ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนฟอร์ตี้ฟายไรต์พร้อมด้วยเหยื่อจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา และการปราบปรามประชาชนจากผลพวงการรัฐประหารเมียนมาเมื่อปี 2564 เตรียมสำนวนการยื่นฟ้องร้องภายใต้เขตอำนาจสากล ณ ประเทศเยอรมนี ต่อนายพลเผด็จการเมียนมา ในขณะที่การทำรัฐประหารในเมียนมาเข้าใกล้เวลาครบรอบ 2 ปีแล้ว แต่นายพลเมียนมายังคงลอยนวลพ้นผิด และไม่ถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอยู่จนถึงปัจจุบัน

ในการแถลงข่าวถึงการยื่นฟ้องคดีใหม่ ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ในวันนี้ (24 ม.ค.) แมทธิว สมิธ ผู้อำนวยการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง ฟอร์ตี้ฟายไรต์ ระบุว่า เดิมทีในปี 2562 ทางฟอร์ตี้ฟายไรต์ทำการสืบสวนสอบสวนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ของเมียนมา ซึ่งเข้าข่าย อาชญากรรมที่ร้ายแรง อันเป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยกองทัพเมียนมาได้ก่ออาชญากรรมที่ร้ายแรงมาร่วมทวรรษโดยปราศจากการรับผิดใดๆ

สมิธระบุว่า ทางฟอร์ตี้ฟายไรต์รวบรวมหลักฐานเป็นเวลากว่า 2 ปี เพื่อการยื่นฟ้องร้องการพิจารณาคดีอาชญากรรมที่ร้ายแรงต่อศาลในประเทศเยอรมนีตั้งแต่ก่อนการระบาดของโควิด-19 และการทำรัฐประหารของกองทัพเมียนมาเมื่อปี 2564 อย่างไรก็ดี การทำรัฐประหารเมียนมาได้เกิดขึ้นในวันที่ 1 ก.พ. 2564 ส่งผลให้ฟอร์ตี้ฟายไรต์เดินหน้าการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมที่ร้ายแรงต่อ จนฟอร์ตี้ฟายไรต์สามารถรวบรวมหลักฐาน และยื่นฟ้องพร้อมกันกับเหยื่อผู้รอดชีวิตและพยาน 16 ราย ต่ออัยการสูงสุดแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี ซึ่งมีขอบเขตอำนาจภายใต้กฎหมายว่าด้วยการก่ออาชญากรรมอันละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายเยอรมนี

สมิธกล่าวว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ยื่นฟ้องร้อง 16 ราย เป็นผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญาระหว่างปี 2559 และ 2560 และอีกครึ่งเป็นผู้รอดชีวิตจากการก่ออาชญากรรมที่ร้ายแรง ภายหลังจากการทำรัฐประหารโดยกองทัพเมียนมาระหว่างปี 2564 ถึง 2565 ซึ่งมีหลักฐานใหม่บ่งชี้ถึงการที่กองทัพเมียนมามีการกระทำอย่างเป็นระบบจากการสังหาร ข่มขืน ทรมาน กักขัง บังคับสูญหาย ลงโทษ และการกระทำอื่นอันเข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ และการก่ออาชญากรรมสงคราม ภายใต้กฎหมายเยอรมนี ซึ่งบ่งชี้ว่านายพลเมียนมาส่วนรับผิดชอบโดยตรงต่อการกระทำดังกล่าว

ความพยายามในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งความพยายามที่แยกออกมาจากการดำเนินการสืบสวนสอบสวนการบังคับให้ออกนอกประเทศต่อชาวโรฮิงญา ซึ่งดำเนินการโดยศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) การพิจารณาคดีจากกรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาในระดับรัฐโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (IJC) และการดำเนินการตามเขตอำนาจตามหลักสากลในประเทศอาร์เจนตินาต่อประเด็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดในเมียนมามารับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่ร้ายแรง จากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาและการปราบปราบสังหารประชาชนและกลุ่มต่อต้านการรัฐประหารเมียนมา

“สมาชิกในหมู่เผด็จการเมียนมาจะต้องไม่รู้สึกปลอดภัยจากความยุติธรรมในโลกใบนี้ และพวกเขาต้องถูกนำตัวมารับผิดชอบ” สมิธกล่าว “ใครก็ตามที่มีส่วนในระบอบเผด็จการทหารเมียนมาที่มีข้อมูล และต้องการจะทำในสิ่งที่ถูกต้องควรก้าวออกมา และให้ความร่วมมือกับกลไกความยุติธรรมระหว่างประเทศ” ทั้งนี้ กระบวนการเขตอำนาจสากลบนชั้นพิจารณาคดีของเยอรมนีมีหลายร้อยคดีที่รอการพิจารณา โดยทางฟอร์ตี้ฟายไรต์คาดหวังว่า ทางการเยอรมนีจะตระหนักถึงความเร่งด่วนของกรณียื่นฟ้องร้องครั้งนี้ ทั้งนี้ ช่วงเวลาของการพิจารณาคดียังคงไม่มีห้วงกำหนดที่ชัดเจน

