ไม่พบผลการค้นหา
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โพสต์รำลึกพร้อมเผยที่มาของวลี '30 บาทรักษาทุกโรค' มาจากไหน

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ หมอเลี๊ยบ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข หนึ่งในผู้ผลักดันโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือเรียก 30 บาทรักษาทุกโรค โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กรำลึกถึงการริเริ่มนโยบายสาธารณสุขของพรรคไทยรักไทย สมัยรัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมีเนื้อหาระบุว่า

วันที่ 24 ธันวาคม แวะมาเยี่ยมเยือนเมื่อใด ผมมักมีภาพแห่งความทรงจำที่งดงามภาพหนึ่งผุดขึ้นมา แม้จะนานนานมาแล้ว แต่ก็ราวกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้เอง

โดยเป็นภาพของคน 6 คน นั่งในห้องประชุมชั้นล่างของอาคารหลังเล็กๆ 2 ชั้นซึ่งเป็นที่ตั้งของพรรคไทยรักไทยเมื่อ พ.ศ.2542 เป็นการพบกันครั้งแรกของคน 2 คนซึ่งจะเป็นที่จดจำไปอีกแสนนาน คนหนึ่งคือ หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ดร.ทักษิณ ชินวัตร อีกคนคือ แพทย์หนุ่ม มันสมองสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ซึ่งการพบกันครั้งนี้ มีที่มาจากประมาณ 4 เดือนก่อนหน้านั้น ผมซึ่งรับหน้าที่ทำนโยบายสาธารณสุขของพรรคไทยรักไทย ขอนัดหมายกับ นพ.สงวน ซึ่งผมเรียกติดปากว่า พี่หงวน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเรื่องนโยบายสาธารณสุขที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ หลักสี่ เพราะพี่หงวนจัดสัมมนาที่นั่น ผมเอ่ยถามพี่หงวนทันทีที่พบคุยกันว่า พี่หงวน ชีวิตนี้พี่มีความฝันอะไรที่อยากทำ แต่ทำไม่ได้ หรือยังไม่ได้ทำบ้าง

โดยนพ.สงวนตอบว่าผมฝันอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรก กำลังจะเสร็จแล้ว คือ กองทุน สสส. แต่อีกเรื่องคือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผมฝันอยากทำมาก ไปเสนอหลายพรรคแล้ว เขาไม่สนใจ ถ้าเลี้ยบจะให้ผมไปลองเสนอพรรคไทยรักไทยก็ได้ เมื่อพี่หงวนตอบผมด้วยน้ำเสียงนุ่มเนิบที่คุ้นเคย ผมรู้สึกได้ว่า พี่หงวนไม่ได้ฝากความหวังว่า พรรคไทยรักไทยจะช่วยให้ฝันเป็นจริงได้ เพราะเวลานั้น พรรคไทยรักไทยเพิ่งตั้งขึ้นได้ไม่นาน ยังไม่มีสัญญานใดๆให้จับต้องได้เลยว่า จะชนะการเลือกตั้งใหญ่และผลักดันนโยบายนี้ให้เป็นจริงได้

ซึ่งจากการพูดคุยนั้น ผมเห็นว่า นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะเป็นการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุขครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง หากพรรคไทยรักไทยตั้งใจเป็นพรรคการเมืองแบบใหม่ที่ชูนโยบายในการรณรงค์เลือกตั้ง นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็สมควรเป็นนโยบายหลักของพรรคดังนั้นผมจึงเสนอนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐมนตรีเงาของพรรค ซึ่งประชุมกันทุกวันพฤหัสบดีช่วงเช้า หลังผมนำเสนอจบ 

โดยดร.ทักษิณ ประธานที่ประชุม กล่าวเสริมผมว่า ความเจ็บป่วยของชาวบ้านเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรีบแก้ไข จากการที่ตน (ดร.ทักษิณ) ลงพื้นที่ไปพบปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน และประชาชนในต่างจังหวัด เมื่อผ่านโรงพยาบาลชุมชน ก็เห็นผู้ป่วยแออัดเป็นจำนวนมาก แต่บางคนก็ไม่มีเงินไปรักษาที่โรงพยาบาล ถ้าพรรคฯสามารถช่วยชาวบ้านในเรื่องนี้ได้ จะเป็นประโยชน์มาก ที่ประชุมจึงมอบหมายให้ผมไปศึกษาเรื่องนี้มานำเสนอต่อไป

