วันที่ 20 ต.ค. 2565 ดร.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่สื่อหลายสำนักเปิดโปงกระบวนการหักหัวคิวเงินกู้ซื้อบ้านพักสวัสดิการทหาร โดยมีอดีตนายทหารชั้นผู้น้อยและบริษัทผู้ประกอบการสร้างบ้านเข้าให้ข้อมูลกับสื่อจนถูกข่มขู่ซ้ำอีกว่า เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ถูกซุกไว้ใต้พรม แม้จะถูกเปิดโปงภายหลังเหตุโศกนาฏกรรมที่ จ.นครราชสีมา เมื่อปี 2563 แต่วงจรอุบาทว์นี้ยังคงวนเวียนกัดกร่อนสังคมไทยไม่ถูกแก้ไขมาจนทุกวันนี้จนเกิดการร้องเรียนขึ้นอีก ประชาชนคนไทยรู้สึกผิดหวังละอายใจที่ต้องรับฟัง ‘ชุดคำตอบ’ เดิมๆ จากผู้รับผิดชอบว่า ‘เป็นการกระทำส่วนบุคคล’ ทั้งที่สาเหตุหลักของการเหตุสลดต่างๆที่เกิดขึ้น มีที่มาจาก ‘ระบอบอำนาจนิยมภายในกองทัพ’ ที่ทหารชั้นผู้น้อยถูกเอารัดเอาเปรียบทั้งในมิติของอำนาจ ค่าจ้าง และความเป็นมนุษย์ ใช่หรือไม่ การกดขี่ทางชนชั้นของกองทัพเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฎิเสธได้ในสังคมไทย สะท้อนผ่านหลายกรณี เช่น ทหารรับใช้แรงงานฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย กำลังพลล่องหนใน กอ.รมน. หรือคลิปการใช้อำนาจของผู้นำหน่วยขณะสั่งสอนทหารชั้นผู้น้อย ซึ่งในยุคสมัยนี้ไม่ควรต้องมีใครถูกกดทับด้วยอำนาจภายใต้เงินภาษีของประชาชนอีกแล้ว
ดร.ลิณธิภรณ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานภายใต้กระทรวงกลาโหมยังถูกมองว่าเป็นดินแดนสนธยาที่ยากต่อการตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอก จึงสงสัยว่าหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่พลเอกประยุทธ์อยู่ในอำนาจ ได้ส่งผลให้อิทธิพลของระบอบอำนาจนิยมแผ่ขยายมากขึ้นใช่หรือไม่ การกดขี่คนที่อยู่ต่ำกว่าโดยไม่สนใจกติกา เพราะถือว่าตนเองเป็นผู้ถือครองอำนาจ จึงยังคงทวีความรุนแรงขึ้นในทุกวันนี้ ซึ่งสอดรับกับการประเมินของสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ 2565 ตัวชี้วัดในด้านการป้องกันการทุจริต หน่วยงานที่มีคะแนน ITA ที่ถือว่าไม่ผ่าน เพราะต่ำกว่า 85 คะแนน คือ กองทัพบก 81.25 คะแนน โดยข้อมูลการประเมินชุดนี้ เป็นการประเมินจากบุคลากรภาครัฐ และประชาชนที่เคยติดต่อหรือรับบริการจากหน่วยงานภาครัฐ เข้ามามีส่วนร่วมกับการประเมินถึง 1,300,132 คน จึงไม่น่าแปลกใจที่กองทัพไทยวันนี้ กำลังเจอวิกฤตศรัทธาจากประชาชน
ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งสืบสาวหาต้นตอ หาผู้รับผิดชอบ ไม่ใช่การผลักภาระไปที่ผู้ประกอบการ หรือข้าราชการทหารชั้นผู้น้อย ต้องเข้าไปดูถึงชั้นระดับนายพลมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ ผู้นำประเทศอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและยังควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ควรต้องมีส่วนรับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วย หากกองทัพไม่จริงจังในการสืบหาความจริงในเรื่องดังกล่าว จะส่งผลเสียต่อความน่าเชื่อถือของกองทัพในสายตาประชาชน และในสายตาของต่างชาติ ทหารต้องเป็นทหารมืออาชีพเหมือนในประเทศที่เจริญแล้วให้ได้
“ณ วันนี้ คนไทยทุกคนยังคงจำคำมั่นสัญญาที่อดีต ผบ.ทบ.ให้ไว้ว่าจะปฏิรูปกองทัพภายใน 90 วันหลังเหตุโศกนาฎกรรมที่นครราชสีมาเมื่อต้นปี 2563 คำมั่นของชายชาติทหารในวันนั้น พล.อ.ประยุทธ์ได้ยินหรือไม่ หากท่านไม่ได้ยินหรือจำไม่ได้ ก็ขอให้จดจำเสียงร่ำไห้ของครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุโศกนาฏกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากความล้มเหลวที่ในยุคที่ท่านเป็นนายกฯ ด้วย” ดร.ลิณธิภรณ์กล่าว