ไม่พบผลการค้นหา
‘หมอระวี’ ยังลุยต่อ ดันกฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมือง แต่เปลี่ยนชื่อลดแรงต้าน เป็น ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข เตรียมล่าชื่อ ส.ส. ชงเข้าสภาฯ สัปดาห์หน้า

วันที่ 12 ธ.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวการพยายามผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการนิรโทษกรรมคดีการเมือง ที่นำโดย นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ และส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่า ล่าสุด นพ.ระวี ได้มีการปรับเปลี่ยนชื่อและเนื้อหาในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว โดยล่าสุด ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมสังคมสันติสุข เพื่อลดแรงต้าน

และมีรายงานว่า นพ.ระวี เตรียมเคลื่อนไหวเสนอร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในสัปดาห์หน้าหลังก่อนหน้านี้ได้มีการเดินสายหารือกับทั้ง ส.ส.รัฐบาล ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา ตลอดจนแกนนำกลุ่มสีเสื้อทางการเมืองหลายกลุ่ม เพื่อขอความเห็นและให้ช่วยสนันสนุนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในสัปดาห์หน้า หากได้รับเสียงสนับสนุนจากส.ส.ที่ต้องมีส.ส.ลงชื่อด้วยจำนวนหนึ่ง

สำหรับเนื้อหาในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ระบุเหตุผลในการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการสร้างเสริมสังคมสันติสุขโดยให้มีการนิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน

ส่วนเนื้อหาในร่างดังกล่าว มีสาระสำคัญเช่น มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมืองหรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองแต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองโดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตนการต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการชุมนุม การประท้วงหรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกายสุขภาพทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมืองตามบัญชีแนบท้าย ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ไม่เป็นความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่งต่อไปและให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

เนื้อหาในร่างระบุว่า ทั้งนี้ การกระทำความผิดในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำความผิดฐานทุจริตหรือประพฤติมิชอบ-การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือเป็นการกระทำที่ส่งผลให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

มาตรา 4 เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าผู้กระทำการตามมาตรา 3 วรรคหนึ่งยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาลหรืออยู่ในระหว่างการสอบสวนให้พนักงานสอบสวนผู้ซึ่งมีอำนาจสอบสวนหรือพนักงานอัยการระงับการสอบสวนหรือการฟ้องร้องหากถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้พนักงานอัยการหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้องหรือให้ถอนฟ้องถ้าผู้นั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีไม่ว่าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเอง ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีในกรณีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดถ้าผู้นั้นอยู่ระหว่างการรับโทษให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวผู้นั้น

มาตรา 5 ในกรณีที่การกระทำผิดตามมาตรา 3 ก่อให้เกิดความเสียหายทางแพ่งแก่หน่วยงานของรัฐ ให้ความเสียหายทางแพ่งนั้นเป็นอันระงับไปกรณีตามวรรคแรก ถ้ามีการดำเนินคดีถึงที่สุดและมีการบังคับคดีไปแล้วเพียงใดก็ให้การบังคับคดีนั้นสิ้นสุดลงและให้คืนทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดแก่ผู้ที่ได้รับนิรโทษกรรมโดยเร็ว ถ้าอยู่ระหว่างการบังคับคดีก็ให้ยกเลิกการบังคับคดีนั้น

มาตรา 6 การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ไม่เป็นการตัดสิทธิของบุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐในการเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งจากการกระทำของบุคคลใดซึ่งพ้นจากความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้และทำให้ตนต้องได้รับความเสียหาย

มาตรา 7 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัตินี้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแต่งตั้ง “คณะกรรมการกลั่นกรองคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรม”มีจำนวนไม่เกิน 7 คน ภายใน 60 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้ มีหน้าที่

(1) รับเรื่องจากผู้ต้องหาคดีตามมาตรา 3 ที่ต้องการได้รับการนิรโทษกรรม

(2) พิจารณาว่าคดีที่ยื่นเข้ามาตามข้อ (1) คดีใดอยู่ในเงื่อนไขที่จะได้รับการนิรโทษกรรม

(3)แจ้งความคิดเห็นของกรรมการกลั่นกรองคดีที่จได้รับการนิรโทษกรรมไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้

คำชี้ขาดของคณะกรรมการกลั่นกรองคดีให้เป็นที่สุดและให้หน่วยงาน หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ปฏิบัติไปตามคำชี้ขาดโดยพลัน คณะกรรมการกลั่นกรองคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรมมีวาระ 10 เดือนนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง

มาตรา 9 หากผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้กระทำความผิดซ้ำภายหลังจากได้รับนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ห้ามมิให้ศาลรอลงอาญาหรือรอการกำหนดโทษตามประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาสำหรับคดีที่กระทำความผิดภายหลังจากได้รับนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว

มาตรา 9 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้