ช่วงปีสองที่ผ่านมานี้ นักฟุตบอลที่ถูกกล่าวขวัญถึงมากที่สุดคนหนึ่งของโลก คงหนีไม่พ้น โมฮาเหม็ด ซาลาห์ กองหน้ากึ่งปีกของสโมสรลิเวอร์พูลด้วยฟอร์มการเล่นที่สุดจะร้อนแรง เขาพาลิเวอร์พูลเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก UEFA เมื่อฤดูกาล 2017/18 และพาต้นสังกัดบินสูงขึ้นเป็นจ่าฝูงของพรีเมียร์ ลีก (ณ สัปดาห์ที่ 4 ของฤดูกาล 2018/19) เขาก็ถูกสรรเสริญจากแฟน Liverpool ไม่ต่างจากตำนานคนอื่นของสโมสรอย่าง สตีเวน เจอร์ราร์ด หรือ เคนนี แดลกลิช
Mo Sa-la-la-la-lah,
Mo Sa-la-la-la-lah!
If he’s good enough for you,
he’s good enough for me.
If he scores another few,
then I’ll be Muslim too.
If he’s good enough for you,
he’s good enough for me.
Sitting in the mosque,
that’s where I wanna be
เพลงที่แฟนบอลแต่งให้ ซาลาห์ โดยดัดแปลงมาจากเพลง “Good Enough,” เพลงฮิตยุค 90’s ของวง “Dodgy” นอกจากเรื่องในสนามที่เขาได้สร้างผลสะเทือนครั้งใหญ่ให้กับวงการฟุตบอลแล้ว แต่เรื่องนอกสนามหลายคนยังมองว่าการขึ้นมามีชื่อเสียงของ ซาลาห์ นั้น อาจช่วยเปลี่ยนมุมมองของคนอังกฤษที่มีต่อชาวมุสลิม ในสภาวะ Islamophobia หรือการเกลียดกลัวอิสลาม ที่แพร่ไปทั่วยุโรปหลังปัญหาผู้อพยพจากตะวันออกและภัยการก่อการร้าย
กระแสเกลียดกลัวอิสลามในอังกฤษพุ่งสูงขึ้นมาหลังเหตุก่อการร้ายในทั้งลอนดอนและเมืองเชสเตอร์ การตัดสินใจลงประชามติออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร หรือ Brexit ก็มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากเรื่องผู้ลี้ภัยและการเกลียดกลัวมุสลิม Tell MAMA องค์กรที่จับตาเกี่ยวกับการแสดงความเกลียดชิงต่อชาวมุสลิมรายงานว่า หลังเบร็กซิตมีการแสดงความเกลียดชังต่อชาวมุสลิมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างแรงกดดันให้กับคนมุสลิมในอังกฤษค่อนข้างมาก มีรายงานว่าผู้หญิงชาวมุสลิมในหลายเมืองต้องถอดฮิญาบขณะที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ แม้แต่นักการเมืองในสภาเองก็มีการ แสดงความเกลียดกลัวชาวมุสลิม อย่างเปิดเผย
แน่นอนว่าซาลาห์ไม่ใช่นักฟุตบอลคนเดียวที่นับถือศาสนาอิสลาม ในฤดูกาลปัจจุบัน มีผู้เล่นอย่างน้อย 60 คนใน Premier League ที่เป็นชาวมุสลิม ซึ่งรวมถึงซุปเปอร์สตาร์อย่าง เมซุต โอซิล หรือ พอล ป็อกบา แต่ผู้เล่นเหล่านั้นไม่ได้ให้ภาพแทนความเป็นมุสลิมได้เท่าเขา
ไม่ใช่เพียงแค่ชื่อเสียงในเรื่องฝีเท้าที่ร้อนแรงของซาลาห์เท่านั้นที่ทำให้กลายเป็นภาพแทนของชาวมุสลิมได้มากกว่าผู้เล่นคนอื่น แต่รวมถึงองค์กรประกอบต่างๆ ทั้งที่เขามีสัญชาติอียิปต์ซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถืออิสลาม, การแสดงความศรัทธาของเขาต่อหน้าสาธารณะอย่างท่าดีใจโดยการคุกเข่าลงกับพื้นแล้ชี้นิ้วขึ้นบนฟ้า, วิถีการดำเนินชีวิตแบบมุสลิม รวมถึงครอบครัวของเขาที่มีภาพลักษณ์เป็นครอบครัวชาวมุสลิม ซึ่งต่างจากซุปเป���ร์สตาร์คนอื่นอย่าง โอซิล (เยอรมัน) หรือ ป็อกบา (ฝรั่งเศส) ที่มีสัญชาติและวิถีชีวิตออกไปชาวยุโรป และในโลกอาหรับ ซาลาห์เป็นที่นิยมอย่างมาก
ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของอียิปต์ มีคนจงใจทำบัตรเสียมากกว่าหนึ่งล้านใบโดยใส่ชื่อ Salah ลงในรายชื่อผู้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี จนถึงกับมี มุขตลกที่ในสังคมออนไลน์ ออกมาหลังจากซาลาห์บาดเจ็บจากการเข้าปะทะกับ เซร์คิโอ รามอส กองหลังทีมเรอัล มาดริดในเกมรอบชิงชนะเลิศยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ว่า “ชาวกาต้าร์ เอมิเรต คูเวต อียิปต์ โอมาน ต่างสาปแช่งรามอส ต้องขอบคุณรามอสที่ทำให้โลกอาหรับกลับมารวมกันเป็นหนึ่งอีกครั้ง” องค์ประกอบต่างๆ ที่กล่าวมาบวกความชื่อเสียงด้านฝีเท้า ทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในภาพแทนของชาวมุสลิมอาหรับ (มุสลิมที่ชาวยุโรปจดจำว่าเป็นสาเหตุของการก่อร้ายและผู้อพยพ)
“ตัวเขาประกอบไปด้วยคุณค่าของความเป็นอิสลาม เหมือนกับว่าเขาใส่ความเชื่อลงไปในชุดแข่ง เขามีความดูเป็นคนน่าคบหา เป็นฮีโร่ของทีมลิเวอร์พูล … เขาไม่ใช่ทางออกของการเกลียดกลัวอิสลาม แต่เขาก็มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้” Miqdaad Versi กล่าวกับ The New Time โดยเขามองว่าตัวของซาลาห์นั้นจะช่วยต่อสู้กับภาพของความคลั่งศาสนาที่อยู่ในสายตายของคนอังกฤษได้ ด้วยภาพลักษณ์ของเขาที่ถ่อมตัว เข้าถึงง่ายทำให้การมีศรัทธาแบบอิสลามดูไม่ใช่เรื่องของความรุนแรง
แต่อีกด้านหนึ่ง กรณีซาลาห์ก็ถูกมองเป็นเพียงข้อยกเว้นของชาวมุสลิมเพียงบางคนที่ถูกมองในด้านบวก แต่ไม่ไปด้วยกันกับมุสลิมธรรมดาทั่วไป เหมือนชาวผิวชาวผิวสีในสหรัฐฯ ที่จะถูกยอมรับก็ต่อเมื่อมีความสามารถด้านกีฬาหรือมีฐานะทางเศรษฐกิจดี ส่วนคนผิวสีกลุ่มอื่นๆ ก็ยังถูกมองว่าเป็นอาชญากรดังเดิม เหมือนอย่างที่ปรากฏอยู่ในท่อนหนึ่งเพลงที่ว่า “If he scores another few, then I’ll be Muslim too” มีนัยว่าอิสลามจะถูกยอมรับก็ต่อเมื่อซาลาห์ยิงประตูเท่านั้น
“ภาระใหญ่ของคนกลุ่มน้อยที่ต้องเจอคือการถูกมองว่าเป็นผู้อพยพที่เลว เป็นคนที่แย่งงาน เป็นหัวขโมย เป็นผู้ลี้ภัย จนกว่าเราจะก้าวข้ามความรับรู้ของพวกเขา ผ่านวัฒนธรรมป๊อปคัลเจอร์ อย่างชนะการแข่งขัน ทำขนมที่อร่อย เป็นหมอที่ซื่อสัตย์เราถึงจะถูกมองเป็นผู้อพยพที่ดี” Nikesh Shukla บรรณาธิการหนังสือ Good immigrant ระบุ
ก่อนหน้านี้ซีเนดีน ซีดานนักเตะทีมชาติฝรั่งเศสชุดแชมป์โลก 1998 ที่มีพื้นหลังเป็นลูกหลานของผู้อพยพชาวแอลจีเรีย ก็เคยเป็นความเป็นความภูมิใจของชาวอาหรับ และคนในชาติฝรั่งเศส “ชื่อเสียงของเขา(ซีดาน)ไม่ได้ช่วยลดความเกลียดกลัวอิสลามที่มีในวัฒนธรรมกระแสหลักของฝรั่งเศสเลย ผมมีข้อกังขาว่ากรณีของ ซาลาห์ ชื่อเสียงของเขาจะช่วยลดกระแสเกลียดกลัวอิสลามในวัฒนธรรมกระแสหลักของอังกฤษได้หรือไม่” Joseph Massad อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์และอาหรับร่วมสมัยศึกษา กล่าวกับ New Yorker
แต่มีหลายเห็นว่าอีกด้านหนึ่งความนิยมของซาลาห์นั้นไม่ได้ปรากฏขึ้นมาแบบลอยๆ แต่มันมีขึ้นพร้อมกับ ภาพของชุมชนชาวมุสลิมที่เขาอาศัยและร่วมทำกิจกรรมต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งนี่อาจจะเป็นคำตอบที่ว่าคนในวงการกีฬาจะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีได้อย่างไรภายใต้สถานการณ์ที่ตึงเครียดนี้