วันนี้ (2 ส.ค. 2565) สภาองค์กรคุ้มครองของผู้บริโภค จัดวงเวทีเสวนาวิชาการ Consumer Forum Ep : 3 ชะตากรรมผู้บริโภคกับยุคผูกขาดคลื่นความถี่ เพื่อสร้างความเข้าใจ ผลได้ ผลเสีย และระดมความคิดหาทางออกในการคุ้มครองผู้บริโภค โดยสุภิญญา กลางณรงค์ อนุกรรมการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรคุ้มครองของผู้บริโภค กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านจากยุคสัญญาสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาตในรอบ 20-30 ปีที่ผ่านมาเรื่องมาสู่การแต่งตั้งคณะกรรมการกิจการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามมาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญโดยให้อำนาจ หน้าที่ และสิทธิของกสทช.ในการกำกับดูแลอุตสาหกรรม ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของคลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศ ดังนั้น เรื่องการควบรวมในอุตสาหกรรม ไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของชาติและเป็นคลื่นสาธารณะ จำเป็นต้องมีการกำกับดูแล
แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม มีภาพชัดเจนว่าที่ไม่มีรายใหม่เข้ามาตลาด มีแต่เอกชนรายใหญ่มีผู้ให้บริการจำนวนเท่าเดิม และในอนาคตมีความชัดเจนว่าเมื่อมีผู้แข่งขันน้อยรายเหลือเพียงแค่ผู้ให้บริการรายใหญ่เพียง 2 ราย ซึ่งจะกลายเป็นฝันร้ายของผู้บริโภคที่จะทำให้สภาพตลาดครั้งนี้ก้าวเข้าสู่การผูกขาดโดยถาวร
สถานการณ์ตอนนี้ถึงจุดสุกงอมแล้วเพราะกสทช.จะรับรายงานสรุปจากอนุกรรมการ 4 ชุด พร้อมด้วยรายงานสรุปผลศึกษาจากที่ปรึกษาด้วย ดังนั้น เวทีการแสดงความเห็นครั้งนี้เพื่อส่งเสียงไปยัง กสทช.ให้พิจารณาดีลการควบรวมครั้งนี้อย่างรอบด้าน
จี้ต้องเปิดข้อมูล-รายงานทุกฉบับ
ทั้งนี้ ในประเด็นอำนาจของ กสทช.ที่เอกชนอ้างมาตลอดว่า กสทช.ไม่มีอำนาจในการไม่อนุญาต ทำได้เพียงการออกมาตรการเฉพาะหลังการควบรวม แต่หากเราดูอำนาจ และหน้าที่ของกสทช. แสดงให้เห็นชัดเจนว่า กสทช. มีอำนาจตามประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกํากับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 และประกาศเรื่องมาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 เพื่อส่งเสริมการแข่งขันเสรีเป็นธรรมในกิจกรรมโทรคมนาคม และ คุ้มครองผู้บริโภค ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและเหตุผลของการมีอยู่ของ กสทช. นอกจากนี้ ภารกิจที่กสทช.ควรทำคือการทวงคืนคลื่นจากหน่วยงานที่อยู่กับกองทัพที่ใช้ประโยชน์ของคลื่นความถี่บ้างไม่ได้ใช้บ้าง
"รายงานของสำนักงาน กสทช.ที่จะเสนอเข้าบอร์ดในวันพรุ่งนี้ รวมถึงสรุปผลการศึกษาของอนุกรรมการทั้ง 4 ชุด และจากที่ปรึกษาที่กสทช.ว่าจ้างทั้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ปรึกษาอิสระฟินันซ่าเอง กสทช.ต้องเปิดเผยรายงานทุกอย่างเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ให้สาธารณะชนเข้าไปตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมอยากเห็นไม่ใช่มุบมิบการพิจารณาจากรายงานที่ไม่ได้มีการเปิดเผยเลย"
หยุดวาทะกรรมหลอกลวง