สมิธย้ำจุดยืนว่า “เผด็จการกองทัพไม่ใช่รัฐบาลของเมียนมา พวกเขาควรได้รับการปฏิบัติเช่นการเป็นอาชญากร พล.อ.อาวุโสมินอ่องหล่ายน์ กำลังนำประเทศไปบนเส้นทางอันมืดมิดไร้ปลายทาง” สมิธกล่าวเสริมอีกว่า “เขาและผู้มีส่วนรับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่ร้ายแรง จะต้องถูกนำตัวมารับผิดชอบ”

ภวานี นาการาจ ภัท เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน ฟอร์ตี้ฟายไรต์ ซึ่งรับผิดชอบต่อเหยื่อจากผลพวงการรัฐประหารเมียนมาระบุว่า เหยื่อทั้ง 16 ราย ซึ่งเป็นหญิง 6 ราย และชายอีก 10 ราย จากเชื้อชาติอาระกัน (ยะไข่), พม่า, ฉิ่น, กะเหรี่ยง, มอญ, คะเรนนี และโรฮิงญา ในตอนนี้กำลังอาศัยอยู่ในเมียนมา บ้างหนีออกนอกประเทศไปยังบังคลาเทศ มาเลเซีย อินเดีย เยอรมนี และสหรัฐฯ ทั้งนี้ ฟอร์ตี้ฟายไรต์ พบการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบภายหลังจากการทำรัฐประหารของกองทัพเมียนมา โดยกองทัพเมียนมามีส่วนรับผิดชอบต่อการกระทำทั้งหมด 

ภวานีระบุว่าจากการสอบสวน ฟอร์ตี้ฟายไรต์พบว่า เหยื่อต่างสูญเสียบ้าน ครอบครัว การดำเนินชีวิต เสรีภาพ หลายรายยังคงใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัว ทั้งหมดต่างให้ปากคำถึงการสังหาร บังคับสูญหาย การใช้ความรุนแรง การทรมาน การทิ้งระเบิดและกราดยิง การทำลายที่อยู่อาศัยพลเรือน การกดทับเสรีภาพทางคำพูดและการแสดงออก รวมถึงสิทธิอื่นๆ ในการใช้ชีวิตและเสรีภาพ เหยื่อครึ่งหนึ่งขอไม่เปิดชื่อตัวเองจากเหตุผลความกลัวแม้จะเป็นการให้การต่ออัยการเยอรมนี ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งยอมเปิดเผยชื่อตัวเองโดยมิใช่เพราะพวกเขาไม่มีความกลัว แต่เกิดจากการที่พวกเขาต้องการต่อสู้จากการกดทับของกองทัพเมียนมา

ภวานีระุว่า เหยื่อที่ยื่นฟ้องคดีในครั้งนี้ต่ออัยการเยอรมนี เพื่อนำตัวนายพลเมียนมามารับผิดชอบจากการลอยนวลพ้นผิด หลายรายถูกทรมาน ยิง ควบคุมตัว ในขณะที่อีกบางรายยังคงอยู่ในบัญชีหมายหัวของกองทัพเมียนมา

ในอีกทางหนึ่ง จอห์น ควินลีย์ ผู้อำนวยการ ฟอร์ตี้ฟายไรต์ ซึ่งรับผิดชอบต่อเหยื่อจากผลพวงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ระบุว่า เหยื่อโรฮิงญา 10 รายเปิดเผยถึงเหตุการณ์การละเมิดโดยกองทัพเมียนมา ซึ่งเข้าข่ายการก่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การก่ออาชญากกรรมงคราม และอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ ในพื้นที่รัฐยะไข่ของเมียนมาระหว่างปี 2559 ถึง 2560

ควินลีย์ ระบุว่า เหยื่อทั้งหมดซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกองกำลังชนกลุ่มน่อยในรัฐยะไข่ขนาดนั้น เปิดเผยให้เห็นถึงหลักฐานถึงอาชญากรรมอันรุนแรง มีหมู่บ้านกว่า 300 แห่งถูกเผาโดยกองทัพเมียนมา ในขณะนี้ชาวโรฮิงญาประมาณ 750,000 รายถูกบังคับให้ลี้ภัยไปยังบังคลาเทศจนถึงทุกวันนี้ ควินลีย์ระบุว่า ผู้ยื่นฟ้องรายหนึ่งระบุถึงเหตุการณ์ในปี 2560 ขณะกองกำลงเมียนมาบุกเข้ามายังหมู่บ้านของเธอ ก่อนจะเผาทำลายและสกัดกั้นไม่ให้ชาวโรฮิงญาหลบหนีออกมา ทั้งนี้ สมาชิกครอบครัว 7 รายของเธอถูกสังหาร นอกจากนี้ในเหตุการณ์แยกกัน เธอยังถูกทหารเมียนมาใช้มีดกรีดแทงเธอจนเกิดแผลเป็นถาวร