หลังจากนั้น ผมได้ปรึกษาเรื่องนโยบายนี้กับ นพ.สงวนเป็นระยะๆ รวมทั้งรับทราบการรณรงค์เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขององค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งมี อ.จอน อึ๊งภากรณ์เป็นผู้ประสานงานร่วมกับ นพ.สงวน ภายหลังจากนัดหมายกันไม่ลงตัวหลายครั้ง ในวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2542 เวลาประมาณ 16.00 น. ท่ามกลางแสงแดดอ่อนโยน อากาศเย็นสบาย นพ.สงวนเดินทางมาร่วมประชุมที่ห้องประชุมชั้นล่าง อาคาร 5 พรรคไทยรักไทย ถนนราชวิถี 

นพ.สงวนใช้เวลาประมาณ 40 นาทีนำเสนอหลักการและแนวทางเบื้องต้นของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อ ดร.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย และแกนนำพรรค ภายหลังการนำเสนอ ดร.ทักษิณให้ความเห็นว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นประโยชน์ต่อประชาชน มีความเป็นไปได้ในการบริหารงบประมาณ และพร้อมผลักดันเป็นนโยบายสำคัญของพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ซึ่งก่อนลาจากกันในวันนั้น ดร.ทักษิณเอ่ยกับ นพ.สงวนแบบทีเล่นทีจริงว่า "คุณหมอ ชื่อนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเนี่ย ฟังเข้าใจยาก ชาวบ้านงงแน่ ไม่รู้ว่าเรากำลังพูดเรื่องอะไร น่าจะหาชื่อที่เข้าใจง่ายกว่านี้ เช่น 15 บาทรักษาทุกโรคอะไรทำนองนี้"

ทำให้ทุกคนในห้องประชุมหัวร่อกันครื้นเครง ผมจึงรับปากว่า จะไปช่วยกันกับ นพ.สงวนหาชื่อนโยบายที่เข้าใจง่ายต่อไป แต่จนแล้วจนรอด ผมก็ยังนึกหาชื่อที่เหมาะสมและเข้าใจง่ายไม่ได้สักชื่อ ระหว่างนั้น พรรคไทยรักไทยก็เตรียมการเพื่อรองรับการเลือกตั้งที่อาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ ทั้งการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง การจัดทำนโยบายด้านต่างๆ รวมทั้งการทำโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 

ทุกครั้งที่ทำโพลเกี่ยวกับปัญหาซึ่งประชาชนอยากให้แก้ไข พบว่า เรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง ยาเสพติด การศึกษา นำโด่งมาตลอด ส่วนปัญหาความเจ็บไข้ได้ป่วยมักอยู่ท้ายโพล ราวกับประชาชนบอกเราว่า ความเจ็บป่วยไม่ใช่ปัญหาที่เขากังวล (หากมองย้อนกลับไป ผมคิดว่า ประชาชนจินตนาการไปไม่ถึงว่า เขาจะสามารถเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ในช่วงชีวิตนี้)

อย่างไรก็ตาม ผมสังเกตว่า ทุกครั้งที่ผลโพลด้านปัญหาสาธารณสุขอยู่รั้งท้าย ดร.ทักษิณรู้สึกผิดคาดระคนผิดหวังอยู่เสมอ ส่วนผู้บริหารพรรคท่านอื่นๆต่างก็ให้ความเห็นว่า พรรคควรชูนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และยาเสพติด เป็นหลัก บางท่านบอกความในใจกับผมภายหลังว่า ตอนนั้นเขาไม่เชื่อเลยว่า นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะเป็นไปได้ รวมทั้งทำโพลเรื่องสาธารณสุขกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ก็ไม่ใช่ปัญหาที่ประชาชนกังวลอยากให้แก้ไข และไม่ว่าคนอื่นจะคิดหรือพูดอย่างไร ดร.ทักษิณยังคง "หลงใหล" ในนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และคอยติดตามความคืบหน้ากับผมตลอดเวลา รวมทั้งไถ่ถามเรื่องชื่อของนโยบาย

ต่อมาเมื่อถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจเดินหน้าสู่การประกาศนโยบายหลักของพรรค ผมคิดชื่อของนโยบายขึ้นมาหลายชื่อ แต่ไม่ได้ชื่อที่เหมาะสมและเข้าใจง่ายอย่างที่ต้องการแม้แต่ชื่อเดียว วันหนึ่ง ความคิดบางอย่างจู่ๆแวบขึ้นมา ผมนึกย้อนกลับไปที่คำพูดของหัวหน้าพรรคเมื่อวันแรกที่ได้รับรู้เรื่องนโยบายนี้ 15 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งเข้าใจง่ายบอกผลลัพธ์ของนโยบายได้ดี แต่ 15 บาทตัวเลขนี้เหมาะสมหรือไม่

โดยผมได้รับการบอกเล่าจากหลายคนว่า ถ้าไม่มีการเรียกเก็บเงิน หรือเรียกเก็บน้อยเกินไป อาจเกิดการรับบริการพร่ำเพรื่อหรือไม่จำเป็น แต่ผมก็ทราบดีว่า ถ้าเรียกเก็บเงินมากเกินไปเมื่อมารับบริการ อาจเกิดปัญหาการไม่สามารถเข้าถึงบริการของผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย 15 บาทน้อยไปไหม 100 บาทล่ะมากไปไหม จำนวนเงินเท่าไรจึงเหมาะสม จะใช้ทฤษฎีใดตัดสินใจ (ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมในสมัยนั้นก็ยังเพิ่งอยู่ในยุคเริ่มต้น)

ซึ่งผมมาสะดุดคิดตรงที่ ผมต้องขับรถโดยใช้ทางด่วนเฉลิมมหานครบ่อยๆ ผมสังเกตว่า รถที่ใช้ทางด่วนมีจำนวนน้อยกว่ารถที่ใช้ทางปกติ ผู้ใช้ทางด่วนยอมเสียค่าผ่านทางเพื่อแลกกับการทำเวลาไปถึงเป้าหมายอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ผู้ไม่เร่งรีบ ไม่มีธุระสำคัญ ก็ไม่ยอมเสียค่าผ่านทางขึ้นทางด่วน เพราะไม่จำเป็น

เมื่อย้อนกลับไปค่าผ่านทางด่วนเฉลิมมหานครใน พ.ศ.2542 คือ 30 บาท 30 บาทเป็นจำนวนที่ทำให้ผู้ขับรถต้องตัดสินใจเลือกว่า ทางด่วนหรือทางปกติ ทางใดที่เหมาะสมกับสภาพการณ์ของตน "30 บาท...30 บาท...30 บาท" ดังนั้น เมื่อ ดร.ทักษิณถามถึงชื่อนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผมจึงขออนุมัติใช้ชื่อ "30 บาทรักษาทุกโรค" แทน ซึ่ง ดร.ทักษิณเห็นพ้องด้วย

ต่อมา เมื่อเข้าสู่ช่วงเวลารณรงค์เลือกตั้ง 6 มกราคม พ.ศ.2544 ในทุกเวทีหาเสียง หัวหน้าพรรคไทยรักไทยใช้เวลาในการปราศรัยถึงนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคอย่างเอาจริงเอาจัง แม้ในขณะนั้น มีผู้สมัคร ส.ส.จำนวนไม่น้อยไม่ยอมเอ่ยถึงนโยบายนี้ ถึงขนาดบางคนลบป้ายหาเสียงที่ย้ำนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคทิ้งเพราะ คิดว่าเป็นไปไม่ได้

ไม่มีใครบอกได้ชัดเจนว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นปัจจัยสำคัญหรือไม่ ที่ทำให้พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย เป็นปาฏิหารย์ทางการเมือง ด้วยจำนวน ส.ส.248 ที่นั่ง จากทั้งหมด 500 ที่นั่ง แต่ที่ผมรู้แน่นอนก็คือ เย็นวันที่ 6 มกราคมนั้นเอง หลังทราบผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ดร.ทักษิณ ยิ้มกว้างอย่างมีความสุขและบอกผมทันทีเมื่อพบกันว่า "หมอ...เรามาลุย 30 บาทกัน"