นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หารือกับผู้แทนกลุ่ม 10 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 เพื่อรายงานสถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในไทย และแนวทางแก้ไขวิกฤตอุตสาหกรรมเหล็ก
กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าผลักดันนโยบาย สู้ เซฟ สร้าง ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมดำเนินธุรกิจไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งอุตสาหกรรมเหล็กก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ภาครัฐและกระทรวงฯ ให้ความสำคัญ โดยปัจจุบันสถานการณ์การซื้อขาย-ส่งออกเหล็กในไทยค่อนข้างประสบปัญหา มีอัตรากำลังการผลิตอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ และมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่เติบโต โดยทางสมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย ได้เสนอแนวทางเพื่อแก้ไขวิกฤตอุตสาหกรรมเหล็ก คือ
1.มาตรการสงวนเศษเหล็กเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าเหล็กในประเทศ
2.การควบคุมสินค้าเหล็กโครงสร้างสำเร็จรูป ที่นำเข้าจากต่างประเทศ
3.มาตรการห้ามตั้ง/ขยายโรงงาน เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต และเหล็กแผ่นรีดร้อน
4.ส่งเสริมให้โครงการภาครัฐสินค้าเหล็กในประเทศที่ผลิตจากโรงงานที่ได้รับรองอุตสาหกรรมสีเขียวตั้งแต่ระดับ 4 ขึ้นไป
5.นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดการซากรถยนต์
6.นโยบายส่งเสริมการใช้เหล็กในโครงการร่วมลงทุนภาครัฐเอกชน (PPP) ต่อยอดมาตรการ Made in Thailand
ซึ่งกระทรวงฯ จะนำข้อหารือในวันนี้ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์การช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมเหล็กต่อไป
กลุ่ม 10 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย ประกอบด้วยกลุ่มผู้ผลิตเหล็กทรงแบนเหล็กทรงยาว ผู้ใช้/แปรรูปและสนับสนุนการผลิตเหล็กของประเทศไทย มีสมาชิกรวมกว่า 510 บริษัท ปริมาณจ้างงานกว่า 51,000 อัตรา ประกอบด้วย
1) สมาคมการค้าผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี
2) สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น
3) สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน
4) สมาคมผู้เหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า
5) สมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย
6) สมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย
7) สมาคมโลหะไทย
8) สมาคมพัฒนาสแตนเลสไทย
9) สมาคมชุบสังกะสีไทย
10) สมาคมหลังคาเหล็กไทย