“สมาชิก 8 คนของครอบครัวผมโดยฆ่าทั้งหมด รวมถึงแม่ของผม พี่สาว 2 คน ภรรยา หลานชาย และลูกของผมทั้ง 2 คน” ควินลีย์กล่าวถึงคำให้การของเหยื่อชาวโรฮิงญา ซึ่งปัจจุบันหลบหนีออกนอกรัฐยะไข่ และกำลังอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่บังคลาเทศ ผู้ฟ้องร้องชาวโรฮิงญาอีกรายยังระบุถึงการจำกัดการเดินทาง การห้ามค้างแรมนอกเขตพื้นที่กำหนด โดยปราศจากการได้รับอนุญาตจากทหารเมียนมา 

“ในฐานะหญิงโรฮิงญา ฉันต้องการความยุติธรรมต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพื่อที่มันจะไม่ได้เกิดขึ้นอีก” เหยื่อผู้ร่วมเข้าฟ้องร้องต่ออัยการเยอรมนีระบุผ่านควินลีย์ “ในฐานะชาวโรฮิงญาผู้ฟ้องร้อง ฉันพร้อมที่จะยื่นคดีต่อเขตอำนาจตามหลักสากล”

นิคกี้ ไดมอนด์ ชาวพม่ามุสลิมซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้ และเป็นกรรมการบริหารของฟอร์ตี้ฟายไรต์ กล่าวผ่านระบบซูมว่า เขตอำนาจตามหลักสากล ซึ่งถูกใช้ในการยื่นฟ้องร้องคดีในครั้งนี้ที่เยอรมนี เกิดขึ้นจากความพยายามในการนำผู้กระทำความผิดมารับผิดชอบ เนื่องจากเหยื่อหมดศรัทธาต่อระบบยุติธรรมในเมียนมา ในขณะที่การสังหาร ทรมาน ข่มขืน และบังคับสูญหายยังคงเกิดขึ้นต่อไป โดยกระบวนการยุติธรรมของเยอรมนีจะเป็นทางออกเดียวของผู้ถูกกดขี่เมียนมา

ในอีกด้านหนึ่ง อับดุล ราชีด โจทก์ชาวโรฮิงญาในคดีนี้ ซึ่งปัจจุบันลี้ภัยออกจากเมียนมาไปยังสหรัฐฯ ระบุว่า ญาติพี่น้องของเขาและเพื่อนในสมัยวัยเด็ก ถูกผลักดันให้ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศไปยังค่ายผู้ลี้ภัย ด้วยความหวังว่าจะได้กลับมายังบ้านเกิดอีกครั้ง แต่ความหวังนั้นไม่เคยเกิดขึ้น ราชีดระบุว่า เขาเองพบเห็นการก่ออาชญากรรมโดยกองทัพเมียนมาด้วยตาของตัวเอง

นอกจากนี้ ราชีดยังเคยเป็นผู้ลงรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเมียนมาเมื่อปี 2558 และ 2563 อย่างไรก็ดี รัฐเมียนมาไม่อนุญาติให้ตัวเขาเองเข้าปฏิบัติหน้าที่แม้เขาจะได้รับเลือกตั้ง จากการระบุว่าเขาขาดคุณสมบัติ ทั้งนี้ รัฐเมียนมาไม่ให้เหุตผลของการขาดคุณสมบัติของราชีดว่าเกิดขึ้นจากประเด็นอะไร แม้ตระกูลของราชีดจะเคยรับราชการในพม่ามาตั้งแต่รุ่นพ่อ ครอบครัวของราชีดยังถูกถอดสัญชาติเมียนมาทั้งหมด

ราชีดยังเล่าถึงการสังหารมุสลิมเมียนมา โดยเฉพาะชาวโรฮิงญา ไม่เว้นแม้แต่เด็กวัย 12 ปี ชาวโรฮิงญายังถูกผลักดันให้ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ ด้วยการถอนสัญชาติเมียนมา ปฏิเสธสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง ปราศจากสิทธิในการเดินทาง การถือครองที่ดิน ฯลฯ ราชีดย้ำว่า มีชาวโรฮิงญากว่า 70% ในปัจจุบันที่อาศัยอยู่นอกประเทศ 1 ล้านคนในนั้นอาศัยอยู่ในบังคลาเทศ ในขณะที่อีกครึ่งล้านอาศัยอยู่ในหลายประเทศ ราชีดกล่าวว่า นี่คือการก่ออาชญากรรมอันร้ายแรงของกองทัพเมียนมาต่อชาวโรฮิงญา