ไม่พบผลการค้นหา
'ส.ว.สมชาย' ขอรอฟัง 'เพื่อไทย' แถลงกับพรรคร่วมฯ บ่ายวันนี้ ชี้หาก “เศรษฐา” แจงคุณสมบัติได้ ก็โหวตนายกฯ ผ่าน เชื่อ 'ทักษิณ' กลับบ้านไม่มีนัยอะไร

วันที่ 21 ส.ค. ที่อาคารรัฐสภา สมชาย แสวงการ สว. กล่าวถึงทิศทางการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 ส.ค.นี้ โดยระบุว่า ต้องรอดูการแถลงในช่วงบ่ายวันนี้ก่อน ว่าพรรคเพื่อไทยจะส่งชื่อใครเป็นแคนดิเดตนายกฯ หากยืนยันว่าเป็น เศรษฐา ก็พิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติตามมาตรา 88 และ 89 รวมถึงมาตรา 160 ด้วย 

ส่วนตัวขอรอฟังการแถลงข่าวในช่วงบ่ายวันนี้ก่อนว่า ชื่อที่ถูกเสนอจะมีคุณสมบัติอย่างไร มีพฤติกรรมทางจริยธรรมเหมาะสมหรือไม่ พร้อมยืนยันว่า สว.ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 พร้อมมองว่าหากวันนี้ เศรษฐา มาแถลงด้วยก็คงจะดี แต่ก็ไม่รู้ว่าจะมาด้วยหรือไม่ เพราะเมื่อครั้งที่แล้ว พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็ได้มาแถลงจัดตั้งรัฐบาล เราจะได้รู้

รวมถึงเรื่องที่ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมืองตรวจสอบก็ค่อนข้างจะร้ายแรง ย้ำว่าตนรับฟังทั้งหมด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ เพราะการแถลงข้อมูลให้ประชาชนรับทราบต้องการคำอธิบาย เนื่องจากอาจจะเกิดปัญหาในเรื่องของความซื่อสัตย์สุจริต แต่หาก เศรษฐาสามารถชี้แจงได้ว่า เรื่องที่ ชูวิทย์กล่าวหานั้น ทั้งในเรื่องของบริษัทนอมินีและกรณีที่แม่บ้านไปซื้อที่ดิน ก็เห็นเพียงเอกสารไปยังไม่ได้รับคำอธิบายที่ชัดเจน เพราะอาจเกี่ยวข้องกับการ “ฉ้อราษฎร์บังหลวง” หากมีความเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชั่นต่อประชาชน ถือว่าเป็นการการ “ฉ้อราษฎร์” ส่วน “บังหลวง” คือการได้ประโยชน์จากรัฐ จึงมองว่าหากชี้แจง สว.ในกรณีข้างต้นได้ สว.ก็โหวตให้ผ่าน แต่หากชี้แจงไม่ได้ สว.ก็ไม่โหวตผ่านให้ 

สมชาย กล่าวต่อว่า รอดูว่าในเวลา 14.00 น. ของวันนี้ จะมีพรรคใดร่วมรัฐบาลบ้าง เรื่องที่สำคัญ อาจจะไม่ใช่เรื่องหลัก แต่เป็นเรื่องที่ประชาชนควรรู้ คือ นโยบายร่วมของแต่ละพรรค เพราะที่ผ่านมานโยบายของแต่ละพรรคก็แตกต่างกัน ทั้งนโยบายประชานิยม เศรษฐกิจ และอื่นๆ จะทำอย่างไรให้หลอมรวม สลายขั้ว เพื่อประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เดินหน้าต่อไป

ส่วนข้อกังวลของ สว. ก่อนหน้านี้ สมชาย กล่าวว่า พรรคร่วมรัฐบาลน่าจะมีคำตอบในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยที่ไม่ต้องทำประชามติใหม่ เป็นการประหยัดงบประมาณ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ใช้เงินในการทำประชามติ 3,000-4,000 ล้านบาท ซึ่งครั้งนี้ก็ยังไม่รู้ว่าใครจะเข้ามาเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) หรืออาจเป็นนอมินีของพรรคการเมืองหรือไม่ และผู้ทรงคุณวุฒิจะเป็นผู้ที่เคยเสนอสิ่งสุดโต่งของรัฐธรรมนูญเหมือนที่เคยเผยแพร่ออกมาหรือไม่ จนทำให้กระทบต่อหมวด 1 และหมวด 2 

เพราะหากเป็นเช่นนั้น ประเทศจะไปต่อไม่ได้ และจะนำไปสู่ความขัดแย้ง ส่วนตัวขอเสนอว่า ถ้าอยากให้การโหวตนายกฯ ได้รับความเห็นชอบ ก็ไม่จำเป็นจะต้องแถลงให้เป็นวาระแห่งชาติ และไม่จำเป็นจะต้องเป็นวาระแรกในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เมื่อถามว่า มองว่าการที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กลับบ้านในวันเดียวกับที่มีการโหวตนายกฯ เป็นนัยยะอะไรทางการเมืองหรือไม่ นายสมชายยืนยันว่า ไม่มี หาก ทักษิณ จะกลับบ้านก็กลับได้อยู่แล้วเพราะเป็นคนไทย ซึ่งที่ผ่านมา ทักษิณ ก็ออกมาระบุว่า จะกลับบ้านหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่กลับ ยืนยันว่า ไม่มีปัญหาอะไร ในสภาก็ว่ากันไป การโหวตนายกฯ ไม่มีผล หากนายทักษิณยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ถือว่าเป็นการประนีประนอม เพื่อสลายขั้วอย่างแท้จริง 

ทั้งนี้ สมชาย เผยว่า มีการพูดคุยเรื่องดีลลับที่สิงคโปร์จริง พร้อมย้ำว่า ขึ้นอยู่กับการแถลงข่าวบ่ายนี้ ว่าจะดีลกันอย่างไร

เมื่อถามถึงกรณีที่หลายฝ่ายมองว่าแคนดิเดตนายกฯ ตัวจริง จะไม่ใช่ เศรษฐา แต่เป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ สมชาย กล่าวว่า เราไม่เคยปฏิเสธว่าพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และส่วนตัวไม่ได้มีปัญหากับพรรคเพื่อไทย มองว่าพรรคเพื่อไทยจะต้องเสนอแคนดิเดตนายกฯ ทั้งสามคนของพรรคอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐา แพทองธาร ชินวัตร หรือ ชัยเกษม นิติศิริ ส่วนตัวจึงมองว่าจะยังไม่ไปไกลถึงขั้นเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร แต่หากไม่เสนอแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย ก็จะเหมือนกรณีที่พรรคอนาคตใหม่ เสนอชื่อ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นนายกฯ

เมื่อถามว่า หากเทียบกรณีของ เศรษฐา กับกรณีที่ พิธาถูกกล่าวหา สมชาย กล่าวว่า ไม่ก้าวล่วง หากชี้แจงอย่างตรงไปตรงมา แต่ เศรษฐา ก็ควรออกมาชี้แจง เพราะ พิธา ก็เคยออกมาชี้แจงแล้วเช่นกัน แต่หากนายเศรษฐายังไม่ชี้แจงให้ชัดเจน ในสภาก็อาจจะมีการอภิปรายในกรณีนี้ ซึ่งอาจเกิดความเข้าใจผิด และส่งผลต่อการโหวตไปในทางลบ