ด้าน ผศ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ในฐานะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์และอนุกรรมการด้านผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง กล่าวว่า อนุกรรมการด้านกฎหมายได้โหวตเรียบร้อยแล้วว่า กสทช.มีอำนาจในการพิจารณาและตัดสินใจเรื่องนี้ วาทะเรื่องที่ว่ากสทช.ไม่มีอำนาจควรหยุดได้แล้ว ควรจะพูดเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะเป็นลักษณะใด ยอมรับว่า การรวมธุรกิจ เลิกกิจการ แยกธุรกิจเป็นเรื่องปกติในการแข่งขัน แต่การกำกับดูแลคือหัวใจสำคัญในการดำเนินการ ยกตัวอย่างในมาเลเซียมีการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมลดจาก 4 รายเหลือ 3 ราย ทางมาเลเซียก็ออกมาตรการเฉพาะโดยบังคับขายคลื่นความถี่จำนวน 70 เมกะเฮิรตซ์ บังคับขายแบรนด์โทรศัพท์มือถือออกมา
ดังนั้น คำถามที่เกิดนี้คือการลดจาก 4 ไป 3 ราย แต่ในไทยลดจาก 3 รายไป 2 ราย แล้วหลังควบรวมเสร็จผู้ควบรวมจะมีมาร์เก็ต แชร์มากเกิน 50% สิ่งที่กสทช.จะต้องมาออกมาตรการเฉพาะต้องเข้มข้นและรุนแรงเพื่อทำให้ตลาดกลับไปหรือมีสภาพเท่ากับก่อนที่จะมีการควบรวมธุรกิจกัน
นอกจากนี้ ดร.พรเทพ ยังระบุว่า จากที่ตนเองเป็นอนุกรรมการฯ ได้สอบถามหลายครั้งๆ ผู้ที่ขอควบรวมไม่เคยพูดเลยว่า เพิ่มนวัตกรรมคืออะไร เพิ่มประโยชน์ผู้บริโภคคืออะไร ก็ไม่สามาถตอบคำถามได้เลย มีเพียงอ้างวาทะกรรมว่าจะก้าวไปเป็นเทค คัมปานี แต่พอถามว่าแล้วประชาชน ผู้บริโภคจะได้อะไรหลังจากการควบรวมก็ไม่มีคำตอบอะไรมายังอนุกรรมการฯได้เลย โดยอ้างแต่ว่าขึ้นอยู่กับบอร์ดใหม่ของบริษัทควบรวม ซึ่งสิ่งเหล่านี้มองว่า มันคือการขายฝันของผู้ควบรวม ไม่มีอะไรการันตีได้แน่นอนว่า สิ่งที่ผู้ควบรวมจะดำเนินการจะเกิดขึ้นได้จริง
'ธนาธร' กร้าว กสทช.ต้องไม่อนุญาตให้ควบรวม
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวว่า การพิจารณาของบอร์ด กสทช.ซึ่งมีแนวโน้มจะชี้ชะตาดีลนี้ในวันที่ 10 ส.ค. 2565 หลังจากรับรายงานจากสำนักงาน กสทช.ในวันพรุ่งนี้ (3 ส.ค.) โดยการพิจารณาจะอยู่บนข้อสรุป 4 ข้อคือ 1.อนุญาตให้ควบรวมไม่มีเงื่อนไข 2.อนุญาตให้ควบรวมโดยมีการกำหนดมาตรการเฉพาะเชิงพฤติกรรม เช่น คุมราคา อัตราค่าบริการ 3.อนุญาตให้ควบรวมโดยมีกำหนดมาตรการเฉพาะเชิงโครงสร้าง เช่น การขายสินทรัพย์ออกมา เสา สถานีฐาน คลื่นความถี่ และ 4.ไม่อนุญาตให้เกิดการควบรวม
ทั้งนี้ การทำหน้าที่ของ กสทช.หากเรามองที่จุดการของคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน กสทช.ต้องเลือกข้อ 4 คือไม่อนุญาตให้ควบรวม ซึ่งที่ตนบอกอย่างนี้ก็ เพราะกสทช.ไม่มีทางรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของเอกชนหาก กสทช.อนุญาตให้ควบรวมและกำหนดมาตรการเฉพาะเป็นสิ่งที่ กสทช.จะต้องทำหน้าที่ยากมากเพราะกสทช.ไม่รู้เท่าทันของเอกชนอย่างแน่นอน และที่ผ่านไม่เคยใช้ยาแรงใด กำกับเอกชน ดังนั้น กสทช.ควรจะยืนหยัดเคียงข้างประชาชน
"จุดยืนของผมคือไม่เห็นด้วยกับการควบรวมครั้งนี้ และขอให้พี่น้องคนไทยช่วยกันส่งเสียง แสดงจุดยืนเพื่อให้เสียงดังไปถึงผู้มีอำนาจการตัดสินใจคือ กสทช.ในการร่วมลงชื่อใน change.org และติด #หยุดการควบรวม ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 10 ส.ค.ที่จะมีการตัดสินใจของบอร์ด กสทช."
ค่าโทรขึ้น-ต้นทุนเอกชนลด
ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB - 101Public Policy Think Tank กล่าวว่า ตามแบบจำลองการควบรวมธุรกิจชี้ว่าผู้บริโภคอาจต้องจ่ายแพง 15-50 บาทต่อเดือน แต่ขณะที่การประหยัดต้นทุนของผู้ประกอบการต่อเลขหมายต่อเดือนจะลดลง 4-7 บาท ลดลง 2-3.6% ดังนั้น ที่เอกชนออกมาบอกว่า หลังการควบรวมกสทช.ก็ยังมีอำนาจในการคุมค่าบริการนั้น ความเป็นจริงคือ ราคาปัจจุบันของการให้บริการในประเทศนั้น ไม่ชนเพดานขั้นสูงตามที่กสทช.กำหนด โดยยังมีช่องว่างเหลือ 20% ดังนั้น แสดงว่า หลังการควบรวมยังมีพื้นที่จะขยับราคาขึ้นไปได้อีก 20% ทันที และหลังจากนั้น เอกชนอาจจะลดบ้างแพคเก็จลง เพื่อให้ผู้บรอผู้บริโภคต้องจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อให้ได้ปริมาณอินเทอร์เน็ตหรือค่าโทรเท่าเดิม
ยื่น 10,000 รายชื่อคัดค้านดีล
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า จุดยืนเราคัดค้านมาตลอด เพราะผู้บริโภคได้รับผลกระทบดังนั้น ควรต้องมีคนรับผิดชอบ หากนำเอาค่าเฉลี่ยค่าใช้จ่ายด้านโทรศัพท์ปัจจุบันที่ 220 บาทต่อเดือน แต่เมื่อดูจากแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ที่มีการรายงานออกมาเฉยๆนั้นพบว่า ค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคนั้นแพงขึ้นแน่นอน อีกทั้ง หากพิจารณาจากตัวเลขของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่แอ็คทีฟจริงในประเทศไทยจะอยู่ที่ 80 ล้านเลขหมาย ถ้าพบว่ามีค่าบริการเพิ่มขึ้น 20% อาจส่งผลต่อจำนวนค่าใช้จ่ายรวมของผู้ใช้งานทั้งประเทศเพิ่มอีก 3,520 ล้านบาทต่อเดือน ถ้าค่าโทรเพิ่ม 30% จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม 5,280 ล้านบาทต่อเดือน
จากกรณีที่มีหลายฝ่ายโจมตีการทำหน้าที่ของสภาองค์กรของผู้บริโภคว่า ทำไมพยายามคัดค้านแต่ประเด็นการควบรวมระหว่าง True และ dtac ก็เพราะว่า หากการควบรวมแล้วเสร็จจะทำให้มาร์เก็ต แชร์ในตลาดเพิ่มเป็น 50% ซึ่งเท่ากับเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด และที่ผ่านมาเอกชนพยายามอ้างว่ากสทช.ไม่มีอำนาจไม่มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องนี้ ทั้งที่จริงหลายๆฝ่ายที่เกี่ยวข้องยืนยันว่ากสทช.มีอำนาจที่ได้รับมาตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้ง ในประเด็นการควบรวมธุรกิจระหว่าง AIS และ 3BB นั้น สภาองค์กรของผู้บริโภคก็พร้อมตรวจสอบอย่างเข้มข้นเช่นกัน
นอกจากนี้ ในวันพรุ่งนี้ 3 ส.ค. 2565 หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคจะเดินทางไปยังสำนักงานกสทช.เวลา 9.00 น. เพื่อยื่นรายชื่อประชนจำนวน 10,000 รายชื่อ ต่อบอร์ด กสทช. และขอให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยต่อการควบรวมครั้งนี้เข้าไปร่วมลงชื่อใน Change.org ด้วย