ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่ผ่านมา อนุสาวรีย์รูปกัปตัน เจมส์ คุก (James Cook) ที่ เซนต์คิลดา (St. Kilda) ในประเทศออสเตรเลีย ถูกละเลงด้วยสีชมพูลงที่หัวของกัปตัน แถมยังมีข้อความพ่นไว้ด้วยสี ที่ใต้เท้าของตัวอนุสาวรีย์ด้วยว่า ‘no pride’ ซึ่งทำซับไตเติ้ลเป็นภาษาไทยตรงตัวง่ายๆ ได้ว่า ‘ไร้เกียรติ’

แต่ทำไมต้องเป็น เจมส์ คุก?

กัปตันเจมส์ คุก เป็นนักเดินเรือ นักทำแผนที่ ชาวเมืองมิดเดิลสโบร์ ประเทศอังกฤษ ที่มีชีวิตอยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2271-2320 (ตรงกับช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา ถึงกลางยุคกรุงธนบุรีของไทยเรา) นอกจากเขาจะเป็นชาวตะวันตกคนแรกที่สำรวจพบเกาะฮาวาย และทำแผนที่ของเกาะนิวซีแลนด์ได้แล้ว กัปตันคนนี้ยังเป็นชาวตะวันตกคนแรกอีกเช่นกัน ที่สำรวจพบทวีปออสเตรเลียเมื่อ พ.ศ. 2313

และผลที่ตามมาจากการสำรวจพบทวีปใหม่แห่งนี้ของกัปตันคุก ก็ทำให้อังกฤษซึ่งประสบปัญหาจากการที่สหรัฐอเมริกาประกาศเอกราชจากตนเองใน พ.ศ. 2326 จนทำให้ไม่รู้จะเอ็กพอร์ตนักโทษไปไว้ที่ไหนดี เกิดพุทธิไอเดียใหม่ด้วยการจับส่งผู้คนเหล่านี้ไปไว้ที่ออสเตรเลียแทน

กองเรือของผู้สำเร็จราชการ (Governor) จากสหราชอาณาจักรที่ชื่อ อาเธอร์ ฟิลลิป (Arthur Phillip) จำนวน 11 ลำ ได้ขึ้นฝั่งในที่ซึ่งภายหลังจะถูกเรียกว่า พอร์ท แจ็คสัน (Port Jackson) ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ปัจจุบันนี้ เมื่อวันที่ 26 มกราคม ในอีก 2 ปีต่อมาคือ พ.ศ. 2328 พร้อมๆ กับที่ปักธงยูเนียน แจ็ค แห่งสหราชอาณาจักร เอาไว้บนชายฝั่งซิดนีย์ โคฟ (Sydney Cove, ชายฝั่งสำคัญแห่งหนึ่งในเขตพอร์ท แจ็คสัน)

แต่การขนนักโทษเรือนพันไปยังดินแดนส่วนต่างๆ ของโลก ที่พวกอังกฤษสำรวจพบใหม่นั้น ไม่ใช่แค่ไปขังไว้ในเรือนจำเฉยๆ นะครับ พวกเขาเอานักโทษเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ ในการสร้างความมั่งคั่งจากผืนดินใหม่เหล่านั้น แล้วส่งกลับไปยังดินแดนแม่คือ อังกฤษ อีกด้วย

และการกระทำอย่างนี้ก็ย่อมต้องเบียดบังทั้งพื้นที่ และทรัพยากร ของผู้ที่อยู่อาศัยมาแต่เดิมอย่างไม่ต้องสงสัย แถมดินแดนที่เรียกกันว่า ‘ออสเตรเลีย’ นั้น ก็มีผู้อยู่อาศัยเดิมอยู่แล้วเสียด้วยสิ

หลักฐานทางโบราณคดีระบุได้ว่า บรรพชนของชาวอะบอริจิน (Aborigine) เป็นมนุษย์กลุ่มแรกที่ดั้นด้นเดินทางข้ามน้ำ ข้ามทะเล เข้ามาลงหลักปักฐานอยู่ในทวีปออสเตรเลีย จนทำให้คนพวกนี้กลายเป็นชนพื้นเมือง ในเกาะใหญ่กลางมหาสมุทรแปซิฟิกทางซีกโลกใต้แห่งนี้ ตั้งแต่เมื่อราว 40,000 ปีมาแล้ว แถมยังไม่ได้มีแค่กลุ่มเดียว เพราะยังจำแนกแยกย่อยออกได้เป็นหลายกลุ่มชน หลายเผ่า อีกต่างหาก

สำหรับชาวอะบอริจินแล้ว การเข้ามาของพวกอังกฤษ และนักโทษ ซึ่งก็คือแรงงานของพวกเขานั้น จึงเป็นการรุกรานนั่นเอง

และอย่างที่ก็ทราบกันดีนะครับว่า สุดท้ายแล้วออสเตรเลียก็กลายเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยชนผิวขาว ดังนั้นเราจึงคงจะเข้าใจได้ไม่ยักนากนักว่า ชนพื้นเมืองแต่ดั้งเดิมอย่างชาวอะบอริจิน ที่กลายสภาพเป็นชนกลุ่มน้อยบนผืนแผ่นดินของพวกเขาไปในที่สุดนั้นจะรู้สึกอย่างไร?

ซ้ำร้ายประเทศออสเตรเลียได้ประกาศให้วันที่กองเรือของผู้สำเร็จราชการฟิลลิป ที่เรียกว่า ‘First Fleet’ ทั้ง 11 ลำขึ้นฝั่งที่พอร์ท แจ็คสันคือ วันที่ 26 มกราคม ของทุกปี เป็น ‘วันชาติ’ ที่เรียกว่า ‘Australian Day’ โดยมักจะมีการเฉลิมฉลองด้วยการดื่มกิน และปิ้งย่างบาร์บีคิวกันตามชายหาดอย่างเอิกเกริกอีกต่างหาก ก็ยิ่งชวนให้รู้สึกน่าน้อยเนื้อต่ำใจแทนชาวอะบอริจินเขานะครับ

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจอะไรนัก ที่เมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่ผ่านมา จะมีใครเอาสีชมพูไปราดรดบนหัวของกัปตันคุก เพราะถึงแม้ว่าพวกอังกฤษ พร้อมกองเรือทั้ง 11 ลำของพวกเขา จะมาขึ้นฝั่งและยึดเอาดินแดนออสเตรเลียทั้งหมดไปนั้น กัปตันคุกจะเสียชีวิตเพราะโดนชนพื้นเมืองบนเกาะฮาวายฆ่าไปตั้ง 8 ปีแล้วก็เหอะ แต่การเข้ามาของกัปตันคุก ก็ถือเป็นสัญลักษณ์ และจุดเริ่มต้นของอะไรทั้งหมดนี้ ไม่อย่างนั้นพวกฝรั่งเขาจะสร้างอนุสาวรีย์ของกัปตันคนนี้ไว้ทำไมกัน?

และเอาเข้าจริงแล้ว ในสายตาของกัปตันคุกก็คงจะไม่ได้มองพวกอะบอริจินอย่างเป็นมิตรนัก เพราะว่าตอนหนึ่งในบันทึกของกัปตันคนนี้ มีข้อความบันทึกเอาไว้ว่า

“...ชาวอินเดียน...สี่ถึงห้าคน...เปลือยกายและตัวดำมาก...”

แค่คำว่า ‘เปลือยกาย’ ที่ปรากฏในบันทึกอยู่ก็แย่แล้ว เพราะสำหรับพวกฝรั่งในยุคโน้น ถือว่าเป็นอะไรที่ไร้อารยธรรมเอามากๆ แต่คำว่า ‘ตัวดำมากๆ’ นี่กลับแย่เสียยิ่งกว่า เพราะการเหยียดสีผิวในยุคล่าอาณานิคมนั้น มองคนผิวสี โดยเฉพาะสีดำ แบบแทบจะไม่ใช่มนุษย์เลยทีเดียว

ชาร์ล ดาร์วิน (Charle Darwin, มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.​ 2352-2425) ผู้เสนอทฤษฎีวิวัฒนาการ ซึ่งถูกพวกฝรั่งยกย่องกันว่าเป็น ‘ผู้ประหารพระเจ้า’ เพราะทฤษฎีที่เขานำเสนอในหนังสือเล่มดังของเขาอย่าง ‘กำเนิดสปีชีย์’ (The Origin of Species) เมื่อ พ.ศ. 2402 นั้น ขัดกับคำสอนในพระคัมภีร์ของชาวคริสต์จนถือกันว่า ก้าวหน้าเอามากๆ เลยทีเดียว

