ไม่พบผลการค้นหา
กรมประมงแจงภาครัฐดำเนินมาตรการสกัดกั้น ทุกกระบวนการทำประมงผิดกฎหมายอย่างเป็นระบบและเข้มงวด

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวถึงกรณีที่เครือข่ายประมงพื้นบ้านร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมด้านแรงงาน เปิดเผยผลวิจัยเกี่ยวกับสิทธิของแรงงานประมง และการทำประมงแบบไม่ยั่งยืน โดยเนื้อหางานวิจัยทั้ง 2 เรื่อง สะท้อนปัญหาด้านสิทธิแรงงานภาคการประมง และผลกระทบต่อทรัพยากรประมงจากอุตสาหกรรมการประมงของไทย พร้อมเสนอให้รัฐบาลและภาคเอกชนร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ ว่า ต้องขอขอบคุณ ภาคประชาสังคมต่างๆ ที่มีความห่วงใย และตระหนักในความรับผิดชอบร่วมกันในการที่จะให้ "การประมงของไทยมีความยั่งยืน" โดยเฉพาะการทำศึกษาวิจัยที่ต้องใช้ความมุ่งมั่น ตั้งใจของนักวิจัยที่จะต้องดำเนินการศึกษาวิจัย อย่างครบถ้วน ครอบคลุม และถูกต้อง ตามหลักวิชาการ และนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาของประเทศได้อย่างถูกต้องและชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีข้อมูลการดำเนินการของภาครัฐบางส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาได้ขาดหายไปจากการศึกษาวิจัย เพื่อให้เกิดความครอบคลุมจึงขอเพิ่มเติมข้อมูลบางส่วนดังนี้ 

ประเด็นกรณีเวลาพักของแรงงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจหนักดีในปัญหาดังกล่าวจึงได้มีการกำหนดให้ไต๋เรือ (ผู้ควบคุมเรือ) มีการจัดทำหลักฐานเวลาพักของแรงงาน เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบ และได้มีการสุ่มตรวจสอบการดำเนินการดังกล่าวเมื่อมีการเข้ามาหลังจากการทำการประมง นอกจากนี้ยังมีการตรวจเรือกลางทะเลโดยหน่วยตรวจกลางทะเลของกรมประมง เรือลาดตระเวนของ ศรชล. ตำรวจน้ำ เรือของกรมทรัพยากรธรรมชาติและชายฝั่งอีกด้วย และอยากให้ช่วยประชาสัมพันธ์ให้แรงงาน หรือผู้ที่พบเห็นว่า แรงงานได้รับการปฏิบัติไม่ถูกต้องขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานได้โดยตรง 

และในประเด็นการทำประมงอวนลากและอวนล้อมปั่นไฟกลางคืน กรมประมงตระหนักดีว่าเครื่องมือประมงทั้ง 2 ประเภท เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง จึงได้มีการควบคุมทั้ง "จำนวนใบอนุญาตพาณิชย์" และ "วิธีทำการประมง" โดยมีการกำหนดขนาดช่องตาอวนก้นถุงของอวนลาก ซึ่งต้องมากกว่า 4 เซนติเมตร ขึ้นไป หรือกรณีอวนล้อมปั่นไฟต้องมีขนาดตาอวนช่องตาอวนไม่น้อยกว่า 2.5 เซนติเมตรขึ้นไป มีการกำหนดพื้นที่ประมงชายฝั่ง ซึ่งห้ามเรือประมงพาณิชย์ซึ่งรวมถึงเครื่องมืออวนลาก และอวนล้อมปั่นไฟเข้ามาทำการประมง และในการออกใบอนุญาตประมงพาณิชย์ปีการประมง 2561 – 2562 ได้มีการกำหนดมาตรฐานเครื่องมือประมง เพื่อป้องกันการดัดแปลงหรือปรับปรุงเครื่องมือประมงให้ผิดไปจากที่กำหนดด้วยเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ

และในประเด็นการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU กรมประมงขอชี้แจงว่า ภายใต้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มีวัตถุประสงค์เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรทะเลให้เกิดความยั่งยืนและป้องกันการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ดังนั้น มาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐได้กำหนดขึ้นมานั้น อาทิ มาตรการปิดอ่าวฯ มาตรการควบคุมการลงแรงประมง การควบคุมเครื่องมือที่ใช้ทำการประมง การกำหนดค่า MSY มาตรการให้เรือที่มีขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไปติดตั้ง VMS การควบคุมการแจ้งเข้าออกเรือประมง ฯลฯ เป็นการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน และนอกจากนี้ได้มีการออกพระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช 2481 พ.ศ. 2561 เพื่อให้การควบคุม "เรือประมง" ทั้งในเรื่องการจดทะเบียนเรือเพิ่ม การเปลี่ยนแปลงประเภทเรือ การทำลายเรือให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า เหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมานั้น อยากแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของภาครัฐและความร่วมมือกันระหว่างหลายหน่วยงาน ในการที่จะเร่งแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายและปัญหาแรงงานภาคการประมงไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบทั้งแรงงานประมงไทยและแรงงานประมงต่างด้าว ดังนั้น จึงขอความร่วมมือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาช่วยขับเคลื่อนการประมงของไทยให้เกิดความยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง