การชุมนุมประท้วงต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากฮ่องกงไปจีน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวแบบไร้แกนนำเพื่อแสดงพลังต่อต้านรัฐบาลฮ่องกงและรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ที่เกิดขึ้นในฮ่องกงตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา มี 'กรณีศึกษา' ที่หลายประเทศแถบเอเชียสามารถเรียนรู้และเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในประเทศตัวเองได้
กรณีศึกษาประการหนึ่ง คือ ระบบรถไฟขนส่งมวลชนของฮ่องกง (MTR) ซึ่งเคยได้รับการยกย่องว่าเป็นบริการสาธารณะเพื่อประชาชนคนเดินทางในฮ่องกงได้อย่างเที่ยงตรงและดีที่สุดติดอันดับต้นๆ ของโลก กลับกลายเป็นขนส่งมวลชน 'สายคอมมิวนิสต์' เพียงพริบตา
รถไฟ MTR ของฮ่องกงเปิดให้บริการมายาวนานกว่า 40 ปี และมีเส้นทางการเดินทางมากกว่า 231 กิโลเมตร มีปริมาณผู้โดยสารเดินทางกว่าวันละ 5 ล้านคน ได้ประกาศปิดทำการครั้งแรกเมื่อเดือน ต.ค. 2562 เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงต้านรัฐบาลฮ่องกงใช้การเดินทางด้วย MTR ไปยังสถานที่ประท้วงเป็นหลัก และวิธีการเดินทางของผู้ชุมนุมในการเคลื่อนย้ายไปยังจุดต่างๆ ของการประท้วง ซึ่งเป็นการเดินทางที่สะดวกรวดเร็วต่อรูปแบบการจัดแฟลชม็อบตามยุทธศาสตร์ Be water ของกลุ่มผู้ชุมนุม
แฟลชม็อบฮ่องกงเริ่มต้นตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2562 ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลฮ่องกงมีมติในร่างกฎหมายการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนให้กับรัฐบาลจีน ซึ่งหากกฎหมายฉบับดังกล่าวผ่านจะทำให้จีนสามารถตั้งข้อหาทางอาชญากรรมแก่คนในฮ่องกงได้
การประท้วงดำเนินมาจนกระทั่งเดือน ส.ค. และ MTR ถูกผู้สนับสนุนรัฐบาลฮ่องกงกล่าวหาว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มผุ้ชุมนุมประท้วง ดังนั้นทางบริษัท MTR จึงตัดสินใจปิดบริการสถานีซึ่งเป็นใจกลางของการชุมนุม เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมสามารถเดินทางไปเข้าร่วมการประท้วงรัฐบาลได้อย่างสะดวก
ขณะเดียวกัน ทาง MTR ฮ่องกงยังอนุญาตให้ตำรวจปราบจราจลเข้าไปยังสถานี Prince Edward และมีคลิปวิดีโอเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียล แสดงให้เห็นว่าตำรวจสลายชุมนุมด้วยการใช้กำลังทำร้ายร่างกายประชาชน และไม่คำนึงถึงผู้ใช้บริการอื่นๆ ซึ่งเหตุการณ์นี้กลายเป็นชนวนเหตุที่ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงฮ่องกงเปลี่ยนเป้าหมายมาโจมตีระบบรถไฟฟ้าใต้ดินที่ดีที่สุดในโลกแห่งนี้ โดยมีการทำลายเครื่องออกบัตรโดยสารและกระจกบริเวณสถานีรถไฟใต้ดินบางแห่ง
ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับการสั่งปิดสถานี MRT ของฮ่องกงพบว่ามีสถานี MTR ถูกทำลายทรัพย์สิน 147 สถานี จากทั้งหมด 162 สถานี ขณะที่เครื่องออกบัตรโดยสารเสียหายกว่า 800 เครื่อง ประตูอัตโนมัติเข้าสถานีเสียหาย 1,800 ตัว และบันไดเลื่อนถูกทำลายอีก 50 ตัว รวมไปถึงกล้องวงจรปิดภายในสถานีและประตูเหล็กม้วนของสถานีก็ถูกทำลายเสียหายเช่นกัน
