ร้านขายหนังสือเก่า มักมีหนังสือการเมืองมาขายแบบลดราคาอยู่เสมอ ชีวประวัติของ “ลุงกำนัน- ล้มเลือกตั้ง” ซึ่งบัดนี้ กลายมาเป็น “นักการเมืองในพรรครวมพลังประชาชาติไทย-ที่หวังชนะเลือกตั้ง” เป็นหนึ่งในหนังสือที่ได้พบที่ร้ายขายหนังสือเก่าเมื่อสัปดาห์ก่อน ตัวเล่มลดราคาลงไปมากกว่าครึ่ง
“หนังสือ The Power of Change : กำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ บุรุษจากท่าสะท้อนสู่การต่อสู้บนท้องถนนกับกบฏนกหวีด” เป็นหนังสือที่เก็บบทสัมภาษณ์ลุงกำนันระหว่างการชุมนุม กปปส. ประธานที่ปรึกษาในการผลิตของหนังสือเล่มนี้คือ “ศักดิ์ชัย กาย” บรรณาธิการที่ปรึกษาคือ “อัญชะลี ไพรีรักษ์” เธอยังทำหน้าที่เรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ร่วมกับนักเขียนอีกสองท่านคือ “ภัทรชัย ภัทรมน” “ศรศมน บัวจำปา”
“ปอง อัญชะลี” บรรยายไว้ในคำนิยมของเธอว่า “เราใช้เวลา 10 วัน วันละ 5 ชั่วโมง คุยและเลือกภาพใน ตู้คอนเทนเนอร์ขนาดเล็ก และคับแคบ ตั้งอยู่ท่ามกลางความร่มรื่นของแมกไม้ใบหญ้า คลุมด้วยตาข่ายสีเขียวผืนใหญ่กันระเบิด อื้ออึงด้วยเสียงอึกทึกจากเวทีปราศรัยในสวนลุมพินีที่เป็นทั้งบ้านและที่ทำงานในวันมีหมายจับข้อหากบฏถึงสองครั้ง”
หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 38 บท ใช้โครงเรื่องอยู่สามเส้น – เส้นแรกคือ ความพยายามในการถอยกลับไปศึกษาชีวิตและการสร้างตัวตนของสุเทพ เส้นที่สองคือ การถ่ายทอด ประสบการณ์ทางการเมือง ในบทนี้ สุเทพถ่ายทอดเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองที่ตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้อง ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ คือ บทที่ว่าด้วย “สร้างปาฏิหาริย์เปลี่ยนขั้วการเมือง” ดูดเนวิน จนสามารถสร้าง “อภิสิทธิ์” ให้เป็นนายกรัฐมนตรีของไทย
อีก 6 บทในเส้นเรื่องนี้ก็น่าสนใจมากเพราะอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างสุเทพกับ “กองทัพ” โดยเฉพาะต่อ “พลเอกประวิตร-พลเอกอนุพงษ์” ได้ดีว่าแนบชิดเพียงใด ในระดับที่แม้เผชิญกับวิกฤตความชอบธรรมทางการเมืองใหญ่หลวง หลังการปราบปรามคนเสื้อแดง รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็จะได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอยู่เสมอ
เส้นเรื่องสุดท้าย คือ ที่มาก่อนจะเป็น “ลุงกำนัน ของ มวลมหาประชาชน” ,เหตุการณ์ระหว่างการชุมนุม 204 วัน และปิดท้ายที่ทิศทางการปฏิรูปประเทศโดยมวลมหาประชาชน เป้าหมายสำคัญของเส้นเรื่องนี้ก็เพื่อสร้างมรดกทางการเมืองของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ต่อสังคมการเมืองไทย ผ่านการชุมนุม กปปส. ซึ่งนำไปสู่ “การปฏิรูปประเทศ” ในที่สุด