แต่ว่าในหนังสือกำเนิดสปีชีย์นั้น ดาร์วินไม่ได้กล่าวถึงวิวัฒนการของมนุษย์ เราต้องรอจนถึงหนังสือของอีกเล่มหนึ่งของเขาคือ ‘การสืิบสายพันธุ์ของมนุษย์’ (The Descent of Man) ที่ตีพิมพ์ใน พ.ศ.​ 2414 จึงทำให้เราเห็นว่า ผู้ประหารพระเจ้าของชาวยุโรปในยุคนั้น (แถมยังเป็นคนที่ก้าวหน้าระดับเสนอทฤษฎีวิวัฒนาการ) คิดเห็นต่อคนผิวสีอย่างไร? ดังมีข้อความปรากฏในหนังสือเล่มนี้ว่า

“...ในอนาคตข้างหน้าที่ไม่ไกลนัก หากจะวัดเอาจากหลายศตวรรษที่ผ่านมานี้ เชื้อสายของมนุษย์ที่ศิวิไลซ์ จะกำจัด และแทนที่เชื้อสายของมนุษย์ที่ป่าเถื่อนที่แพร่กระจายอยู่ทั่วทั้งโลก ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น อะไรก็ตามที่ดูจะมีรูปร่างใกล้เคียงกับมนุษย์ (ดาร์วินใช้คำว่า anthropomophous ape, ผู้เขียน)...จะถูกทำลายลงอย่างไม่ต้องสงสัย ความแตกต่างจะถูกถ่างออกจนกว้างยิ่งขึ้น จากการแทรกแซงของมนุษย์ผู้มีอารยะ เช่นความต่างของคนผิวขาวกับลิงเอปชั้นต่ำอย่างบาบูน แทนที่จะต่างกันแค่ในระดับของพวกนิโกร หรือพวกออสเตรเลียน (พื้นเมือง) กับลิงกอริลล่าอย่างในปัจจุบัน...”

ไม่ต้องสงสัยเลยนะครับว่าดาร์วินนั้นเหยียดสีผิวเป็นอย่างมาก สำหรับเขาแล้วอะไรที่ไม่ใช่คนขาว โดยเฉพาะคนผิวสีนั้นย่อมต่ำต้อยกว่าคนขาว และแทบจะต่างจากลิงเอปไม่มากนัก โดยเฉพาะชาวอะบอริจิน หรือพวกออสเตรเลียนพื้นเมือง ที่ดาร์วินกล่าวถึงเป็นพิเศษว่าไม่ต่างอะไรกับลิงกอริลล่า

และนี่ก็คือภาพที่ชาวอังกฤษมีต่อชาวอะบอริจิน ปี พ.ศ. 2414 ที่ดาร์วินเขียนหนังสือการสืบสายพันธุ์ของมนุษย์ออกมานั้น ห่างจากการเข้ามาของกองเรือ First Fleet และคนคุกจากอังกฤษเฉียดๆ จะ 90 ปีแล้ว และนั่นก็คงจะนับเป็น 90 ปีที่ชาวอะบอริจินถูกมองไม่ต่างไปจากลิงตัวใหญ่เท่านันหรอกนะครับ

ไม่ต้องแปลกใจเลยว่า สำหรับชาวอะบอริจิน ประเภทอะบอริจินนิยมในปัจจุบันแล้ว คนอย่างกัปตันเจมส์ คุก จึงไร้เกียรติพอที่จะเอาสีไปละเลงบนหัว ในช่วงก่อนวันชาติของออสเตรเลีย ที่ตั้งขึ้นเพื่อระลึกถึงการรุกรานถิ่นฐานดั้งเดิมของพวกเขาได้

เพราะการมองเห็นว่า ‘คนไม่เท่ากัน’ นั้น ย่อมจะนำมาซึ่งปัญหาอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นอดีต หรือปัจจุบันก็ตามที

Siripoj Laomanacharoen
0Article
0Video
0Blog