สภาพการจราจรติดขัดในกรุงเทพมหานครนับวันยิ่งหนักหนาสาหัสยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะมีโครงการรถคันแรกหรือไม่ก็ตาม หรือแม้แต่การมีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนมากหลายสายก็อาจจะไม่ทำให้สถานการณ์ความติดขัดบนถนนเปลี่ยนไปมากนัก ในเมื่อการจัดการกรจราจรและการขนส่งบนถนนถนนยังโกลาหลวุ่นวายไม่เปลี่ยนแปลง
งานศึกษาล่าสุดจากบริษัทอูเบอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครมีรถยนต์มากกว่า 5.8 ล้านคัน และต้องใช้พื้นที่จอดรถมากกว่า 8 สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อรองรับรถยนต์ทั้งหมด สาเหตุของรถติดเกิดจากเมื่ออยู่ในชั่วโมงเร่งด่วนจะมีรถออกมาบนท้องถนนมากถึง 1.6 เท่าของปริมาณรถที่ถนนรองรับได้
ชาวกรุงเทพจะใช้เวลาเฉลี่ยกับรถติดบนถนนวันละ 72 นาทีและเสียเวลาหาที่จอดรถ 24 นาที ทำให้แต่ละปีเสียเวลาไปถึง 24 วัน สอดคล้องกับงานวิจัยของบริษัทอนันดา ดีเวลลอปเมนท์ ที่ระบุว่า รถติดทำให้คนกรุงเสียเวลาอยู่บนท้องถนนประมาณปีละ 23 วัน แม้ว่าทางบริษัทอูเบอร์จะแนะนำให้ใช้การร่วมเดินทางด้วยรถคันเดียวกันเพื่อลดปัญหารถติดตามจุดประสงค์การค้าของบริษัท และบริษัทอนันดาจะเสนอการใช้ชีวิตตามคอนโดมิเนียมในแนวรถไฟฟ้า แต่ปัญหารถติดไม่ได้แก้ไขง่ายๆ เพียงเท่านั้น
สภาพทางกายภาพของท้องถนนและการจราจรก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รถติด ถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อ การก่อสร้างทาง อุโมงค์ สะพานและขุดท่อที่ล่าช้า การจัดช่องทางการจราจรที่วกวนเบี่ยงไปมา การเปิดสัญญาณจราจรที่ไม่สอดคล้องกับสภาวะรถยนต์ การขายของกีดขวางทางจราจรและรุกล้ำแนวเขต การจอดรถริมถนนจนถึงมารยาทการใช้รถใช้ถนนของผู้ขับขี่ หรือแม้แต่ขบวนแห่ ขบวนงานกิจกรรมต่างๆ ที่ปิดถนนแล้วไม่ได้แจ้งหรือวางแผนไว้ล่วงหน้า ผสานรวมเป็นปัจจัยที่ทำให้การจราจรของกรุงเทพมหานครติดแน่นแทบทุกวัน แม้กระทั่งบริเวณที่มีรถไฟฟ้าผ่านก็ตามที ยังไม่รวมถึงอุบัติเหตุที่เมื่อเกิดแล้วสร้างความติดขัดและปัญหาจราจรในทันที และสภาพธรรมชาติอย่างน้ำท่วมขังที่เปลี่ยนการจราจรให้เป็นจลาจลในทุกครั้งที่ฝนตกหนัก
ปัจจัยอย่างเดียวกันนี้เริ่มพบตามหัวเมืองต่างจังหวัดใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็น เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น แล้วเช่นกันในระดับที่น้อยกว่า เมื่อถึงชั่วโมงเร่งด่วน ปริมาณรถที่มากเกินกว่าระดับของพื้นผิวถนนจะรับได้ออกมาขับขี่ก็ทำให้เกิดการติดแน่น จนมีชื่อล้อเลียนในการเช็คอินบนเฟซบุ๊คยามรถติด ทั้งแยกรินคำ แยกมายา ไม่ต่างจากแยกแครายหรือมไหศวรรย์ของชาวกรุงเทพ
จะเห็นได้ว่าปัจจัยที่ทำให้รถติดนั้นเหมือนกันไม่ว่าจะเป็นเมืองไหนในโลก การแก้ไขปัญหารถติดจึงไม่ใช่เพียงแค่การเปลี่ยนแปลงตัวเองให้พ้นจากสภาพรถติดนั้นๆ โดยการหนีไปอยู่ในที่ๆ รถไม่ติด เพราะเมื่อคนหนีไปที่อื่นสุดท้ายที่อื่นนั้นก็เกิดภาวะรถติดขึ้นมาแทนอีกเหมือนเดิม แต่ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งเมืองให้เอื้อต่อการมีชีวิตและเดินทางได้โดยสะดวกไม่ต้องใช้รถยนต์ของตนเอง และลดความแออัดขัดข้องของการสัญจรบนท้องถนนให้สะดวกรวดเร็วที่สุดทั้งในเชิงกายภาพและในทางการใช้รถใช้ถนนของผู้คน
การเปลี่ยนแปลงนอกจากจะเริ่มที่ตัวเอง เช่นการลดการใช้รถ มาใช้ขนส่งมวลชนแล้ว ยังจำเป็นต้องส่งเสียงออกสู่ผู้มีอำนาจรับผิดชอบในการจัดการและพัฒนาเมือง มีส่วนร่วมกับการวางแผนระบบต่างๆ ผ่านการเมืองในท้องถิ่นและชุมชนของตนเอง
ตัวอย่างล่าสุดที่เห็นได้อย่างชัดเจนในขนาดเล็ก คือการจัดการที่จอดรถในหมู่บ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานของการจราจรมีจำกัด และจำเป็นต้องใช้มติร่วมของกรรมการนิติบุคคลในการบังคับใช้ หากคนในหมู่บ้านจัดสรรหรือคอนโดมิเนียมไม่ร่วมมือกันวางแผนแก้ไข เสียค่าส่วนกลางให้ถูกต้อง และปรับพฤติกรรมการใช้รถของตนเอง แม้แต่การจราจรเล็กๆ ในหมู่บ้านและคอนโดยังแก้ไม่ได้ ก็เป็นการยากที่จะแก้ไขในระดับเมือง
เมืองต่างจังหวัดสามารถอาศัยประสบการณ์ความย่ำแย่ของกรุงเทพมหานครเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพจราจรของเมืองได้ก่อนที่จะเกิดวิกฤตรุนแรง ดังที่ภูเก็ต เชียงใหม่ และขอนแก่น พยายามพัฒนาระบบขนส่งมวลชนรางเบาและรถเมล์ไฟฟ้าของตัวเอง แต่จะสำเร็จหรือไม่นั้น อยู่ที่ความร่วมมือของคนในท้องถิ่นส่วนหนึ่ง
และที่สำคัญที่สุดคือ ราชการส่วนกลางต้องไม่เข้าไปขัดขวางจนทำให้ล่าช้าหรือเสียหายไม่คุ้มค่าไป ซึ่งหากประสบความสำเร็จ เมืองต่างจังหวัดเหล่านี้จะกลับมาเป็นต้นแบบในการปรับเปลี่ยนเมืองของกรุงเทพมหานครได้ในที่สุด
อ่านต่อ:
อนาคตอยู่นอกกรุงเทพ: ปลดล็อคขนส่งมวลชน ภูธรจะก้าวหน้ากว่านครหลวง