หนังสือชีวประวัติเล่มนี้เกิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ใด ? – ชีวิตของผู้นำทางการเมืองดำเนินไปเช่นนี้อยู่เสมอ ดำเนินไปโดยพยายามชี้ให้เห็นมรดกทางการเมืองของตัวเองอยู่เสมอ
ไฮไลต์จุดเด่น และกลบจุดด้อย หรืออธิบายจุดด้อยใหม่ให้ชอบธรรมกว่าเดิม ประสบความสำเร็จยิ่งกว่าเดิม เข้าข่ายว่า “โฆษณาชวนเชื่อดี มีชัยไปกว่าครึ่ง” แม้ว่าเบื้องหลังจะเลอะเทอะขนาดไหนก็ตาม โดยเฉพาะ ชีวิตลุงกำนัน ซึ่งทั้งล้มเลือกตั้ง-มุ่งสถาปนาการเมืองของคนดี ซึ่งเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย ทั้งในระยะสั้น-ในระยะยาว
อายุอันยืนยาวของ คสช. ที่ล่วงเลยมา 4 ปีแล้ว เป็นหนึ่งในผลลัพธ์ที่ชัดเจนถึงความเลอะเทอะของสุเทพ
ชีวประวัติ ยิ่งเขียนดี รื้อภาพเก่าได้ สร้างภาพใหม่ได้ ยิ่งสำเร็จมาก – ยิ่งดี
ยิ่งซ่อมแซมความชอบธรรมทางการเมืองที่สึกหรอไปได้มากเท่าไหร่ – ยิ่งดี
ยิ่งใช้ “ชีวประวัติใหม่” ทำลายศัตรูทางการเมืองได้มากเท่าไหร่ – ยิ่งดี
ชวนอ่านบทที่ 37 ของหนังสือชีวประวัติเล่มนี้ ว่าด้วย การเจรจาลับระหว่าง “สุเทพ – ยิ่งลักษณ์ – ผบ.เหล่าทัพ” ไปพร้อมกัน
การเจรจาลับครั้งนั้น เกิดขึ้นที่ “กรมทหารราบที่ 1” หลังจากการชุมนุมที่ถนนราชดำเนินผ่านไปสักระยะหนึ่ง เวลานั้นสุเทพปักหลักชุมนุมที่เวทีศูนย์ราชการ ค่ำคืนนั้นเป็นการเจรจาสองฝ่าย คือ แกนนำ กปปส.กับนายกรัฐมนตรีขณะนั้น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นการเจรจาต่อหน้า “ผู้บัญชาการสามเหล่าทัพ-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา-พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง และพลเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย”
สุเทพ เปิดประเด็นว่า – “พลเอกประยุทธ์ เป็นผู้เริ่มติดต่อประสานงานให้สุเทพไปพบกันยิ่งลักษณ์” โดยใช้เหตุผลว่า “อยากเห็นปัญหาบ้านเมืองคลี่คลายด้วยการเจรจา...โดย ผบ.ทั้งสามเหล่าทัพจะนั่งฟังเป็นสักขีพยาน”
สุเทพ เล่าถึง “บทสนทนา” หลายบทหลายตอน ในวงเจรจาวันนั้น แน่นอนว่า “ไม่อาจเชื่อได้ 100 ทั้ง 100” แต่ “ฟังไว้ไม่เสียหาย” แต่ต้องฟัง และต้องอ่าน โดยตั้งคำถามกับระหว่างบรรทัดของบันทึกลับนี้อยู่เป็นระยะ เช่น สุเทพเขียนเล่าบทสนทนาแบบนี้ ด้วยเหตุผลใด ? พยายามสร้างภาพให้ตัวเองเป็นคนอย่างไร และทำให้เห็นว่า นายกยิ่งลักษณ์ เป็นคนอย่างไร ? ไปจนถึงเห็นว่า ผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งหลาย คิดอย่างไรต่อปมขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น ?