พนักงาน MTR ฮ่องกงระดับอาวุโสรายหนึ่งกล่าวกับ Time ว่า "หากพวกเราให้บริการด้านการเดินทางแก่ประชาชนต่อไป ก็จะไม่มีใครมาทำลายทรัพย์สินของ MTR"
ใครสั่งปิด MTR
'สตีฟ จาง' ผู้อำนวยการสถาบันจีนศึกษาของ มหาวิทยาลัย SOAS กล่าวว่า ฮ่องกงเป็นเขตบริหารพิเศษของจีน แต่ไม่ใช่มณฑลหนึ่งของประเทศจีน ดังนั้นรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่จึงไม่สามารถควบคุมการทำงานของบริษัทมหาชนในฮ่องกงได้ เหมือนที่ทำกับบริษัทอื่นๆ ในจีน และ MTR ก็ไม่ต้องทำตามคำสั่งของรัฐบาลจีน เนื่องจากเป็นบริษัทมหาชนของฮ่องกง
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงนั้น แม้ว่า MTR จะเป็นบริษัทมหาชน แต่รัฐบาลฮ่องกงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ถึง 75% และรัฐบาลฮ่องกงชุดปัจจุบันก็ดำเนินตามนโยบายของจีนแผ่นดินใหญ่อย่างเคร่งครัดโดยยึดหลักการ 'จีนเดียว'
จางกล่าวว่า ไม่ว่าการปิดสถานี MTR จะเป็นเพราะการทำตามคำสั่งของรัฐบาล หรือด้วยเหตุผลทางการค้า แต่สาเหตุที่ทำให้ MTR ในฮ่องกงถูกกลุ่มผู้ประท้วงทำลายทรัพย์สินนั้นเป็นเพราะไม่สามารถตอบสนองความต้องการในการใช้งานของประชาชนในฮ่องกงได้ กลุ่มผู้ชุมนุมจึงตัดสินใจทำลายสถานี MTR
สำหรับค่าเสียหายจากการปิดสถานีและการถูกกลุ่มผู้ชุมนุมทำลายทรัพย์สินคิดเป็นมูลค่าการซ่อมแซมถึง 205 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (หรือประมาณ 6,150 ล้านบาท) ซึ่งทำให้กำไรในปี 2562 ของ MTR ลดลงถึง 44.8% เมื่อเทียบกับรายได้ในปีก่อนหน้า
สถานีรถไฟใต้ดินกลายเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงรัฐบาลทั่วโลก
ไม่เพียงแต่ที่ฮ่องกงเท่านั้นที่มีการทำลายทรัพย์สินหรือเผาสถานีรถไฟใต้ดินเพราะเหตุจูงใจทางการเมือง แต่ในเมืองใหญ่อย่างลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อเดือน ต.ค.2562 กลุ่มนักเคลื่อนไหวก็ปีนตู้รถไฟใต้ดินเพื่อเรียกร้องความสนใจจากรัฐบาลในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ช่วงเวลาเดียวกัน ที่กรุงซานติอาโก ประเทศชิลี ประชาชนชาวชิลีได้บุกเข้าไปทำลายสถานีรถไฟใต้ดินและเผาสถานีหลายแห่งเพื่อประท้วงการขึ้นค่าโดยสารของรัฐบาล ซึ่งตามมาด้วยปัญหาของความยากจนและความไม่เท่าเทียมในประเทศ
ขณะที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีการประท้วงนโยบายปรับลดเงินบำนาญ ส่งผลกระทบต่อระบบการเดินรถไฟใต้ดิน เพราะรัฐบาลฝรั่งเศสประกาศปิดสถานีรถไฟใต้ดินในพื้นที่ที่มีการประท้วงเช่นกัน
จางอธิบายว่า การโจมตีสถานีรถไฟใต้ดินต่างๆ ล้วนมีแรงขับจากประเด็นทางการเมืองเป็นหลัก เพื่อเรียกร้องความสนใจจากรัฐบาล แต่ในกรณีของฮ่องกงนั้น การชุมนุมประท้วงได้รับความสนใจก่อนที่จะมีการทำลายสถานีรถไฟใต้ดิน แต่การที่กลุ่มผู้ชุมนุมฮ่องกงทำลายสถานีรถไฟใต้ดินเป็นเพราะ MTR ของฮ่องกงเลือกข้างทางการเมืองที่ชัดเจน
ที่มา Railway-technology / Time
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: