พันธุ์ไม้เกือบ 600 สายพันธุ์หายไปจากโลกในช่วงเวลา 250 ปีที่ผ่านมา จากงานศึกษาวิจัยทางพฤกษศาสตร์ โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นการสำรวจพันธุ์ที่สูญพันธุ์จริงไม่ใช่ตัวเลขค่าประมาณ
นักวิทยาศาสตร์จากสวนพฤษศาสตร์คิวและมหาวิทยาลัยสต็อกโฮล์มพบว่า ตั้งแต่ปี 2293 เป็นต้นมา พันธุ์ไม้ถึง 571 สายพันธุ์ สูญพันธุ์ไปแล้ว อีกทั้งด้วยการศึกษาที่ยังจำกัดอยู่ในวงแคบหลายฝ่ายเชื่อว่าตัวเลขที่แท้จริงอาจมีมากกว่านี้อีกหลายเท่าตัว
อัตราการสูญพันธุ์ที่เกิดขึ้น เกิดในความเร็วที่มากกว่าปกติถึง 500 เท่าในช่วงหลังการปฏิวิติอุตสาหกรรม แต่วิกฤตนี้ยังไม่เป็นที่รับรู้โดยคนส่วนใหญ่ ทั้งที่การสูญพันธุ์ของพืชในครั้งนี้มากกว่าการสูญพันธุ์ของสัตว์ปีก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำรวมกัน ถึงกว่า 2 เท่า โดยตัวเลขการสูญพันธุ์ของสัตว์ดังกว่าในปัจจุบันอยู่ที่ 217 สายพันธุ์
"(การสูญพันธุ์) มีมากกว่าที่เรารู้และมันมีมากกว่าที่มันควรจะมี" ดร. มาเรีย โวรอนท์โซวา กล่าว
หนึ่งในเรื่องดีๆที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยครั้งนี้คือการค้นพบสายพันธุ์พืชที่เคยเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้วอย่าง "บัวดินฝรั่ง" (Chilean crocus)
ผลกระทบของการสูญพันธุ์
ทุกชีวิตบนโลกใบนี้พึ่งพาต้นไม้ด้วยกันทั้งสิ้น เนื่องจากพันธุ์ไม้เหล่านี้ผลิตก๊าซออซิเจนเพื่อใช้ในการหายใจทั้งยังเป็นอาหารให้กับสัตว์อีกหลายสายพันธุ์รวมทั้งมนุษย์ด้วย ดังนั้นการสูญพันธุ์ของพืชจึงกลายเป็นต้นกำเนิดของวิกฤตที่จะเกิดกับสายพันธุ์ต่างๆบนโลกที่ต้องพึ่งพาต้นไม้
ดร. อีลิเมีย นิค ลูกาดาห์ กล่าวว่า การทราบว่าเรากำลังสูญเสียพันธุ์พืชใดบ้าง ณ ที่แห่งไหน ในช่วงเวลาใด จะเป็นข้อมูลเพื่อนำมาพัฒนากระบวนการอนุรักษ์พันธ์พืชอื่นๆ
มนุษย์อาจไม่ทันสังเกตุว่าพันธุ์ไม้ใดบ้างที่หายไปจากพื้นโลกของเราและจะไม่ย้อนกลับมาอีกต่อไปแล้ว เพราะเราอาจไม่ได้ใกล้ชิดหรือใส่ใจกับมันมากเท่าที่ควร แต่หากเรายังหวังให้มนุษย์ชาติดำรงอยู่ การมองข้ามความสำคัญของพันธุ์ไม้ไม่ใช่ตัวเลือกอีกต่อไป
อ้างอิง; CNN, BBC, The Guardian, Kew Gardens