สุเทพ – “ผมได้เริ่มต้นบอกกับคุณยิ่งลักษณ์ว่า รัฐบาลได้กระทำการที่ไม่ถูกต้อง ไม่เคารพหลักกฎหมาย ไม่ถูกหลักนิติธรรม ไม่ฟังเสียงประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการนำเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม เมื่อประชาชนมาชุมนุมคัดค้านก็ยังไม่ฟังเสียงของประชาชนอีก ประชาชนจึงไม่ต้องการให้คุณยิ่งลักษณ์บริหารประเทศต่อไป ขอให้คุณยิ่งลักษณ์ออกไปจากตำแหน่ง และจะมีการตั้งรัฐบาลคนกลางที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดขึ้นมาเป็นนายกฯ และคณะรัฐบาลคนกลางจะทำหน้าที่บริหารประเทศเพียงในระยะสั้นๆ เพื่อการปฏิรูปประเทศเท่านั้น”
นอกจากการเสนอข้อเรียกร้องเรื่อง “นายกคนกลาง” สุเทพยังเสนอว่าจะต้อง – “จัดให้มีสภาประชาชน ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อว่ารัฐบาลเฉพาะกิจนี้จะได้อาศัยสภานี้แก้ไขกฎหมายและกฎกติกาต่างๆ ให้เป็นไปตามแนวทางการปฏิรูปประเทศที่มวลมหาประชาชนได้กำหนดไว้”
สุเทพ เล่าด้วยว่า ระหว่างการเจรจา อดีตนายกหญิงได้ถามสุเทพกลับว่า – “คุณยิ่งลักษณ์ก็ได้ถามถึงหลักเกณฑ์และกฎหมายที่จะมารองรับว่า แล้วเธอจะออกจากตำแหน่งได้อย่างไร มีกฎหมายอะไรมารองรับ ออกไปแล้วคนที่มาใหม่จะทำได้อย่างไร”
ต่อคำถามนี้ สุเทพอธิบายว่า – “ผมได้ชี้แจงไปว่าประเด็นเหล่านั้น คุณยิ่งลักษณ์ไม่ต้องกังวล รัฐบาลที่จะตั้งขึ้นใหม่เขาจะทำอะไร ไม่ใช่เรื่องของคุณแล้ว ขอเพียงให้คุณยิ่งลักษณ์ออกไปจากตำแหน่ง ประชาชนก็ได้อำนาจคืนไปเป็นของประชาชนตามกฎหมาย
รัฐธรรมนูญมาตรา 3 ถือเป็นการทวงอำนาจอธิปไตยของประชาชนกลับคืนมา เพราะที่ผ่านมาประชาชนได้มอบอำนาจอธิปไตยให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไปแล้ว แต่กลับไม่ใช้อำนาจอธิปไตยตามเจตนารมณ์ของประชาชน การบริหารงานไม่เป็นไปตามที่ได้รับมอบหมาย และยังทรยศต่อประชาชนอีกต่างหาก การที่รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ตรากฎหมายนิรโทษกรรมโดยผิดหลักนิติธรรม ไม่เคารพหลักการแห่งกฎหมายที่ใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศกันโดยทั่วไป จึงไม่มีความชอบธรรมในทางกฎหมายอีกต่อไป และไม่มีความชอบธรรมทางการเมืองแล้วด้วย ถ้าคืนอำนาจกลับมาประชาชนก็จะได้ร่วมกันดำเนินการปฏิรูปประเทศซึ่งหลังจากนั้นคุณยิ่งลักษณ์ก็จะกลับมาสู่การเมืองก็สามารถกระทำได้”
สุเทพบรรยายว่า เมื่อนายกยิ่งลักษณ์ได้ฟังข้อเสนอ – “ยิ่งลักษณ์ยังคงแสดงสีหน้าตกใจเล็กน้อยและร้องถามย้ำว่า จะทำได้หรือ มีกฎหมายไหนมารองรับ” สุเทพย้ำว่า “สามารถกระทำได้โดยเฉพาะตามมาตรา 3 และมาตรา 7 แห่งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ที่เมื่อถึงช่วงเกิดสุญญากาศทางการเมือง ฝ่ายวุฒิสภาสามารถดำเนินการกราบบังคมทูลเสนอชื่อบุคคลขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และประธานวุฒิสภาเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการได้”
