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ราวด์อัพ ทราบดีตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 1970 ว่า ไกลโฟเสตเป็นสารก่อมะเร็ง แม้จะป้องกันความเสี่ยงได้ด้วยการไม่ให้ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์สัมผัสกับสารเคมีโดยตรง แต่บริษัทมอนซานโตก็ไม่ได้ระบุคำเตือนบนฉลากผลิตภัณฑ์ราวด์อัพเพื่อแจ้งแก่ผู้ใช้แต่อย่างใด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: