ไม่พบผลการค้นหา
'อูร์ ชาฮิน - อุซเล็ม ทูเรกซ์' สองสามีภรรยานักวิทยาศาสตร์เยอรมันเชื้อสายตุรกี ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จการทดลองวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของไฟเซอร์ ที่มีประสิทธิภาพสูงถึง 90%

เมื่อวันที่ 9 พ.ย. โลกได้พบกับข่าวดีที่เป็นความหวังของมนุษยชาติ เมื่อบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) ผู้ผลิตยาสัญชาติอเมริกัน และไบโอเอ็นเทค (BioNTech) บริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพจากเยอรมนี ประกาศความคืบหน้าครั้งสำคัญ เมื่อทั้งสองบริษัทสามารถร่วมกันผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ถึง 90% ซึ่งบริษัทถึงกับเผยว่า "นี่เป็นวันที่วิเศษของวิทยาศาสตร์และมนุษยชาติ"

ความสำเร็จในการทดลองวัคซีนโควิดระยะสามที่มีประสิทธิภาพสูงครั้งนี้ ต้องยกให้กับ สองสามีภรรยานักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันซึ่งเป็น 'Dream Team'ผู้อุทิศชีวิตให้กับการวิจัยภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านเซลล์มะเร็ง แต่การวิจัยดังกล่าวได้กลายเป็นความหวังให้กับโลกในการต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 

อูร์ ชาฮิน (Ugur Sahin) วัย 55 ปี ซีอีโอของบริษัทไบโอเอ็นเทค และ อุซเล็ม ทูเรกซ์ (Oezlem Tuereci) วัย 53 ปี หัวหน้าฝ่ายการแพทย์ของบริษัทเดียวกัน ทั้งสองเป็นคู่สามีภรรยาและเป็นเพื่อนร่วมงานในบริษัทเดียวกัน ทั้งสองยังมีภูมิหลังที่คล้ายคลึงกันในฐานะ ชาวเยอรมันที่มีเชื้อสายจากผู้อพยพชาวตุรกี

ชาฮิน เป็นลูกชายคนโตของผู้อพยพชาวตุรกีที่เข้ามาตั้งรกรากในเยอรมนีช่วงช่วงปลายทศวรรษ 1960 กระทั่งเมื่อ 4 ขวบ ชาฮินได้ย้ายตามบิดาเข้ามาใช้ชีวิตยังเยอรมนี โดยบิดาทำงานในโรงงานผลิตรถยนต์ฟอร์ดที่เมืองโคโลญ ขณะที่ อุซเล็ม ทูเรกซ์ เธอเกิดและเติบโตที่แคว้นโลเออร์แซกโซนี โดยมีบิดาเป็นศัลยแพทย์ชาวตุรกีที่ย้ายถิ่นฐานไปตั้งรกรากในเยอรมนี

ทูเรกซ์ ได้แรงบันดาลใจในการเป็นนักวิทยาศาสตร์จากการที่เห็นบิดาดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล ขณะที่ชาฮิน ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือวิทยาศาสตร์ที่เขามักยืมจากห้องสมุดในโบสถ์ใกล้บ้าน ความหลงใหลในวิทยาศาสตร์เป็นเหตุให้ทั้งสองพบรักกัน โดยเฉพาะการวิจัยด้านมะเร็งวิทยา ทั้งสองแต่งงานในปี 2545 ด้วยพิธีแสนเรียบง่ายโดยสละเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงเพื่อไปจดทะเบียนสมรส ก่อนกลับมาทำงานวิจัยในห้องแล็บต่อ ทั้งสองให้กำเนิดบุตรสามในอีก 4 ปีต่อมา 

ความสนใจด้านการพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านเซลล์มะเร็งในมนุษย์ เป็นจุดเริ่มต้นให้ทั้งสองก่อตั้งบริษัท Ganymed Pharmaceuticals เมื่อปี 2544 แต่ต่อมาทั้งสองตัดสินใจขายบริษัทดังกล่าวให้กับบริษัทยาของญี่ปุ่น ในปี 2559 ด้วยมูลค่า 1.4 พันล้านยูโร หรือราว 50,000 ล้านบาท

ต่อมาทั้งสองก่อตั้งบริษัทไบโอเอ็นเทค ขึ้นในปี 2551 มีเป้าหมายต่อยอดงานวิจัยเพื่อพัฒนาแอนติบอดีต่อสู้กับมะเร็ง ด้วยการนำสิ่งที่เรียกว่า mRNA ซึ่งเป็นโมเลกุลที่ทั้งคู่วิจัยมาตลอดเวลาไม่ต่ำกว่า 25 ปี ปัจุบันไบออนเทคมีพนักงานราว 1,300 คน 

วัคซีนโควิด

mRNA คือโมเลกุลที่ทำหน้าที่เสมือนผู้ส่งสาร โดยหากใส่สารพันธุกรรมของไวรัสโควิดเข้าไปใน mRNA แล้วฉีดเข้าร่างกายมนุษย์จะทำให้ร่างกายเปรียบเสมือนโรงงานผลิตวัคซีนในตัวเอง เพื่อให้สามารถสร้างสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การใช้ mRNA ในวัคซีนถือเป็นอะไรที่ใหม่มาก แทบไม่เคยมีการใช้มาก่อน แตกต่างกับวัคซีนไข้โดยทั่วไปซึ่งจะเป็นการนำไวรัสชนิดนั้นมาทำให้อ่อนฤทธิ์ลง แล้วฉีดเข้าร่างกายเพื่อให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกันขึ้นมาเอง

ชาฮิน เผยว่า เริ่มเห็นแนวโน้มความรุนแรงสถานการณ์โควิดระบาดหลังจากได้อ่านงานวิจัยของ Lancet ทำให้เขาตัดสินใจเรียกประชุมทีมนักวิจัยราว 500 คน เพื่อหาทางคิดค้นวัคซีนป้องกันโคโรนาไวรัส ภายใต้โครงการ 'light speed' โดยได้รับความร่วมมือกับ 'ไฟเซอร์' บริษัทยายักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ โดยเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงที่เยอรมนีประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศครั้งแรก ไบโอเอ็นเทค สามารถพัฒนาวัคซีนต้นแบบได้ถึง 20 ชนิด ซึ่งภายใต้ข้อตกลง ไบออนเทคต้องถ่ายทอดงานวิจัยด้าน mRNA ให้กับไฟเซอร์ แลกกับความช่วยเหลือด้านต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีน โดยไบโอเอ็นเทคจะเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ของวัคซีนดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว เนื่องจากเชื่อว่าวัคซีนดังกล่าวอาจสามารถต่อยอดพัฒนาวัคซีนชนิดอื่นๆ รวมถึงการรักษามะเร็งด้วยการใช้เทคโนโลยี mRNA

ก่อนหน้านี้ ดร. แอนโทนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคติดเชื้อและภูมิแพ้แห่งชาติของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญผู้เกี่ยวข้องกับการวิจัยวัคซีนในสหรัฐฯ เคยกล่าวว่า การพัฒนาวัคซีนที่ดี ต้องมีประสิทธิภาพให้ได้อย่างน้อย 60-70% ขึ้นไปจึงจะเหมาะสมในการใช้งาน ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วไปลงความเห็นไว้ที่สัดส่วนอย่างต่ำ 75% แต่วัคซีนโควิดนี้มีประสิทธิภาพมากถึง 90% 

วัคซีนโควิด


ราคาไม่โหด หวังทุกชาติเข้าถึงได้

ไรอัน ริชาร์ดสัน หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ของไบโอเอ็นเทค เผยว่า บริษัทจะตั้งใจคิดราคาค่าวัคซีนให้ต่ำกว่าราคาทั่วไปตามท้องตลาด โดยจะแตกต่างกันไปแต่ละภูมิภาค แต่จะคุ้มกับความเสี่ยงด้านการเงินจากการลงทุนในระยะยาวเพื่อพัฒนาวัคซีน เพื่อหวังให้ประเทศต่างทั้งชาติร่ำรวย และชาติกำลังพัฒนา สามารถเข้าถึงวัคซีนได้เท่าๆกัน อย่างไรก็ดี แม้บริษัทยังไม่เปิดเผยในรายละเอียดของเรื่องดังกล่าว แต่เคยมีรายงานในเดือนส.ค. ว่า รัฐบาลสหรัฐ ตกลงซื้อวัคซีนจากไฟเซอร์และไบออนเทคจำนวน 100 ล้านโดส ในราคา 39 ดอลลาร์ สำหรับการฉีด 2 เข็มต่อหนึ่งคอร์ส หรือเฉลี่ย 19.50 ดอลลาร์ต่อหนึ่งเข็ม

ไฟเซอร์กับไบโอเอ็นเทค เตรียมยื่นขออนุมัติวัคซีนฉุกเฉินต่อสำนักคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) เพื่อให้สามารถผลิตล็อตแรก 50 ล้านโดส ภายในสิ้นปีนี้ มากถึง 1,300 ล้านโดส ในปี 2564 โดยหลังการทราบข่าวความสำเร็จในการวิจัยวัคซีนโควิด-19 หลายประเทศทั้ง สหภาพยุโรป สหรัฐ สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น ได้เตรียมสั่งซื้อวัคซีนของไฟเซอร์รวมแล้วไม่น้อยกว่า 600 ล้านโดส


ความท้าทายต่อไป

แม้ความสำเร็จของวัคซีนโควิด จะส่งผลให้มูลค่าหุ้นของทั้งไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคพุ่งกระฉูดขึ้นทันที แต่ยังมีความท้าทายต่อไปคือ อุปสรรคใการขนส่งเนื่องจากวัคซีนประกอบด้วยสารพันธุกรรมที่ต้องเก็บในอุณภูมิเย็นจัดติดลบ 80 องศาเซลเซียส ข้อกำหนดดังกล่าวก่อให้เกิดความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มประเทศต่างๆ ในเอเชีย รวมทั้งในแอฟริกา และละตินอเมริกา ซึ่งเป็นเขตร้อนชื้น รวมถึงระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่เข้าถึงลำบาก จะเป็นปัญหาโจทย์ใหญ่ที่หลายชาติต้องร่วมแก้ไข โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นบ้านของกว่า 3 ใน 5 ของประชากรทั่วโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ที่มา : Reuters, theguardian, Reuters, CNN