สุเทพ – “ในวันนั้นคุณยิ่งลักษณ์ไม่ได้ตอบอะไรมาก นอกจากบอกในที่สุดว่า ขอเวลาคิดดูก่อน แล้วถามว่าหลังจากการพบกันครั้งนี้จะมีการพบกันอีกหรือไม่ ซึ่งผมได้บอกไปว่า คุณจะคิดนานเท่าไหร่ก็ได้ แต่การพบครั้งนี้จะเป็นครั้งเดียว เพราะผมเองไม่ได้มาต่อรองอะไร แค่มาบอกถึงสถานการณ์และทางออกเท่านั้นว่า คุณยิ่งลักษณ์ไม่สามารถจะอยู่เป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกต่อไป"
สุเทพ ยังเล่าถึงท่าทีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งนั่งเป็นคนกลางในวันนั้นว่า – “ผบ.ทบ.ได้กล่าวด้วยน้ำเสียงราบเรียบว่า ในนามของผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งหลาย พวกผมทำตัวลำบากครับ เหมือนกับมีนายสองคน คนหนึ่งคือนายกรัฐมนตรี ที่ยังอ้างว่ายังเป็นนายกฯ ที่มีอำนาจอยู่ อีกคนเป็นตัวแทนประชาชน ที่ยืนยันว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนเพราะรัฐบาลหมดความชอบธรรมไปแล้ว ผมจึงไม่เข้าข้างใคร จุดยืนของผมอยู่ข้างประเทศไทย”
สุเทพปิดท้ายก่อนลุกออกจากวงว่า – [ในตอนท้าย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ร้องขอว่า ขอให้การพบปะกันครั้งนี้เป็นความลับ ไม่ต้องบอกใคร ซึ่งสุเทพปฏิเสธทันทีโดยโต้กลับไปว่า “ผมทำงานกับประชาชน ผมต้องเปิดเผย ผมจะไม่พูดคุยอะไรให้เสียหาย แต่จะพูดความจริงเท่านั้น” ]
ทั้งหมดนี้ คือ บทสัมภาษณ์แบบ “คำต่อคำ” จากปากของ “ลุงกำนันสุเทพ” ถึงการเจรจาลับกับ “นายกหญิง” โดยมี “กองทัพ” นั่งเป็นคนกลาง
เท่าที่อ่านตอนนี้ จะพบว่า “สุเทพ สู้สุดใจเพื่อรักษาธรรมาธิปไตย” โดยการเอาดีเข้าตัวเอง เอาชั่วใส่คนอื่นเป็นระยะในระหว่างบรรทัดของบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ โดยเฉพาะการอ้างว่า “รัฐบาลหมดความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศ” เป็นการพูดราวกับว่า “กปปส.” คือ “เสียงส่วนใหญ่ในประเทศ” ทั้งที่จริงในเวลานั้น ถ้า กปปส.ไม่ล้อม-ปิดคูหา เพื่อล้มเลือกตั้ง แล้วปล่อยให้การเลือกตั้งดำเนินต่อไป ผลการเลือกตั้งอาจตอกหน้าสุเทพเข้าให้ก็ได้ และการรัฐประหาร รวมถึงการปฏิรูปประเทศแบบทีเล่นทีจริง คงไม่เดินมาไกลถึงเพียงนี้
ที่กำนันสุเทพเล่า
จะจริงหรือไม่จริง – ต้องรอให้ “ยิ่งลักษณ์” เล่า
จะจริงหรือไม่จริง – ต้องรอให้ “ผู้บัญชาการเหล่าทัพ” เล่า
“เล่า” เพื่อตรวจสอบ “ปากคำลุงกำนันสุเทพ”
“เล่า” เพื่อค้นหาความจริงในวงเจรจา ถ้าบิดพลิ้วไปจากนี้ จะถือเป็นการ “ตระบัดสัตย์” ซ้ำอีกหน ของคน “ตระบัดสัตย์” มาแล้วหลายหน
ผู้ใหญ่ว่าไว้ “อย่าไว้ใจชีวประวัตินักการเมือง” ให้อ่านไปด้วย ตรวจสอบไปด้วย เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ชีวประวัติ เป็นหนึ่งในอาวุธสำคัญของสนามการโฆษณาชวนเชื่อ ที่ทุกแคมเปญการเลือกตั้ง ต้องสร้าง เพื่อชะล้าง “นักการเมือง หรือ ผู้นำทางการเมือง” ให้สะอาด!!